ด้วยการใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพของเลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้ และการควบคุมขนาดของวงกลมโบเก้ คุณเองก็สามารถถ่ายภาพไฟประดับตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศชวนฝันได้เช่นกัน ในบทความนี้ ผมจะอธิบายถึงเทคนิคต่างๆ ที่ช่างภาพมืออาชีพใช้ถ่ายภาพดังกล่าว (เรื่องโดย: GOTO AKI)
EOS 5D Mark III/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 400 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/60 วินาที, EV-0.3)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
ผมต้องการให้ภาพของผมถ่ายทอดบรรยากาศที่มีแสงไฟสีน้ำเงินและสีขาวสว่างพร่างพราวไปทั่วทั้งจอภาพ แต่หากวงกลมโบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์มีขนาดใหญ่เกินไป แสงสว่างในส่วนแบ็คกราวด์จะดูไม่โดดเด่น ดังนั้น เมื่อถ่ายภาพควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าส่วนโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์มีความสมดุล
เทคนิคที่ 1: เพื่อให้แสงไฟในภาพดูหนาแน่นขึ้น ให้ใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพของเลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้
ยิ่งทางยาวโฟกัสของเลนส์เทเลโฟโต้ยาวมากเท่าใด คุณยิ่งสามารถดึงตัวแบบของคุณให้เข้ามาใกล้ได้มากขึ้นเท่านั้น หากคุณใช้เลนส์เทเลโฟโต้ 400 มม. เอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพที่เกิดจากทางยาวโฟกัสจะทำให้คุณรู้สึกราวกับว่าอยู่ใกล้กับทุกสิ่งทุกอย่างในจอภาพ เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นเอฟเฟ็กต์ภาพด้วยตาเปล่า ดังนั้น ควรมองผ่านช่องมองภาพเพื่อหาตำแหน่งที่แสงไฟจะกระจายตัวหนาแน่นไปทั่วทั้งหน้าจอก่อนลั่นชัตเตอร์
ในภาพนี้ ผมใช้เลนส์ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM เอฟเฟ็กต์ป้องกันการสั่นไหวประมาณ 4 สต็อปทำให้การถ่ายภาพแบบถือกล้องถ่ายเป็นเรื่องง่ายแม้แต่ในตอนกลางคืน และยังช่วยให้คุณสามารถค้นหามุมที่ต้องการได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ เลนส์ยังใช้เทคโนโลยีการเคลือบเลนส์แบบ ASC ใหม่ล่าสุดของ Canon ซึ่งช่วยลดการเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอกให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้คุณสามารถถ่ายภาพได้อย่างไร้กังวล แม้ในสภาวะที่มีแสงจากแหล่งกำเนิดแสงหลายแห่ง
EOS 5DS R/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/8.0, 1/6 วินาที, EV+0.7)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ทางยาวโฟกัสที่ 200 มม. ทำให้คุณไม่สามารถเติมไฟประดับตกแต่งให้เต็มจอภาพได้
ทางยาวโฟกัสที่ 200 มม. ซึ่งครอบคลุมในเลนส์ซูมเทเลโฟโต้มาตรฐาน จะลดเอฟเฟ็กต์การบีบภาพลง และเก็บองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นไว้ในภาพถ่าย
เทคนิคที่ 2: วงกลมโบเก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (1) – ใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุด
การเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้นจะทำให้วงกลมโบเก้มีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะที่การปรับรูรับแสงให้แคบลงจะทำให้วงกลมโบเก้มีขนาดเล็กลง ในภาพนี้ ผมใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุด (f/5.6) เพราะผมต้องการให้วงกลมโบเก้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับภาพถ่ายชวนฝัน คุณสามารถสร้างวงกลมโบเก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกได้หากใช้เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างสุดที่กว้างขึ้น เช่น f/2.8
