เมื่อจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์สามารถสร้างความแตกต่างต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้ที่คาดว่าจะเป็นลูกค้าได้ ดังนั้น การเก็บรายละเอียดคุณลักษณะและสภาพภายนอกของสินค้าได้เหมือนจริงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญที่คุณควรรู้ก่อนจะลงมือถ่ายภาพได้แก่ ทางยาวโฟกัสและรูรับแสงของเลนส์ รวมถึงการใช้แสง ในบทความนี้ เราจะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการถ่ายภาพสินค้าให้ดูสวยงาม โดยใช้ภาพตัวอย่างที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS 750D คู่กับเลนส์ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM (เรื่องโดย: Teppei Kohno)
EOS 750D/ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่ากับ 88 มม.)/ Aperture-piority AE (f/11, 1/60 วินาที, EV+1.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ถ่ายทอดรูปทรงของสินค้าได้อย่างสมจริงด้วยการโฟกัสของทั้งชิ้นอย่างคมชัด
*ขั้นตอนการถ่ายภาพ
A: ใช้ทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ระยะกลาง
B: ปรับรูรับแสงให้แคบลง
C: ใช้แสงธรรมชาติที่ส่องผ่านม่านหน้าต่าง
เมื่อถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ ควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญ 3 ข้อ เพื่อที่จะเก็บภาพรูปทรงและรายละเอียดได้อย่างแม่นยำ ประการแรก ถ่ายภาพโดยใช้ทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ระยะกลาง หากคุณถ่ายภาพในระยะมุมกว้าง ภาพผลิตภัณฑ์ที่ได้จะดูบิดเบี้ยว และคุณจะไม่สามารถเก็บภาพรูปทรงได้อย่างแม่นยำ ให้ลองใช้ทางยาวโฟกัสที่เทเลโฟโต้ระยะกลางที่ประมาณ 80 ถึง 90 มม. (เทียบเท่ากับฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) ประการที่สอง ปรับค่ารูรับแสง เพื่อถ่ายทอดรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม จำเป็นต้องปรับรูรับแสงให้แคบลงถึงค่าประมาณ f/11 และโฟกัสไปที่ตัวผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ประการสุดท้าย ระวังเรื่องการใช้แสง หากคุณใช้แสงธรรมชาติที่ส่องผ่านม่านหน้าต่าง แสงที่อยู่โดยรอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะช่วยให้คุณเก็บภาพพื้นผิวได้อย่างเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับความเป็นจริง หลีกเลี่ยงการใช้แฟลชติดกล้องหากเป็นฉากมืดในที่ร่ม เนื่องจากจะทำให้เกิดเงาชัดเจนและส่งผลให้รายละเอียดของผลิตภัณฑ์ขาดความคมชัด
เคล็ดลับที่ 1: ใช้ทางยาวโฟกัสในเทเลโฟโต้ระยะกลางเพื่อถ่ายรูปทรงของสินค้าได้เหมือนจริง
หากต้องการเก็บภาพรูปทรงของผลิตภัณฑ์ได้อย่างสมจริง ให้ตั้งทางยาวโฟกัสที่เทเลโฟโต้ระยะกลาง แล้วลองถ่ายภาพจากตำแหน่งที่ห่างออกมาเล็กน้อย หากคุณถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ในระยะใกล้โดยใช้ระยะมุมกว้าง ขนาดด้านหน้าและหลังของผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้รูปทรงของผลิตภัณฑ์ดูแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด
ตัวอย่างที่ดี: ภาพถ่ายไม่บิดเบี้ยวเมื่อถ่ายที่เทเลโฟโต้ระยะกลาง
EOS 750D/ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่ากับ 88 มม.)/ Aperture-piority AE (f/11, 1/60 วินาที, EV+1.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ตัวอย่างที่ไม่ดี: ภาพถ่ายบิดเบี้ยวเมื่อถ่ายที่ระยะมุมกว้าง
EOS 750D/ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 24 มม. (เทียบเท่า 38 มม.)/ Aperture-priority AE (f/11, 1/60 วินาที, EV+1.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
หากถ่ายภาพที่เทเลโฟโต้ระยะกลางที่ 88 มม. (เทียบเท่ากับฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) และที่ระยะมุมกว้างที่ 38 มม. (เทียบเท่ากับฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) คุณจะเห็นว่ารูปทรงของผลิตภัณฑ์แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ตรงกันข้ามกับการถ่ายภาพที่ระยะมุมกว้าง ซึ่งภาพจะเกิดความบิดเบี้ยวอย่างชัดเจน หากถ่ายภาพที่เทเลโฟโต้ระยะกลาง ภาพจะมีความบิดเบี้ยวน้อยมาก จึงถ่ายทอดรูปทรงของผลิตภัณฑ์ออกมาได้อย่างถูกต้องสมจริง
เคล็ดลับที่ 2: ปรับรูรับแสงให้แคบลง และโฟกัสที่ตัวผลิตภัณฑ์ทั้งชิ้น
หากระยะที่ปรากฏในโฟกัสค่อนข้างแคบ เราจะถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้ไม่ชัดเจนนัก และคุณจะไม่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ได้ ทางที่ดีจึงควรปรับรูรับแสงให้แคบลงถึงค่า f/11 เพื่อถ่ายภาพ โปรดจำไว้ว่ายิ่งใช้ทางยาวโฟกัสยาวขึ้นเท่าใด ภาพจะมีระยะชัดตื้นขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ในการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งมักใช้ทางยาวโฟกัสในระยะเทเลโฟโต้อยู่บ่อยครั้ง อาจจำเป็นต้องปรับรูรับแสงให้แคบลงถึงค่า f/16 ในบางกรณี
ตัวอย่างที่ดี: ผลิตภัณฑ์ทั้งสองชิ้นอยู่ในโฟกัสเมื่อปรับรูรับแสงให้แคบลงถึงค่า f/16
EOS 750D/ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่ากับ 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/16, 1/15 วินาที, EV+1)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ตัวอย่างที่ไม่ดี: เฉพาะผลิตภัณฑ์ในส่วนโฟร์กราวด์เท่านั้นที่อยู่ในโฟกัสเมื่อใช้ค่ารูรับแสงที่ f/5.6
EOS 750D/ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่ากับ 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/125 วินาที, EV+1)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ในภาพนี้ ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกจัดวางอยู่หน้าผลิตภัณฑ์ชิ้นที่สอง เมื่อใช้ค่า f/5.6 ตัวอักษรที่อยู่บนขวดด้านหลังจะเบลอ หากคุณต้องการให้ผลิตภัณฑ์ทั้งด้านหน้าและหลังดูคมชัดในภาพ เราขอแนะนำให้ปรับรูรับแสงให้แคบถึงประมาณ f/16
เคล็ดลับที่ 3: ถ่ายโดยใช้แสงธรรมชาติที่ส่องผ่านหน้าต่าง
เราขอแนะนำให้ใช้แสงจากธรรมชาติที่ส่องผ่านหน้าต่างเป็นแหล่งกำเนิดแสง หากคุณมีผ้าม่านลูกไม้ แสงจะกระจายออก ซึ่งคุณจะสามารถถ่ายทอดพื้นผิวที่นุ่มนวลของผลิตภัณฑ์ได้
ตัวอย่างที่ดี: ถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติที่ส่องผ่านหน้าต่างเพื่อให้ได้ภาพที่มีพื้นผิวนุ่มนวล
EOS 750D/ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่ากับ 88 มม.)/ Aperture-priority AE (f/11, 1/30 วินาที, EV+1)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ตัวอย่างที่ไม่ดี: การถ่ายภาพโดยใช้แฟลชติดกล้องจะเพิ่มความแตกต่างให้เด่นชัดขึ้น
EOS 750D/ EF-S18-55mm f/3.5-5.6 IS STM/ FL: 55 มม. (เทียบเท่า 88 มม.)/ Manual exposure (f/11, 1/125 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อใช้แฟลชติดกล้องอาจทำให้เกิดเงาชัดเจนขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาพที่ได้ดูไม่เป็นธรรมชาติ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ถ่ายโดยใช้แสงจากธรรมชาติ แสงจะกระจายทั่วทั้งผลิตภัณฑ์อย่างทั่วถึง จึงถ่ายทอดลักษณะของพื้นผิวและรายละเอียดได้อย่างคมชัด
เทคนิคเพิ่มเติม
เตรียมขาตั้งกล้องและกระดาษเกลี่ยแสงไว้ให้พร้อมสำหรับถ่ายภาพผลิตภัณฑ์
ขาตั้งกล้องเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์สำหรับถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ เนื่องจากช่วยให้การถ่ายภาพในแนวนอนและแนวตั้งสะดวกง่ายดายขึ้น อีกทั้งคุณยังสามารถหลีกเลี่ยงปัญหากล้องสั่นแม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มความไวแสง ISO เมื่อถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงแคบ นอกจากนี้ หากคุณเตรียมกระดาษเกลี่ยแสงไว้เป็นแบ็คกราวด์ คุณจะได้ภาพสวยราวกับถ่ายในสตูดิโอ
ยึดกล้องเข้ากับขาตั้งกล้อง จากนั้นตรวจดูตัวแบบของคุณใน Live View พร้อมกับจัดองค์ประกอบภาพ เนื่องจากคุณสามารถแก้ไของค์ประกอบภาพได้ทันทีที่ตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงสามารถปรับแต่งการวางแนวหรือตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ได้
เมื่อใช้กระดาษเกลี่ยแสงหรือกระดาษที่คล้ายคลึงกันเป็นแบ็คกราวด์ คุณจะได้ภาพที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูโดดเด่นเตะตาราวกับถ่ายโดยช่างภาพมืออาชีพ
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยกล้อง EOS 750 โปรดดูที่บทความนี้:
รีวิวภาพถ่ายกล้อง EOS 760D และ EOS 750D
อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ได้ที่:
การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์อย่างง่าย: ดอกไม้และขนมหวาน
วิธีสร้างแบ็คกราวด์ภาพฟรุ้งฟริ้งด้วยวงกลมโบเก้สำหรับภาพถ่ายของตกแต่งชิ้นเล็กน่ารัก
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย