Speedlite 470EX-AI: สำรวจฟังก์ชั่นสะท้อนแสงแฟลช AI (AI Bounce) รุ่นแรกของโลก
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2018 Canon เปิดตัว Speedlite 470EX-AI แฟลช Speedlite ตัวแรกที่มีฟังก์ชั่นสะท้อนแสงแฟลช Auto Intelligent (AI) ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์และกำหนดมุมสะท้อนแฟลชที่เหมาะสมที่สุด ฟังก์ชั่นนี้จึงช่วยยกระดับประสบการณ์การถ่ายภาพด้วยแฟลชสะท้อนทั้งสำหรับผู้เริ่มถ่ายภาพด้วยแฟลชและผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ ในบทความนี้ มาดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพที่ใช้ประโยชน์จากโหมด AI.B full-auto และ AI.B semi-auto กัน (เรื่องโดย: Seigi Takakuwa / นางแบบ: Hitomi Otsuki (Oscar Promotion)
สะท้อนแสงแฟลช AI: ถ่ายภาพด้วยแฟลชสะท้อนอย่างง่ายดาย
Speedlite 470EX-AI ใหม่จาก Canon มีระบบอันล้ำสมัยที่ไม่เคยมีมาก่อนในรุ่นก่อนหน้านี้
เมื่อนำอุปกรณ์แฟลชเสริมแบบเดิมมาใช้ในการถ่ายภาพด้วยแฟลชสะท้อน กล้องจะกำหนดกำลังแสงแฟลชที่เหมาะสมที่สุดโดยใช้ระบบ Evaluative Through The Lens (E-TTL) แต่ต้องกำหนดมุมสะท้อนที่เหมาะสมที่สุดด้วยตนเอง โดยพิจารณาถึงระยะห่างของแฟลชจากตัวแบบกับความสูงของเพดาน
แต่ใน Speedlite 470EX-AI กระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้ฟังก์ชั่นสะท้อนแสงแฟลชอัจฉริยะอัตโนมัติ (AI) โดยอัตโนมัติ ฟังก์ชั่นนี้ขับเคลื่อนโดยการผสมผสานระหว่าง CPU ในตัว, เซนเซอร์ตรวจจับความเร่ง เซนเซอร์วัดระยะห่าง และมอเตอร์สำหรับการถ่ายภาพด้วยแฟลชสะท้อน โดยจะทำงานร่วมกันเพื่อค้นหาและกำหนดกำลังแสงแฟลชและมุมสะท้อนที่เหมาะสมที่สุด คุณสมบัติเหล่านี้อาจแสดงให้เห็นเป็นนัยถึงสิ่งที่คุณคาดหวังได้จากอุปกรณ์แฟลชในอนาคต
โหมดสะท้อนแสงแฟลช AI สองโหมด
ฟังก์ชั่นสะท้อนแสงแฟลช AI มีโหมดอัตโนมัติสองโหมด
ในโหมด AI.B full-auto กล้องจะควบคุมการตั้งค่าการถ่ายภาพด้วยแฟลชสะท้อน ทำให้ใช้งานง่ายแม้แต่สำหรับผู้ใช้งานมือใหม่ แสงที่ปล่อยออกมาจากแฟลชสามารถให้แสงสว่างแก่ตัวแบบได้อย่างเพียงพอและสวยงามแม้แต่หลังจากมีการสะท้อนและกระจายตัว ส่งผลให้ภาพที่ได้ดูเป็นธรรมชาติโดยไม่ทำให้เกิดเงาเด่นชัดในส่วนแบ็คกราวด์
ในโหมด AI.B semi-auto เราสามารถตั้งค่าแฟลช Speedlite ให้ "จดจำ" มุมสะท้อนและการวางแนวแฟลชที่ผู้ใช้กำหนดไว้ล่วงหน้าด้วยตัวเอง หากผู้ใช้เคลื่อนกล้องจากแนวตั้งเป็นแนวนอนหรือในทางกลับกัน แฟลช Speedlite จะปรับมุมสะท้อนและแนวแฟลชโดยอัตโนมัติ เพื่อให้มุมกับผิวของแฟลชเหมือนกับการตั้งค่าที่จัดเก็บไว้ ผู้ใช้จึงสามารถถ่ายภาพได้อย่างลื่นไหล โดยไม่ต้องปรับมุมสะท้อนแฟลชเองอยู่บ่อยๆ
เคล็ดลับมีประโยชน์ที่ควรจดจำ: โหมด AI.B full-auto ช่วยให้สะท้อนแฟลชจากเพดานได้ง่าย ส่วนโหมด AI.B semi-auto สามารถใช้สะท้อนแฟลชจากกำแพงได้ง่าย
ในบทความนี้ เราจะทำการทดสอบแฟลช Speedlite 470EX-AI โดยใช้ทางยาวโฟกัส ระยะการถ่ายภาพ และการวางแนวกล้องที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เพียงทำให้เราเห็นวิธีทำงานของฟังก์ชั่นสะท้อนแสงแฟลช AI ด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าแฟลชทำให้ตัวแบบสว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ต่อจากนั้น ผมจะแบ่งปันเทคนิคที่คุณสามารถใช้งานกับแต่ละโหมดได้
EOS 5D Mark IV/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 44mm/ Manual exposure (f/2.8, 1/200 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
แม้ว่าผมพยายามใช้แสงธรรมชาติที่ส่องผ่านหน้าต่างให้คุ้มค่าที่สุด แต่ฉากมีแสงย้อนจากด้านหลังเล็กน้อยจึงทำให้ใบหน้าของนางแบบดูคล้ำขึ้น เพื่อให้แสงไฟกระจายอย่างทั่วถึง ผมจึงใช้โหมด AI.B full-auto ในแฟลช Speedlite 470EX-AI เพื่อสะท้อนแฟลชจากเพดาน ผลที่ได้คือภาพถ่ายที่ดูเป็นธรรมชาติดังที่คุณเห็นด้านบน
การทดสอบฟังก์ชั่นสะท้อนแสงแฟลช AI: การเคลื่อนที่ของหัวแฟลชและการรับแสงเปลี่ยนไปอย่างไร
ทางยาวโฟกัส การวางแนวตั้ง/แนวนอน ระยะการถ่ายภาพ และระยะห่างจากแบ็คกราวด์มีผลต่อฟังก์ชั่นสะท้อนแสงแฟลช AI และเอฟเฟ็กต์ที่ได้หรือไม่ เพื่อค้นหาคำตอบ ผมจึงตัดสินใจทดสอบความสามารถของฟังก์ชั่นสะท้อนแสงแฟลช AI
การทดสอบที่ 1: การเปลี่ยนทางยาวโฟกัสขณะใช้โหมด AI.B full-auto
แนวคิดสำคัญ
ในการถ่ายภาพโดยใช้แฟลชแบบเดิม มุมมองที่ครอบคลุม (มุมแฟลช/ระยะครอบคลุมของแสงแฟลช) ที่ดีที่สุดจะขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัส (มุมรับภาพ)
ยิ่งมุมแฟลชแคบลงเท่าใด แสงแฟลชยิ่งส่องไปถึงมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อเราถ่ายภาพมุมกว้าง ระยะครอบคลุมของแสงแฟลชต้องกว้างพอที่จะครอบคลุมมุมรับภาพทั้งหมด ขณะที่การถ่ายภาพเทเลโฟโต้ ระยะครอบคลุมของแสงแฟลชต้องส่องไปถึงตัวแบบได้
แนวคิดนี้ส่งผลต่อแฟลชสะท้อนและฟังก์ชั่น AI.B full-auto อย่างไรบ้าง ในการทดสอบที่ 1 เราถ่ายภาพโดยใช้ทางยาวโฟกัสต่างกันและสังเกตผลลัพธ์ที่ได้
สภาพการถ่าย
โหมด: โหมด AI.B full-auto
กำหนดค่าอะไรบ้าง:
- ตำแหน่งของตัวแบบ
- ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์
- ระยะห่างจากกล้องถึงเพดาน
- การตั้งค่ากล้อง
เปลี่ยนอะไรบ้าง:
- ทางยาวโฟกัส (ภาพถ่าย 1 ภาพที่ระยะมุมกว้าง 24 มม. อีกหนึ่งภาพที่ระยะเทเลโฟโต้ 200 มม.)
- ตำแหน่งถ่ายภาพ เพื่อให้องค์ประกอบภาพสอดคล้องกันมากที่สุดเพื่อเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น
(หมายเหตุ: แม้ว่าตัวแบบยังคงมีขนาดเท่าเดิมทั้งสองภาพ ลักษณะเฉพาะของเลนส์มุมกว้างและ ลักษณะเฉพาะของเลนส์เทเลโฟโต้ทำให้มุมรับภาพที่ได้แตกต่างกัน ดังที่คุณเห็นจากแบ็คกราวด์)
ผลลัพธ์และคำอธิบาย
เพื่อให้องค์ประกอบภาพสอดคล้องกัน ผมจำเป็นต้องเปลี่ยนระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวแบบ (นั่นคือ ตำแหน่งกล้อง) สำหรับทางยาวโฟกัสแต่ละระยะ ดังนั้น ระยะห่างระหว่างกล้องกับแบ็คกราวด์จึงเปลี่ยนไปด้วย อย่างไรก็ดี การทดสอบนี้ต่างจากการทดสอบที่ 3 ที่ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์ยังคงเดิม
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าในโหมด AI.B full-auto มีการกำหนดมุมแฟลชไว้ที่ 50 มม. ฉากทั้งหมดจะสว่างได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าเราปรับเทียบมุมสะท้อนแฟลชได้ดีเพียงใดเท่านั้นเอง
ตัวอย่างที่ใช้ทางยาวโฟกัส 24 มม. (มุมกว้าง): ระยะห่างของตัวแบบ-แฟลชที่สั้นทำให้ตั้งค่ามุมสะท้อนแฟลชได้ง่าย ซึ่งแสงที่สะท้อนจากพื้นผิวจะสว่างจ้ามาก ภาพที่ได้จึงสว่างเกินไป
อย่างไรก็ดี AI.B full-auto ตั้งมุมของหัวแฟลชให้ยิงแสงแฟลชไปที่เพดานที่มุมด้านหลังช่างภาพ จึงดูเหมือนกระจายแสงได้มากพอที่จะมั่นใจได้ว่าปริมาณแสงที่เพียงพอจะไปถึงตัวแบบและแบ็คกราวด์
มีเงาบางส่วนทอดมาที่บริเวณด้านหน้าตัวแบบ เงาเหล่านี้เกิดจากมุมที่แสงสะท้อนจากเพดาน จึงทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น
ตัวอย่างที่ใช้ทางยาวโฟกัส 200 มม. (เทเลโฟโต้): แม้มีระยะห่าง 6 ม. ระหว่างแฟลชกับตัวแบบ มุมสะท้อนที่ AI.B ตั้งไว้จะช่วยทำให้แน่ใจว่าตัวแบบและแบ็คกราวด์มีแสงสว่างเพียงพอ และแสงมีความนุ่มนวลและสม่ำเสมอ
มุมสะท้อนที่ AI.B full-auto ตั้งไว้ส่งผลให้แสงบนตัวแบบและแบ็คกราวด์ในภาพทั้งสองภาพเป็นธรรมชาติและสม่ำเสมอ แม้ว่าภาพสุดท้ายจะดูแตกต่างไป แต่ก็เป็นภาพที่ดูเป็นธรรมชาติซึ่งเกิดจากแสงสะท้อนจากเพดานในมุมที่หลากหลาย เมื่อถ่ายภาพจากระยะใกล้ เช่น ในตัวอย่างที่ระยะ 24 มม. เพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์แบบเดียวกันกับตัวอย่างที่ระยะ 200 มม. คุณอาจต้องใช้อะแดปเตอร์สะท้อนแสงแฟลชเพื่อกระจายแสงเพิ่มเติม (ดูเคล็ดลับที่ 4 ใน 5 เคล็ดลับง่ายๆ สำหรับการถ่ายภาพด้วยแฟลชสะท้อน)
เลนส์ 24 มม., ระยะการถ่ายภาพ 0.9 ม.
เงาที่ด้านหน้าดูเด่นชัดขึ้นเล็กน้อย ทำให้ตัวแบบดูมีมิติมากขึ้น
เลนส์ 200 มม., ระยะการถ่ายภาพ 6 ม.
แสงส่องกระทบตัวแบบอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่นุ่มนวลขึ้นเมื่อเทียบกับตัวอย่างที่ใช้เลนส์ 24 มม.
A: การวางแนวหัวแฟลช
B: ระยะการถ่ายภาพ (0.9 ม.)
A: การวางแนวหัวแฟลช
B: ระยะการถ่ายภาพ (6 ม.)
การทดสอบที่ 2: เปลี่ยนเป็นการถ่ายภาพแนวตั้ง/แนวนอนขณะใช้งานโหมด AI.B semi-auto
แนวคิดสำคัญ
เราสามารถตั้งให้โหมด AI.B semi-auto จดจำมุมสะท้อนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้ เมื่อคุณเปลี่ยนตำแหน่งกล้อง เช่น เปลี่ยนการวางแนว จำเป็นต้องเปลี่ยนการวางแนวหัวแฟลชด้วย เพื่อให้ได้มุมสะท้อนเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้
การทดสอบที่ 2 มีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบการตอบสนองของแฟลช Speedlite 470EX-AI ในโหมดนี้และผลลัพธ์ที่ได้รับ
สภาพการถ่าย
โหมด: โหมด AI.B semi-auto ซึ่งใช้มุมสะท้อนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อสะท้อนแสงจากผนัง
กำหนดค่าอะไรบ้าง:
- ระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวแบบ
- ตำแหน่งของตัวแบบ
เปลี่ยนอะไรบ้าง:
การวางแนวกล้อง
รายละเอียดอื่นๆ:
สถานที่ถ่ายภาพคือสตูดิโอที่บ้าน ซึ่งมีแสงตามธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาจากทั้งสองด้าน และมีการจัดวางตัวแบบให้รับแสงธรรมชาติจากทั้งสองด้าน
ผลลัพธ์และคำอธิบาย
ในการถ่ายภาพทั้งแนวตั้งและแนวนอน มุมจะถูกกำหนดโดยอัตโนมัติ การสะท้อนแสงแฟลชจากผนังจะกระจายแสงจากแฟลชและให้แสงที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ภาพถ่ายมีความสว่างที่เป็นธรรมชาติ เราจึงไม่พบความแตกต่างในด้านแสงระหว่างภาพสองภาพนี้มากนัก
เนื่องจากติดตั้งแฟลชเข้ากับตัวกล้อง ตำแหน่งของหัวแฟลชจึงเปลี่ยนไปเมื่อแนวการถือกล้องเปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี ในแง่ของผลลัพธ์การถ่ายภาพ ความแตกต่างมีน้อยมาก
ถ่ายภาพในแนวนอน
A: การวางแนวแฟลช
ถ่ายภาพในแนวตั้ง
A: การวางแนวหัวแฟลช
การทดสอบที่ 3: การเปลี่ยนระยะการถ่ายภาพและระยะห่างของแบ็คกราวด์ในโหมด AI.B full-auto
แนวคิดสำคัญ
ในโหมด AI.B full-auto จะมีการพิจารณาระยะห่างระหว่างแฟลชกับตัวแบบเมื่อแฟลชกำหนดมุมสะท้อนที่เหมาะสมที่สุด การทดสอบที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของฟังก์ชั่นเมื่อระยะห่างระหว่างตัวแบบ-แฟลชเปลี่ยนไป
สภาพการถ่าย
โหมด: โหมด AI.B full-auto
กำหนดค่าอะไรบ้าง:
- ตำแหน่งของกล้อง
- การตั้งค่ากล้อง
- ทางยาวโฟกัส
เปลี่ยนอะไรบ้าง:
- ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับกล้อง
- ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแบ็คกราวด์
รายละเอียดอื่นๆ:
- ถ่ายภาพ 4 ภาพโดยให้ตัวแบบเคลื่อนที่เข้าหากล้อง
ผลลัพธ์และคำอธิบาย
แสงธรรมชาติจากด้านข้างทำให้ความสว่างของแบ็คกราวด์แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี เราได้นำการตั้งค่าที่เหมาะสมที่สุดมาใช้กับระยะถ่ายภาพแต่ละระยะ และถ่ายภาพโดยใช้การกระจายแสงเพื่อเพิ่มความสว่างให้กับตัวแบบหลักอย่างสวยงาม
เนื่องจาก Speedlite ตั้งค่ากำลังแสงแฟลชและมุมสะท้อนตามระยะห่างจากตัวแบบ ดังนั้น ในแต่ละครั้งกำลังแสงและมุมสะท้อนที่ได้นั้นเพียงพอที่จะทำให้มั่นใจว่านางแบบได้รับแสงสว่างมากพอ ซึ่งหมายความว่าขณะที่นางแบบเคลื่อนเข้าใกล้กล้องมากขึ้นและอยู่ห่างจากแบ็คกราวด์มากขึ้น แบ็คกราวด์จะมืดขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากได้รับแสงสว่างน้อยลง
ภาพถ่ายเต็มตัว (ระยะการถ่ายภาพ: 6 ม., ระยะห่างจากแบ็คกราวด์: 0 ม.): แสงกระจายสม่ำเสมอ แบ็คกราวด์จึงได้รับแสงสว่างทั้งหมด ทำให้ภาพที่ได้ดูสว่างทั่วทั้งภาพ
ภาพถ่าย 3/4 (ระยะการถ่ายภาพ: 3.5 ม., ระยะห่างจากแบ็คกราวด์: 2 ม.): แบ็คกราวด์มืดขึ้นเล็กน้อย ทำให้ภาพมีความลึก
ภาพลำตัวช่วงบน (ระยะการถ่ายภาพ 2 ม., ระยะห่างจากแบ็คกราวด์ 3.5 ม.): แบ็คกราวด์ที่เบลอดูมืดยิ่งขึ้น ทำให้ตัวแบบเด่นสะดุดตา AI.B full-auto กำหนดการวางแนวหัวแฟลชให้ยิงแสงไปที่ด้านหลังช่างภาพ
ภาพระดับอกขึ้นไป (ระยะการถ่ายภาพ 1 ม., ระยะห่างจากแบ็คกราวด์ 4.5 ม.): เหมือนกับภาพลำตัวช่วงบน
เช่นเดียวกับการทดสอบที่ 1 ณ จุดใดจุดหนึ่งโหมด AI.B full-auto จะเริ่มปรับมุมของหัวแฟลชเพื่อให้แฟลชสะท้อนแสงจากจุดหนึ่งบนเพดานด้านหลังช่างภาพ จึงทำให้แสงเดินทางเป็นระยะทางที่ไกลขึ้นทั้งก่อนและหลังการสะท้อน จึงมั่นใจได้ว่าแสงจะกระจายมากพอเมื่อไปถึงตัวแบบ
ในแต่ละภาพ สีสันที่ออกมาสวยงามมากขึ้นและโทนสีผิวดูน่าสนใจมากขึ้นกว่าตอนที่ใช้เฉพาะแสงตามธรรมชาติเท่านั้น แสงแฟลชและแสงธรรมชาติทำงานเข้ากันได้เป็นอย่างดี คุณจึงใช้ประโยชน์จากแสงทั้งสองแบบนี้ได้ในฉากหลากหลายประเภท
ระยะการถ่ายภาพ: 6 ม.
A: การวางแนวหัวแฟลช
B: ระยะการถ่ายภาพ (6 ม.)
ระยะการถ่ายภาพ 3.5 ม., ระยะห่างจากแบ็คกราวด์ 2 ม.
A: การวางแนวหัวแฟลช
B: ระยะการถ่ายภาพ (3.5 ม.)
C: ระยะการถ่ายภาพ (2 ม.)
ระยะการถ่ายภาพ 2 ม., ระยะห่างจากแบ็คกราวด์ 3.5 ม.
A: การวางแนวหัวแฟลช
B: ระยะการถ่ายภาพ (2 ม.)
C: ระยะการถ่ายภาพ (3.5 ม.)
ระยะการถ่ายภาพ 1 ม., ระยะห่างจากแบ็คกราวด์ 4.5 ม.
A: การวางแนวหัวแฟลช
B: ระยะการถ่ายภาพ (1 ม.)
C: ระยะการถ่ายภาพ (4.5 ม.)
เทคนิคการถ่ายภาพ
1. โหมด AI.B full-auto: ใช้การยิงแฟลชสะท้อนเพดานเพื่อสร้างแสงเสริมที่คล้ายกับแสงจากรีเฟลกเตอร์
EOS 5D Mark IV/ EF85mm f/1.8 USM/ Manual exposure/ WB: อัตโนมัติ
โหมดการใช้งานแฟลช: E-TTL/ ชดเชยระดับแสงแฟลช: EV-0.7/ มุมแฟลช: 85 มม.
ทางยาวโฟกัส: 85 มม./ ความเร็วชัตเตอร์: 1/400 วินาที/ รูรับแสง: f/1.8/ ความไวแสง ISO: 100
ผมใช้ประโยชน์จากแสงสวยๆ ซึ่งส่องลงบนโซฟา เพื่อเก็บภาพบรรยากาศที่นุ่มนวลและเยือกเย็นของนางแบบที่กำลังนั่งพักผ่อนอยู่ข้างหน้าต่าง หากผมใช้แสงตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ใบหน้าของนางแบบอาจดูคล้ำอันเนื่องมาจากแสงย้อน แม้ผมจะสามารถปรับการรับแสงเพื่อให้ใบหน้าดูสว่าง แต่ก็อาจสูญเสียบรรยากาศเฉพาะตัวที่เกิดจากแสงธรรมชาติที่นุ่มนวลจากหน้าต่างไป
วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือเก็บความเปรียบต่างโดยรวมไว้ ควบคู่ไปกับการทำให้ใบหน้าของนางแบบดูสว่างในลักษณะที่ดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งทำได้โดยตั้งค่าการชดเชยระดับแสงแฟลช E-TTL ไปที่ EV -0.7 ในโหมด AI.B full-auto และใช้การยิงแฟลชสะท้อนเพดานเพื่อสร้างแสงเสริมที่นุ่มนวล
เมื่อใช้ซิงค์ความเร็วสูงพร้อมกับความเร็วชัตเตอร์อย่างน้อย 1/200 วินาที ผมสามารถถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงกว้างสุดได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนระยะชัดลึก วิธีนี้ทำให้ผมสามารถปรับความสว่างของตัวแบบโดยใช้ทั้งแสงและแสงแฟลช ซึ่งทำให้เงาดูนุ่มนวลอ่อนโยนยิ่งขึ้นได้ ผมใช้รีเฟลกเตอร์ในการจัดแสงเพียงเพื่อสร้างประกายตาเท่านั้น เนื่องจากมุมของแสงที่สะท้อนจากดวงตาไม่เหมาะสำหรับเพิ่มความสว่างให้กับใบหน้าของตัวแบบ
ไม่ใช้ Speedlite
ไม่มีแสงเสริม ใบหน้าของตัวแบบจึงดูคล้ำ
การจัดแสง
แสงสวยๆ ที่ส่องผ่านหน้าต่าง แผ่นรีเฟลกเตอร์ถูกวางไว้ด้านล่างเพื่อสร้างประกายตา
1: ทิศทางของแสงแดด
2: การยิงแฟลชสะท้อนเพดาน
3: กระทบบนแผ่นรีเฟลกเตอร์สีขาว (สร้างประกายตา แสงไม่พอสำหรับเพิ่มความสว่างให้ใบหน้า)
ขั้นตอนการถ่ายภาพ
1: สำหรับโหมดแฟลช ให้เลือก "E-TTL" และตั้งค่าการชดเชยระดับแสงแฟลชเป็น "-0.7EV" สิ่งสำคัญคือตั้งค่าแฟลชอ่อนๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ
2: เลื่อนสวิตช์เปลี่ยนโหมด AI.B ไปที่ "F" กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อให้มุมสะท้อนแสงแฟลชกลับไปที่ 0° โดยอัตโนมัติ
3: หลังจากกำหนดองค์ประกอบภาพและมุมถ่ายภาพแล้ว กดปุ่ม AI.B วิธีนี้จะวัดระยะห่างถึงตัวแบบและระยะห่างถึงเพดานสำหรับการสะท้อนแสงแฟลช จากนั้น กล้องจะยิงแสงแฟลชครั้งแรก
หากคุณเปลี่ยนตำแหน่งของกล้อง ให้กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งสองครั้งติดต่อกัน เพื่อขยับหัวแฟลชและแก้ไขมุมสะท้อนโดยอัตโนมัติให้เหมือนก่อนที่จะเคลื่อนกล้อง
คุณอาจสนใจเคล็ดลับและบทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตในร่มต่อไปนี้เช่นกัน
คำแนะนำแบบทีละขั้นตอน: วิธีถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่น่าประทับใจโดยใช้แสงย้อนจากหน้าต่าง
เทคนิคเกี่ยวกับการตั้งค่าตามขนาดรูรับแสง #4: การถ่ายภาพใบหน้า
2. โหมด AI.B semi-auto: ใช้การยิงแฟลชสะท้อนผนังเพื่อสร้างแสงเสริมจากด้านข้าง
EOS 5D Mark IV/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ Manual exposure/ WB: อัตโนมัติ
โหมดการใช้งานแฟลช: E-TTL/ ชดเชยระดับแสงแฟลช: EV±0/ มุมแฟลช: 80 มม.
ทางยาวโฟกัส: 70 มม./ ความเร็วชัตเตอร์: 1/80 วินาที/ รูรับแสง: f/2.8/ ความไวแสง ISO: 100
ภาพนี้ใช้แสงตามธรรมชาติที่ผ่านเข้ามาจากแบ็คกราวด์เพื่อทำให้ผมของนางแบบดูเงางาม แต่การใช้แสงนี้เพียงอย่างเดียวอาจทำให้เกิดเงาที่ใบหน้า นอกจากนี้ ลักษณะของเงาที่เกิดขึ้นยังทำให้สีสันของกระโปรงดูมืดทึมมากขึ้น
ผมจึงใช้โหมด AI.B semi-auto เพื่อสร้างแสงเสริมที่ช่วยเพิ่มปริมาณแสงให้กับแสงธรรมชาติ โดยการวางแผ่นรีเฟลกเตอร์ขนาดใหญ่ไว้บนผนังและสะท้อนแสงออกมา เมื่อแสงกระจายออก แสงจะสะท้อนลงบนด้านหน้าตัวแบบพอดี เป็นการปรับส่วนของเงา (ทำให้สว่าง) และทำให้โทนสีในภาพดูเจิดจ้ามากขึ้น
เมื่อใช้โหมด AI.B semi-auto คุณสามารถตั้งค่า Speedlite ให้จัดเก็บมุมสะท้อนแสงแฟลชที่คุณเคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ได้ เมื่อตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว แม้คุณจะเปลี่ยนแนวการถือกล้อง แต่การวางแนวหัวแฟลชจะปรับและแก้ไขโดยอัตโนมัติเพื่อให้ได้มุมสะท้อนที่จดจำไว้ จึงช่วยให้คุณถ่ายภาพได้อย่างลื่นไหลและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับใช้มุมสะท้อนแสงแฟลชที่เหมาะสมที่สุดได้โดยไม่พลาดทุกจังหวะสำคัญ ไม่ว่าคุณจะถือกล้องในแนวใดก็ตาม
ไม่ใช้ Speedlite
หากใช้เฉพาะแสงตามธรรมชาติจะเกิดเงาบนใบหน้าและส่วนกระโปรงของตัวแบบอย่างเด่นชัด
การจัดแสง
วางแผ่นรีเฟลกเตอร์ขนาดใหญ่บนผนังทางซ้ายเพื่อให้แสงสะท้อนจากแผ่นและเพิ่มความสว่างให้แก่นางแบบ ซึ่งยืนห่างออกไปประมาณ 2 เมตร
สะท้อนแฟลชจากผนังโดยการหันหัวแฟลชไปที่แผ่นรีเฟลกเตอร์สีขาว
ขั้นตอนการถ่ายภาพ
1: ในโหมดแฟลช เลือก "E-TTL" ทดสอบถ่ายภาพโดยไม่ใช้การชดเชยระดับแสงแฟลชในครั้งแรก จากนั้นปรับการชดเชยระดับแสงตามที่จำเป็นเพื่อให้ความสว่างตามที่ต้องการ
2: เลื่อนสวิตช์เปลี่ยนโหมด AI.B ไปที่ "S" กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อตั้งค่ามุมสะท้อนแสงแฟลชไปที่ตำแหน่ง 0° โดยอัตโนมัติ
3: เมื่อคุณกำหนดมุมสะท้อนแสงแฟลชแล้ว กดปุ่ม ANGLE SET เพื่อบันทึก (จัดเก็บ) มุมสะท้อนแสง
หากคุณเปลี่ยนแนวของกล้องและต้องการจดจำมุมสะท้อนแฟลชที่เคยใช้ ให้กดปุ่ม AI.B จากนั้นกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งสองครั้งติดต่อกัน หัวของแฟลชจะเคลื่อนที่และรีเซ็ตเพื่อจัดเก็บมุมสะท้อนแสงไว้
กำลังคิดจะซื้อ Speedlite 470EX-AI ใช่หรือไม่ บทความเหล่านี้อาจช่วยคุณตัดสินใจได้:
การเลือกแฟลชเสริม (1): กำลังแสงแฟลช
การเลือกแฟลชเสริม (2): แฟลชสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง
อ่านเคล็ดลับและบทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยแฟลชเสริมเพิ่มเติมได้ที่:
จุดโฟกัส: พื้นฐานสำหรับการถ่ายภาพด้วยแฟลชเสริม
คุณต้องมีอุปกรณ์ใดอีกบ้างในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตในร่ม โปรดดูเลนส์ต่อไปนี้ที่ช่างภาพพอร์ตเทรตชื่นชอบ
รีวิว EF85mm f/1.4L IS USM: เลนส์พอร์ตเทรตอันยอดเยี่ยมสำหรับการถือกล้องถ่ายภาพ
ทำไม EF85mm f/1.8 USM จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรต
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Seigi Takakuwa เริ่มงานแรกกับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในฐานะผู้ช่วยช่างภาพก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นช่างภาพอิสระ ปัจจุบันเขาถ่ายภาพสำหรับโฆษณา นิตยสาร และแค็ตตาล็อกในแวดวงความงามและแฟชั่นเป็นหลัก เขามีชื่อเสียงเลื่องลือในวงการในเรื่องขั้นตอนการทำงานทั้งหมดอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่การถ่ายภาพไปจนถึงการรีทัช และได้รับรางวัลมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาภาพถ่ายความงาม ในปี 2012 และ 2013 เขาได้รับรางวัลชมเชยสาขาโฆษณาระดับมืออาชีพ: ความงาม จากเวทีรางวัล International Photography Awards อันทรงเกียรติ
เว็บไซต์: https://www.seigi-photograph.com/