การถ่ายภาพพอร์ตเทรตด้วย Slow Sync Flash
แม้ว่าระยะเวลาการยิงแสงแฟลชจะสั้นมาก เพียงไม่กี่ส่วนในพันต่อวินาที ทว่า Speedlite จาก Canon กลับสามารถให้แสงที่เพียงพอจะทำให้ตัวแบบสว่างขึ้น ดังนั้น เมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย ตัวแบบหรือวัตถุที่ได้รับแสงสว่างจากแฟลช Speedlite เท่านั้นที่จะมองเห็นได้ในภาพ ไม่ว่าชัตเตอร์กล้องจะเร็วสักแค่ไหน หลักการนี้เองที่อยู่เบื้องหลังเทคนิค Slow Sync Flash (เรื่องโดย: Koji Ueda)
หน้า: 1 2
การเบลอตัวแบบด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้าและแสงแฟลช
เมื่อใช้แสงแฟลชควบคู่กับความเร็วชัตเตอร์ช้า จะสามารถถ่ายทอดตัวแบบออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะ โดยทำให้ตัวแบบเบลอซ้อนทับกันด้วยท่วงท่าการเคลื่อนไหวในชั่วขณะ เคล็ดลับในการใช้ Slow Sync Flash ก็คือ การถ่ายภาพในที่ที่มีแสงล้อมรอบน้อยๆ เพื่อให้แบ็คกราวด์ไม่สว่างมากนักแม้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้า ให้นายแบบหรือนางแบบขยับตัวเพื่อสร้างการเคลื่อนไหวแบบสั่นเบลอ และเกิดภาพซ้อนทับกับภาพที่ถ่ายทันทีเมื่อยิงแฟลชออกไป นี่เป็นเทคนิคที่ให้ผลดีในการถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของตัวแบบ
EOS 600D/ EF17-40mm f/4L USM/ Shutter-priority AE (0.4 วินาที, f/20, -1EV)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ Speedlite 430EX II (E-TTL, การชดเชยแสง: -1.7EV)
เคล็ดลับ
- ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ เมื่อถ่ายภาพในสถานที่แสงน้อยในร่ม
- ยิงแฟลชเพื่อ “หยุด” การเคลื่อนไหวที่ฉับพลัน
สภาพการถ่าย
ภาพนี้ถ่ายในที่ร่ม วางกล้องห่างจากตัวแบบ 1.5 เมตร เพื่อให้ตัวแบบเบลอ ผมเลือก Shutter-priority AE และตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เป็น 0.4 วินาที ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง และยิงแฟลชไปที่ตัวแบบโดยตรง
ตำแหน่งของตัวแบบ กล้อง และแฟลช Speedlite
A: ประมาณ 1.5 เมตร
การถ่ายภาพพอร์ตเทรตและทิวทัศน์ยามค่ำคืนให้คมชัดทั้งคู่
คุณสามารถถ่ายพอร์ตเทรตในตอนกลางคืนให้ชัดได้โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าคู่กับแฟลช ความเร็วชัตเตอร์ช้าจะช่วยเพิ่มความสว่างให้กับแบ็คกราวด์ ขณะที่แสงแฟลชจะให้ความสว่างกับตัวแบบ เพื่อป้องกันปัญหากล้องสั่นในขณะถ่ายภาพแบบถือด้วยมือ ให้ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เทียบเท่ากับ “1/ทางยาวโฟกัส” วินาที ในตัวอย่างนี้ ผมเพิ่มความไวแสง ISO ขึ้นเป็น 3200 เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที ดังนั้นจะไม่เกิดปัญหาจากการสั่นไหวของกล้อง เมื่อผมคุกเข่าข้างหนึ่งเพื่อถ่ายภาพจากมุมต่ำ ผมวางกล้องบนเข่าอีกข้างหนึ่งที่ชันไว้เพื่อเป็นตัวช่วยอีกทางไม่ให้กล้องสั่นไหว และเพื่อให้มั่นใจว่ากล้องจับโฟกัสที่ตัวแบบได้แม่นยำ ผมลดขนาดรูรับแสงลงเหลือ f/4.5 โดยให้ความสำคัญกับระยะชัดลึกของภาพ
EOS 600D/ EF-S10-22mm f/3.5-4.5 USM/ Manual exposure (1/5 วินาที, f/4.5, -0.7EV)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ/ Speedlite 430EX II (E-TTL, การชดเชยปริมาณแสงแฟลช: -0.7EV)
เคล็ดลับ
- ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ เพื่อให้แบ็คกราวด์สว่าง
- ใช้แฟลช Speedlite เพื่อเพิ่มแสงให้กับตัวแบบ
- เพิ่มความไวแสง ISO เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่รวดเร็ว
สภาพการถ่าย
กล้องวางอยู่ห่างจากตัวแบบ 2 เมตรโดยมีทิวทัศน์ยามค่ำคืนของเมืองเป็นแบ็คกราวด์ ผมจัดวางให้เห็นวิวอาคารสูงจนถึงยอด โดยถือกล้องด้วยมือถ่ายจากมุมต่ำ แม้จะจำเป็นที่จะต้องลดขนาดรูรับแสงลงเพื่อสร้างภาพบรรยากาศกลางคืนที่สว่าง แต่การทำเช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาการสั่นไหวได้ ผมจึงยิงแฟลช Speedlite ไปที่ตัวแบบโดยตรง
ตำแหน่งของตัวแบบ กล้อง และแฟลช Speedlite
A: ประมาณ 2 เมตร
ขั้นตอนการใช้งาน Slow Sync Flash
1. เลือกความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ
ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไปที่ตัวเลขที่ช้า ในฉากที่มีแสงน้อย ความเร็วชัตเตอร์จะช้าลงไปเองเพื่อให้ได้ปริมาณแสงที่เพียงพอ แต่ในฉากที่สว่าง จำเป็นต้องลดขนาดรูรับแสงเพื่อลดความเร็วชัตเตอร์ แล้วจึงจะได้ปริมาณแสงที่เหมาะสม โหมด Tv หรือ M อาจเป็นประโยชน์ในกรณีนี้
2. วางกล้องให้มั่นคง
แม้จะเป็นเทคนิคเพื่อการเบลอตัวแบบ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงปัญหาจากกล้องสั่นไหวด้วย การป้องกันไม่ให้กล้องสั่นขณะถือกล้องทำได้ด้วยการจับกล้องให้มั่นคง หรือหากมีขาตั้งกล้อง จงใช้ให้เป็นประโยชน์ในทุกที่ที่ทำได้
3. เลือกระหว่างม่านชัตเตอร์ชุดแรกกับชุดที่สอง
เลือกการซิงค์ม่านชัตเตอร์ชุดแรกหรือชุดที่สองโดยกดปุ่ม “Shutter curtain synchronization” ที่ตัว Speedlite หากไม่มีปุ่มนี้ ให้เลือกโหมดการซิงค์โดยใช้เมนูการตั้งค่าบนกล้อง
4. กดปุ่มชัตเตอร์โดยระมัดระวังไม่ให้กล้องสั่น
กดปุ่มชัตเตอร์พร้อมกับคอยระมัดระวังไม่ให้กล้องสั่น ถ้าใช้ขาตั้งกล้อง แนะนำให้ใช้คุณสมบัติตั้งเวลาถ่ายภาพหรือกดชัตเตอร์ด้วยรีโมท
เกิดที่ฮิโรชิมาในปี 1982 Ueda เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยช่างภาพชื่อ Shinichi Hanawa จากนั้น เขาหันมาทำงานเป็นช่างภาพอิสระ และในปัจจุบันเขามีส่วนในงานถ่ายภาพหลากหลายประเภท ตั้งแต่นิตยสารไปจนถึงงานโฆษณา ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ถ่ายภาพในเมืองต่างๆ และภาพทิวทัศน์ขณะเดินทางไปทั่วโลก นอกจากนั้น เขายังเป็นนักเขียนและผู้บรรยายเรื่องการถ่ายภาพทั้งในห้องบรรยายและในเวิร์คช็อป