4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการถ่ายภาพวงกลมโบเก้ที่เข้าใจยาก!
ความฝันของช่างภาพมือใหม่ทุกคนคือการถ่ายภาพวงกลมโบเก้ (หรือที่เรียกว่า ลูกบอลโบเก้) ที่ส่องประกายระยิบระยับ ดูงดงาม แน่นอนว่ามีวิธีที่จะทำให้ภาพถ่ายของคุณดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น! หากต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพียงแค่ทำตาม 4 ขั้นตอนต่อไปนี้ (เรื่องโดย studio9)
ที่จริงแล้ว การสร้างวงกลมโบเก้ง่ายมากๆ!
การถ่ายภาพที่มีวงกลมโบเก้ เช่น ดอกคามิเลียที่มีแสงจากพระอาทิตย์ที่กำลังตกดินในภาพด้านบน ไม่ได้ยากอย่างที่คิด คุณไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ เป็นพิเศษ แค่เพียงใช้กล้อง DSLR หรือมิเรอร์เลสก็พอ
วงกลมโบเก้อยู่ในวงกลมสีแดงดังภาพ วงกลมโบเก้เหล่านี้ทำให้ภาพถ่ายดูเป็นประกายใช่ไหมล่ะ
ขั้นตอนที่ 1: มองหา 'จุดส่องประกาย'
ที่จริงแล้ว วงกลมโบเก้เกิดจากจุดแสง (แหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุด) ที่ส่องประกาย เมื่อใช้ระยะชัดตื้นในการเบลอ (ซึ่งก็คือ สร้างโบเก้จาก) จุดแสง จุดแสงเหล่านี้จะกลายเป็นวงกลม ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเริ่มมองหาบริเวณที่มีแสงส่องประกาย
จุดส่องประกายที่อยู่ใกล้ๆ ตัวคุณอาจเป็นแม่น้ำในวันที่มีแสงแดดจ้า หรือใบไม้ที่มีแสงอาทิตย์ส่องถึง ลองมองหาสิ่งที่สะท้อนแสงแดดและเกิดเป็นประกายระยิบระยับ
จุดที่สามารถถ่ายภาพได้
1. ผิวน้ำเป็นประกายระยิบระยับ
2. ใบไม้สะท้อนแสงอาทิตย์
ในวันที่มีแสงแดดจ้า มีจุดส่องประกายกำลังรอให้คุณค้นพบอยู่ทุกหนทุกแห่ง จึงควรสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัวคุณอย่างละเอียดถี่ถ้วน
เคล็ดลับ: ค้นหาจุดส่องประกายขณะที่หันหน้าเข้าหาพระอาทิตย์
โดยทั่วไปแล้ว จุดส่องประกายคือจุดที่สะท้อนแสงอาทิตย์ ซึ่งมักพบในบริเวณที่มีสภาพย้อนแสง จึงควรหันหน้าเข้าหาพระอาทิตย์เมื่อมองหาจุดดังกล่าว หากคุณหันหน้าหนีจากพระอาทิตย์ ก็อาจจะหาจุดส่องประกายได้ยาก
ขั้นตอนที่ 2: ตั้งค่า f ให้ต่ำที่สุด
เมื่อพบจุดส่องประกายแล้ว ก็เหลือเพียงแค่สร้างภาพเบลอเท่านั้น! ยิ่งสร้างภาพเบลอได้ใหญ่แค่ไหน วงกลมโบเก้ก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่านั้น
ในการสร้างภาพเบลอขนาดใหญ่ ให้ตั้งค่า f ให้ต่ำที่สุด เลือกโหมดถ่ายภาพ Aperture-priority AE เนื่องจากคุณจะต้องควบคุมค่ารูรับแสง
เคล็ดลับ: ยิ่งค่า f ต่ำ วงกลมโบเก้ก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายทั้งสองภาพนี้ถ่ายโดยใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 85 มม. เช่นเดียวกัน แต่สังเกตว่าค่า f ทำให้เกิดความแตกต่างเพียงใด!
ถ่ายที่ค่า f/4
ถ่ายที่ค่า f/8
วงกลมโบเก้มีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับการถ่ายภาพที่ค่า f/4
ขั้นตอนที่ 3: ใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นหากสามารถทำได้
การใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นจะช่วยให้วงกลมโบเก้มีขนาดใหญ่ขึ้น หากใช้เลนส์ซูม ให้ลองถ่ายภาพที่ระยะเทเลโฟโต้
ตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายด้านล่างแสดงให้เห็นว่าวงกลมโบเก้จะมีขนาดแตกต่างกันเพียงใดเมื่อใช้ทางยาวโฟกัส 105 มม. และ 50 มม. แม้ว่าจะถ่ายภาพโดยใช้ค่า f เท่ากันก็ตาม
ถ่ายที่ค่า f/4 โดยใช้ทางยาวโฟกัส 105 มม.
ถ่ายที่ค่า f/4 โดยใช้ทางยาวโฟกัส 50 มม. ในการถ่ายภาพนี้ ผมขยับเข้าไปใกล้ตัวแบบมากขึ้นเพื่อให้ดอกไม้ในโฟร์กราวด์มีขนาดเท่ากับการถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัส 105 มม.
จะเห็นได้ว่าแม้จะใช้ค่า f เท่ากัน แต่วงกลมโบเก้จะมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัส 105 มม.
หมายเหตุ: ยิ่งใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น ก็จะยิ่งมีพื้นที่ถ่ายภาพน้อยลงเนื่องจากมีมุมรับภาพแคบลง ควรค้นหาทางยาวโฟกัสที่เหมาะกับตัวแบบของคุณมากที่สุด
เคล็ดลับ: คำแนะนำเกี่ยวกับทางยาวโฟกัส
เราพบว่าการใช้ทางยาวโฟกัสที่อย่างน้อย 70 มม. บนกล้องฟูลเฟรม หรือ 50 มม. บนกล้อง APS-C จะทำให้วงกลมโบเก้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลองนำไปใช้งานกันดูนะครับ หากไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ก็ลองปรับค่าให้เหมาะสมได้
ขั้นตอนที่ 4: เลือกตัวแบบที่อยู่ใกล้เลนส์มากที่สุด
เคล็ดลับคือ คุณจะได้ภาพโบเก้ที่ดีที่สุดเมื่อมีสองตัวแปรนี้
- ตัวแบบ (ที่คุณโฟกัส) อยู่ใกล้เลนส์มากที่สุด และ
- จุดส่องประกาย (บริเวณ/สิ่งที่คุณต้องการเปลี่ยนให้เป็นวงกลมโบเก้) อยู่ห่างจากตัวแบบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ทางออกคือ เมื่อพบจุดส่องประกาย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าตัวแบบที่คุณต้องการโฟกัสอยู่ใกล้กล้องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คุณอาจต้องขยับเข้าไปใกล้ตัวแบบมากขึ้นเพื่อถ่ายภาพ
ตัวอย่าง
ในการสร้างวงกลมโบเก้จากจุดส่องประกาย (B) ตัวแบบที่คุณต้องการจับโฟกัสควรอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับกล้อง และค่อนข้างใกล้กับ (B) ด้วย สำหรับภาพถ่ายด้านบน จุดที่ควรโฟกัสคือดอกไม้ที่มีเครื่องหมาย (A)
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อโฟกัสไปที่ (A):
A: อยู่ใกล้เลนส์และอยู่ในโฟกัส
B: บริเวณที่ส่องประกายจะกลายเป็นวงกลมโบเก้ในภาพถ่าย
พุ่มไม้ริมถนนธรรมดาๆ ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นผลงานศิลปะขนาดย่อมแล้ว! ง่ายๆ แค่นี้เอง!
คำถามที่พบบ่อย: ควรทำอย่างไรหากไม่มีวัตถุใดๆ อยู่หน้าจุดส่องประกายให้จับโฟกัส
บางครั้งคุณอาจพบจุดส่องประกายขณะที่ออกไปข้างนอก แต่ไม่มีวัตถุใดๆ อยู่หน้าจุดส่องประกายให้คุณจับโฟกัส
ทางออกคือ ใช้การโฟกัสแบบแมนนวล (MF) เพื่อจงใจเปลี่ยนจุดโฟกัส
เปลี่ยนโหมดโฟกัสจาก AF (โฟกัสอัตโนมัติ) เป็น MF (โฟกัสแบบแมนนวล) (โปรดทราบว่าโหมดนี้ไม่ใช่โหมด M ในโหมดการถ่ายภาพ!) และหมุนวงแหวนโฟกัสบนเลนส์ด้วยตัวเอง
หมุนวงแหวนไปในทิศทางที่จะวางโฟกัสไว้ใกล้กล้องมากที่สุด (เช่น ตามเข็มนาฬิกาสำหรับเลนส์ Canon) หากคุณไม่แน่ใจว่าควรหมุนวงแหวนไปในทิศทางใด ลองมองผ่านช่องมองภาพหรือดูภาพ Live View บนหน้าจอ LCD ขณะที่หมุนวงแหวน เพื่อดูว่าทิศทางใดจะสามารถสร้างภาพเบลอที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้
ด้วยวิธีนี้ คุณจะสามารถถ่ายภาพที่ยอดเยี่ยมดังเช่นภาพด้านล่างได้
ยังจำผิวน้ำเป็นประกายระยิบระยับในขั้นตอนที่ 1 ได้ไหม และนี่เป็นภาพที่ได้เมื่อผมสร้างวงกลมโบเก้บนผิวน้ำ
เนื่องจากการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนมักจะขับเน้นจุดแสง คุณจึงสามารถนำวิธีการเดียวกันนี้ไปปรับใช้ได้เช่นกัน! เมื่อใช้ MF จนชำนาญแล้ว คุณก็จะสามารถสร้างวงกลมโบเก้กับตัวแบบต่างๆ ได้แทบทุกประเภท
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วยวงกลมโบเก้ที่นี่
วิธีสร้างแบ็คกราวด์ภาพฟรุ้งฟริ้งด้วยวงกลมโบเก้สำหรับภาพถ่ายของตกแต่งชิ้นเล็กน่ารัก
เทคนิคของเลนส์เทเลโฟโต้: การสร้างโบเก้ซ้อนกันหลายชั้น
การถ่ายภาพดอกไม้: วิธีสร้างวงกลมโบเก้ที่สว่างจ้าให้สวยแจ่มด้วยเลนส์มาโคร
เทคนิคการใช้แฟลช #6: วิธีสร้างวงกลมโบเก้ที่น่ามหัศจรรย์ในวันที่ฝนตก (ใช้แฟลชในตัวกล้อง)
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #20: ฉันจะถ่ายภาพดอกไม้ให้ดูเกินจริงได้อย่างไร
วิธีถ่ายภาพไฟประดับตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศชวนฝัน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย