พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ 4: โฟกัสชัดลึก
โฟกัสชัดลึกซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดอยู่ในระยะโฟกัสเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้กันบ่อยในการถ่ายภาพทิวทัศน์และการถ่ายภาพสตรีท ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับ 4 ปัจจัยที่ส่งผลต่อโฟกัสชัดลึก ซึ่งคุณอาจลองใช้เทคนิคนี้ในการถ่ายภาพครั้งต่อไป (เรื่องโดย Tomoko Suzuki)
4 ปัจจัยที่ช่วยให้ได้โฟกัสชัดลึกอย่างง่ายดาย
4 ปัจจัยที่ช่วยให้ได้โฟกัสชัดลึกอย่างง่ายดาย
1. เลือกเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้น
2. ใช้รูรับแสงแคบ (ค่า f สูง)
3. ขยับกล้องให้ห่างจากตัวแบบมากขึ้น
4. เลือกมุม/ตัวแบบที่แสดงความลึกน้อยกว่า
“โฟกัสชัดลึก” หมายถึงสถานะที่องค์ประกอบทั้งหมดในภาพอยู่ในระยะโฟกัส คุณอาจเรียกเทคนิคนี้ว่าเป็นเทคนิคที่ตรงกันข้ามกับการสร้างโบเก้ก็ได้ โดยปัจจัยที่ทำให้ได้โฟกัสชัดลึกมีอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ ทางยาวโฟกัส รูรับแสง ความลึก และระยะการถ่ายภาพ เมื่อคุณถ่ายภาพ สิ่งสำคัญคือไม่เพียงต้องเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับ“ระยะชัดลึก” (พื้นที่ของภาพที่อยู่ในระยะโฟกัส) เท่านั้น แต่ยังต้องควบคุมปัจจัยทั้ง 4 ประการนี้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ปัจจัยทั้ง 4 ประการ ได้แก่
ทางยาวโฟกัส: ระยะชัดลึกจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้ทางยาวโฟกัสสั้น และจะตื้นขึ้นเมื่อใช้ทางยาวโฟกัสยาวขึ้น
รูรับแสง: ระยะชัดลึกจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงที่แคบลง และตื้นขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงที่เปิดกว้างมากขึ้น
ความลึก: หมายถึงระยะห่างระหว่างองค์ประกอบในส่วนโฟร์กราวด์ กึ่งกลางภาพ และในแบ็คกราวด์ ยิ่งภาพถ่ายดูแบนมากเท่าใด (ระยะห่างระหว่างองค์ประกอบน้อยลง) ยิ่งทำให้ได้โฟกัสชัดลึกง่ายขึ้น และหากภาพมีความลึกมากขึ้น ยิ่งทำให้ได้โฟกัสชัดลึกยากขึ้น
ระยะการถ่ายภาพ: ยิ่งกล้องอยู่ห่างจากตัวแบบมากเท่าใด ระยะชัดลึกจะกว้างขึ้น ยิ่งกล้องอยู่ใกล้ตัวแบบมากเท่าใด ระยะชัดลึกจะตื้นขึ้น
อีกนัยหนึ่งคือ วิธีที่ง่ายที่สุดซึ่งจะทำให้ได้โฟกัสชัดลึกคือ การใช้เลนส์มุมกว้าง ตั้งค่าให้รูรับแสงแคบสุด ตั้งกล้องให้ห่างจากตัวแบบมากที่สุด และตรวจสอบจนแน่ใจว่าภาพของคุณมีความลึกน้อยมาก
เคล็ดลับสำหรับโฟกัสชัดลึก: การใช้รูรับแสงที่แคบจะทำให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลง ซึ่งทำให้ภาพที่ถ่ายในที่มืดหรือสลัวมีแนวโน้มเกิดปัญหากล้องสั่นได้ ในการจัดการกับปัญหานี้ จึงควรใช้โหมด ISO อัตโนมัติ
เราลองมาดูรายละเอียดของแต่ละปัจจัยที่ส่งผลต่อโฟกัสชัดลึกกัน
ทางยาวโฟกัส
ตัวอย่างด้านล่างนี้ถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสต่างกัน แต่ใช้ค่า f เท่ากัน (f/11) และมีการปรับระยะการถ่ายภาพเพื่อให้เสาดูมีขนาดเท่ากัน เมื่อใช้ทางยาวโฟกัสสั้นลง (24 มม.) ระยะชัดลึกจะเพิ่มมากขึ้น และองค์ประกอบในส่วนแบ็คกราวด์อยู่ในโฟกัส ในขณะที่การใช้ทางยาวโฟกัสยาวขึ้น (70 มม.) ระยะชัดลึกจะแคบขึ้น สังเกตว่าแม้จะใช้ค่า f/11 แต่อาคารเรียนในส่วนแบ็คกราวด์ยังหลุดโฟกัสอยู่ นี่แสดงให้เห็นถึงวิธีใช้เลนส์มุมกว้างซึ่งให้ทางยาวโฟกัสที่สั้นมาก จึงช่วยให้คุณได้โฟกัสชัดลึกง่ายขึ้น
ทางยาวโฟกัสสั้นลง (24 มม.)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/160 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
ทางยาวโฟกัสยาวขึ้น (70 มม.)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/100 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
รูรับแสง
ภาพด้านล่างถ่ายจากตำแหน่งเดียวกัน แต่ใช้รูรับแสงขนาดต่างกัน ภาพนี้ถ่ายโดยใช้รูรับแสงที่แคบกว่า (f/16) เพื่อให้ได้โฟกัสชัดลึก ภาพที่ได้จึงดูคมชัดจนถึงส่วนแบ็คกราวด์ ขณะที่อีกภาพหนึ่งที่ใช้รูรับแสงกว้างกว่า (f/1.4) ส่วนแบ็คกราวด์จะอยู่นอกโฟกัสมาก สำหรับภาพถ่ายดังเช่นภาพด้านล่าง ซึ่งมีระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวแบบน้อยแต่ภาพมีความลึกมาก การลดขนาดรูรับแสงลงเหลือ f/16 ช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพทั้งหมดให้อยู่ในระยะโฟกัสได้คมชัด
รูรับแสงแคบ (f/16)
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/80 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
รูรับแสงกว้าง (f/1.4)
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/8000 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
ความลึก
ความลึกในภาพไม่สมบูรณ์ คุณสามารถเพิ่มความลึกในภาพได้โดย การปรับองค์ประกอบภาพ สำหรับทั้งสองภาพด้านล่าง ฉันใช้รูรับแสงกว้างเท่ากัน (f/1.4) แต่ถ่ายภาพทางซ้ายจากทางด้านหน้า เพื่อสร้างภาพที่ดูค่อนข้างแบน (ไม่มีความลึก) ภาพอยู่ในโฟกัสทั้งหมดซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถได้โฟกัสชัดลึกโดยใช้รูรับแสงกว้างได้ ตราบใดที่ภาพค่อนข้างแบนและคุณถ่ายภาพนั้นจากด้านหน้าโดยตรง ส่วนภาพทางขวามือ ฉันใช้ การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุม เพื่อสร้างความลึก ให้สังเกตว่าส่วนของภาพซึ่งอยู่ใกล้กล้องมากที่สุดและไกลจากกล้องมากที่สุดจะอยู่นอกโฟกัส
หากต้องการดูตัวอย่างของโฟกัสชัดลึกและการใช้มุมกล้องในการถ่ายภาพท่องเที่ยว โปรดดูที่:
เคล็ดลับที่ไม่ควรพลาดจากมืออาชีพด้านการถ่ายภาพท่องเที่ยว
ไม่มีความลึก (ด้านหน้า)
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/40 วินาที)/ ISO 125/ WB: Manual
มีความลึก (องค์ประกอบภาพตามแนวเส้นทแยงมุม)
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/40 วินาที)/ ISO 125/ WB: Manual
ระยะการถ่ายภาพ
ภาพต่อไปนี้ถ่ายโดยใช้ค่ารูรับแสงเท่ากัน (f/5.6) แต่ถ่ายจากระยะที่ต่างกัน เมื่อกล้องอยู่ไกลจากตัวแบบมากขึ้น (ตัวอย่างภาพทางซ้าย 100 ซม.) ระยะชัดลึกจะกว้างขึ้น เมื่อกล้องอยู่ใกล้ตัวแบบมากขึ้น (ตัวอย่างภาพทางขวา 70 ซม.) ระยะชัดลึกจะตื้นขึ้น จากภาพทั้งสองภาพนี้ เราสรุปได้ว่าเมื่อถ่ายภาพระยะไกล เราไม่จำเป็นต้องใช้รูรับแสงที่แคบมากๆ เพื่อให้ได้โฟกัสชัดลึก ค่ารูรับแสงระหว่าง f/5.6 ถึง f/8 น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ภาพทั้งภาพอยู่ในโฟกัสได้
ไกลขึ้น (100 ซม.)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 27 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/200 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
ใกล้ขึ้น (70 ซม.)
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 27 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/250 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักเมื่อใช้เทคนิคโฟกัสชัดลึก
1. ทำความเข้าใจว่าระยะชัดลึกเป็นเรื่องของระนาบภาพ ไม่ใช่จุดโฟกัส
EOS 5D Mark III/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/2, 1/250 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Manual
ในตัวอย่างด้านบน ให้สังเกตว่าหมากรุกทั้งหมดที่วางในแนวนอน อยู่ในระยะโฟกัสที่คมชัด แต่หมากรุกที่วางในแนวตั้งนั้นอยู่นอกโฟกัสทั้งหมด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อธิบายง่ายๆ คือ กล้องจะประเมินวัตถุทั้งหมดที่อยู่ห่างจากกล้องในระยะที่เท่ากันว่าอยู่ในระนาบภาพเดียวกัน ตราบใดที่อยู่ในระยะชัดลึก ภาพทั้งหมดในระนาบภาพดังกล่าวจะอยู่ในโฟกัส เนื่องจากกล้องจะไม่แยกแยะความแตกต่างของจุดต่างๆ ที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ควรนึกถึงข้อนี้ขณะกำหนดค่ารูรับแสงและเมื่อพิจารณาว่าต้องการให้ภาพอยู่ในโฟกัสมากน้อยเพียงใด
2. การใช้ค่า f ที่สูงเกินไปอาจส่งผลให้คุณภาพของภาพถ่ายลดลง
ส่วนที่อยู่ในกรอบสีแดงเมื่อขยายใหญ่ขึ้น
EOS 5D Mark III/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (1/30 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: Manual
เราได้เรียนรู้ว่าโดยทั่วไปการใช้รูรับแสงที่แคบลง (ค่า f สูงขึ้น) จะเพิ่มระยะชัดลึก ซึ่งทำให้ภาพคมชัดยิ่งขึ้น แต่หากคุณใช้รูรับแสงแคบเกินไปอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางแสงที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์การกระจายแสง’ ได้ ปรากฏการณ์การกระจายแสงนี้ส่งผลให้ภาพดูคมชัดน้อยลง
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวอย่างภาพที่ใช้ค่า f/22 ซึ่งดูคมชัดน้อยกว่าตัวอย่างภาพที่ใช้ค่า f/8 ดังนั้น ควรนึกถึงปรากฏการณ์การกระจายแสงนี้ไว้เมื่อพิจารณาตั้งค่ารูรับแสงให้แคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ค่า f ที่สูงกว่า f/11 การตั้งค่าที่ดีที่สุดคือการตั้งค่าที่สมดุลทั้งการกระจายแสงและขนาดของระยะชัดลึก ซึ่งทำได้ด้วยค่า f/8 สำหรับตัวอย่างนี้
โฟกัสชัดลึกอาจช่วยให้คุณได้ภาพเช่นนี้!
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE(f/8, 1/400 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ทางยาวโฟกัสสั้นและรูรับแสงแคบช่วยให้ได้โฟกัสชัดลึก
ฉันใช้เทคนิคโฟกัสชัดลึกถ่ายภาพหัวเรือนี้ โดยมีท้องทะเลเป็นแบ็คกราวด์ สังเกตว่าภาพทั้งภาพอยู่ในโฟกัสตั้งแต่ส่วนโฟร์กราวด์จนถึงด้านหลัง การใช้ฝั่งมุมกว้างของเลนส์และทางยาวโฟกัสที่ให้ระยะชัดลึกที่กว้างทำให้ได้โฟกัสชัดลึกอย่างง่ายดาย
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!