ขนาดของวงกลมโบเก้สามารถเปลี่ยนได้ตามทางยาวโฟกัสเช่นกัน ดังนั้น ขนาดของรูรับแสงจึงไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญในการสร้างวงกลมโบเก้ให้มีขนาดใหญ่ หากคุณถ่ายภาพในสถานที่ที่เต็มไปด้วยไฟประดับตกแต่ง และต้องการสร้างภาพถ่ายที่ปกคลุมไปด้วยแสงไฟเป็นหลัก คุณสามารถใช้ค่ารูรับแสงตั้งแต่ f/8 จนถึง f/11 ได้ และสามารถใช้ประโยชน์จากวงกลมโบเก้ที่มีขนาดเล็กได้ด้วยเช่นเดียวกัน
โฟกัสที่ไฟประดับตกแต่งในส่วนแบ็คกราวด์
โฟกัสที่ไฟประดับตกแต่งที่อยู่ห่างจากกล้องมากที่สุด ผมกำหนดทางยาวโฟกัสที่ต้องการใช้ขณะมองผ่านช่องมองภาพ เพื่อตรวจสอบระดับของเอฟเฟ็กต์โบเก้ของไฟที่อยู่ใกล้กับผมมากที่สุด
เทคนิคที่ 3: วงกลมโบเก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (2) – ขยับเข้าใกล้แหล่งกำเนิดแสง
ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/5.6 อาจดูไม่กว้างพอสำหรับช่างภาพบางคน แต่คุณยังคงสามารถสร้างวงกลมโบเก้ขนาดใหญ่จากไฟประดับตกแต่งได้เช่นกัน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ระยะห่างระหว่างไฟกับกล้อง ในขณะที่คุณมองผ่านช่องมองภาพ ให้นำเลนส์ขยับเข้าใกล้แหล่งกำเนิดแสงให้มากที่สุด คุณจะสามารถเห็นได้ทันทีว่าคุณได้วงกลมโบเก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแม้จะใช้รูรับแสงเท่าเดิม จากนั้น ควบคุมขนาดของวงกลมโบเก้โดยปรับทั้งการตั้งค่ารูรับแสงและระยะการถ่ายภาพ
EOS 5DS R/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 400 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/15 วินาที, EV+1)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
คุณสามารถสร้างวงกลมโบเก้ขนาดใหญ่ได้โดยการขยับเข้าไปใกล้แหล่งกำเนิดแสง
หากคุณขยับเข้าใกล้แหล่งกำเนิดแสงพร้อมกับโฟกัสไปที่ส่วนแบ็คกราวด์ แหล่งกำเนิดแสงที่อยู่ใกล้คุณจะเปลี่ยนเป็นวงกลมโบเก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แม้ว่าทางยาวโฟกัสและรูรับแสงกว้างสุดอาจมีค่าจำกัดเนื่องจากเลนส์ที่คุณใช้ แต่คุณสามารถเอาชนะข้อจำกัดนี้ได้ด้วยการปรับระยะการถ่ายภาพ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเคล็ดลับในการสร้างวงกลมโบเก้ได้ที่:
4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการถ่ายภาพวงกลมโบเก้ที่หายาก
ส่วนใดที่ควรโฟกัสเพื่อให้ได้ภาพถ่ายวงกลมโบเก้ที่สวยงาม
เทคนิคของเลนส์เทเลโฟโต้: การสร้างโบเก้ซ้อนกันหลายชั้น
สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพไฟประดับตกแต่งอ่านได้ที่:
EOS M10 บทที่ 5: วิธีถ่ายภาพแสงไฟวันคริสมาสต์ที่ส่องประกาย
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดเมื่อปี 1972 ที่จังหวัดคานากาวะ จบการศึกษาจาก Sophia University และ Tokyo College of Photography Goto เผยแพร่ผลงานคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า "LAND ESCAPES" และยังมีส่วนร่วมในผลงานอื่นๆ อีก อาทิ "water silence" การแสดงผลงานศิลปะที่ผสานภาพถ่ายกับวิดีโอเข้าไว้ด้วยกัน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation