เทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง #3: ถ่ายภาพพอร์ตเทรตให้น่าประทับใจด้วย Daylight Sync
ในบทความแรก เราได้เรียนรู้ไปแล้วว่าการยิงแฟลชในเวลากลางวันช่วยในการถ่ายภาพได้อย่างไร นี่คือเทคนิคที่เรียกว่า “Daylight Sync” และประโยชน์หลักของเทคนิคนี้คือ ช่วยปรับสมดุลของแสงที่อยู่ในโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์เมื่อถ่ายภาพในสภาวะที่มีแสงธรรมชาติสว่างจ้า ในบทความนี้ เราจะเรียนรู้ใช้เทคนิคอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ให้น่าประทับใจเหมือนกับสปอตไลต์กำลังส่องไปที่ตัวแบบของคุณ (เรื่องโดย: Teppei Kohno)
FL: 18 มม. (เทียบเท่า 28 มม.)/ Manual exposure (f/11, 1/200 วินาที)/ ISO 100
การชดเชยปริมาณแสงแฟลช EV+2
ในภาพนี้ แบ็คกราวด์จะมืดกว่าตัวแบบ ทำให้ดูเหมือนนางแบบอยู่ภายใต้แสงสปอตไลต์ ส่วนที่ยากคือ การทำให้เอฟเฟ็กต์นี้เด่นชัดและในขณะเดียวกันต้องแน่ใจด้วยว่าความเปรียบต่างระหว่างแบ็คกราวด์กับตัวแบบไม่มากเกินไปและดูไม่เป็นธรรมชาติ
คำแนะนำแบบทีละขั้นตอน: วิธีสร้างเอฟเฟ็กต์
A: ใช้แนวทางต่อไปนี้ในการตั้งค่ากล้องเพื่อเปิดรับแสงสำหรับแบ็คกราวด์
- - โหมดตั้งค่าระดับแสง: Manual
- - ความไวแสง ISO: ต่ำ (ในภาพนี้เราใช้ ISO 100)
- - รูรับแสง: ค่อนข้างแคบ (ควรเริ่มต้นที่ f/8)
- - ความเร็วชัตเตอร์: ความเร็วซิงค์แฟลชของกล้อง (ปกติอยู่ที่ 1/200 วินาที)
B: ใช้ค่าชดเชยปริมาณแสงแฟลชเป็นบวกเพื่อทำให้ตัวแบบสว่างขึ้น ถ่ายภาพ
C: ตรวจดูภาพถ่ายและปรับค่าชดเชยปริมาณแสงแฟลชเท่าที่จำเป็น
D: หากคุณต้องการทำให้แบ็คกราวด์มืดลง ให้เพิ่มค่า f
ต่อไปนี้เราจะมาพูดถึงแนวคิดเบื้องหลังแต่ละขั้นตอนโดยละเอียด
แนวคิดที่ 1: ค่าการเปิดรับแสงพื้นฐานของกล้องเป็นตัวกำหนดความสว่างของแบ็คกราวด์
หากต้องการสร้างเอฟเฟ็กต์สปอตไลต์ ตัวแบบควรสว่างกว่าแบ็คกราวด์ เคล็ดลับข้อหนึ่งในการสร้างเอฟเฟ็กต์นี้คือ ทำให้แบ็คกราวด์ดูมืดลงเล็กน้อย ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้รูรับแสงที่แคบลงและความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น
การเพิ่มค่า f ยังช่วยในการเก็บรายละเอียดที่อยู่ในแบ็คกราวด์ ซึ่งทำให้ภาพมีเอฟเฟ็กต์ที่ดูเหนือจริงมากขึ้น
การใช้โหมดตั้งค่าระดับแสงด้วยตนเองช่วยให้คุณสามารถควบคุมทั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ได้
ยิ่งความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แบ็คกราวด์จะยิ่งสว่าง
FL: 18 มม. (เทียบเท่า 28 มม.)/ Manual exposure (f/8, 1/80 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ การชดเชยปริมาณแสงแฟลช: EV+2
ในภาพนี้ ความเร็วชัตเตอร์ต่ำทำให้แบ็คกราวด์สว่างขึ้นจนแทบจะเท่าตัวแบบ ซึ่งใช้ได้ผลสำหรับภาพธรรมดา แต่เราจะไม่ได้เอฟเฟ็กต์ที่ต้องการ
ยิ่งใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง (ความเร็วซิงค์แฟลช) แบ็คกราวด์จะยิ่งมืด
FL: 18 มม. (เทียบเท่า 28 มม.)/ Manual exposure (f/8, 1/200 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ การชดเชยปริมาณแสงแฟลช: EV+2
นอกจากความเร็วชัตเตอร์แล้ว ภาพนี้ถ่ายด้วยการตั้งค่าแบบเดียวกับภาพก่อนหน้าทุกอย่าง แต่แบ็คกราวด์ที่มืดกว่ากลับทำให้เห็นเอฟเฟ็กต์สปอตไลต์ได้ชัดเจนกว่า
ข้อควรรู้: ความเร็วซิงค์แฟลชคืออะไร
ความเร็วซิงค์แฟลช คือ ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่คุณสามารถใช้ได้กับแฟลช หากความเร็วชัตเตอร์สูงกว่านี้ กล้องจะไม่สามารถยิงแฟลชได้เร็วพอก่อนที่ม่านชัตเตอร์จะปิด ซึ่งจะส่งผลให้บางส่วนในภาพดูมืด หรือเกิดเป็นแถบสีเข้มในแนวนอนที่เรียกว่า แถบสี ความเร็วซิงค์แฟลชของกล้องส่วนใหญ่อยู่ที่ 1/200 วินาที
แนวคิดที่ 2: การชดเชยปริมาณแสงแฟลชควบคุมความสว่างของตัวแบบและ “สปอตไลต์”
แม้จะขึ้นอยู่กับระยะห่างจากตัวแบบ แต่คุณก็อาจต้องเพิ่มค่าการชดเชยปริมาณแสงแฟลชเพื่อให้ตัวแบบดูสว่างขึ้นและได้เอฟเฟ็กต์สปอตไลต์ที่สมบูรณ์ หากคุณรู้สึกว่าเอฟเฟ็กต์มีความสว่างมากเกินไป ให้ลดค่าการชดเชยปริมาณแสงแฟลช
คุณอาจจะต้องปรับความสว่างของแบ็คกราวด์/ตัวแบบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผลตามต้องการ
การชดเชยปริมาณแสงแฟลช EV±0: ตัวแบบมืดเกินไป
การเปิดรับแสงระหว่างแบ็คกราวด์กับตัวแบบแตกต่างกันเล็กน้อย ภาพทั้งภาพจึงดูมืด
การชดเชยปริมาณแสงแฟลช EV+2: เอฟเฟ็กต์สปอตไลต์สวยงาม
การชดเชยปริมาณแสงแฟลชที่เป็นค่าบวกสูงๆ จะเพิ่มความเปรียบต่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์ ทำให้เอฟเฟ็กต์สปอตไลต์เด่นชัดยิ่งขึ้น
เคล็ดลับ: ใช้ระยะมุมกว้างของเลนส์
ระยะมุมกว้างจะช่วยเพิ่มสัดส่วนของแบ็คกราวด์ที่มืดให้กับภาพ ซึ่งทำให้ส่วนที่ “ได้รับแสงสปอตไลต์” โดดเด่นยิ่งขึ้น และยังทำให้รู้สึกถึงความกว้างใหญ่และสร้างภาพถ่ายที่ดูมีชีวิตชีวา
ขอแสดงความยินดีด้วย! คุณเพิ่งถ่ายภาพพอร์ตเทรตกลางแจ้งที่ไม่เหมือนใครโดยใช้เพียงกล้อง เลนส์ และแฟลชติดกล้องเท่านั้น
ใช้แฟลช Speedlite เพื่อยกระดับภาพถ่ายไปอีกขั้น
แสงจากแฟลชเสริมไม่เพียงแต่จะส่องไปได้ไกลขึ้น และช่วยให้ถ่ายภาพได้จากระยะไกลขึ้นได้เท่านั้น แต่คุณยังสามารถยิงแฟลชนอกตัวกล้องเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่มีความสร้างสรรค์ในแบบต่างๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ แฟลชเสริมยังมีโหมดซิงค์ความเร็วสูง ซึ่งไม่มีกำหนดความเร็วชัตเตอร์สูงสุด คุณจึงสามารถใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้นได้เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้
ต่อไปนี้คือวิธีการที่ช่างภาพงานแต่งงานใช้เทคนิค Daylight Sync กับแฟลช Speedlite นอกตัวกล้องในการสร้างเงาที่น่าประทับใจ
2 เทคนิคจัดแสงด้วยไฟดวงเดียวง่ายๆ สำหรับภาพพอร์ตเทรตงานแต่งงานกลางวัน/กลางคืนที่สวยงาม
---
ในบทความถัดไป เราจะมาเรียนรู้วิธีการใช้เทคนิค Slow Sync ของแฟลชติดกล้องเพื่อถ่ายภาพพอร์ตเทรตหน้าพระอาทิตย์ตก
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย