ก่อนหน้านี้ เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นชิฟต์ในเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ไปแล้ว ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฟังก์ชั่นทิลต์ และดูว่าผลทางออพติคอลอันเป็นเอกลักษณ์ของฟังก์ชั่นนี้มีประโยชน์อย่างไรสำหรับการถ่ายภาพในแนวอื่น และไม่ใช่เพื่อการใช้งานจริงเท่านั้น แต่เพื่อการถ่ายทอดภาพอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย!
การทิลต์และชิฟต์เลนส์เป็นเทคนิคมาตรฐานสำหรับกล้องขนาดใหญ่ซึ่งเชื่อมต่อเลนส์เข้ากับกล้องด้วยส่วนพับยืด อย่างไรก็ตาม มีระบบกล้อง DSLR หรือกล้องมิเรอร์เลสไม่มากนักที่มีเลนส์ในกลุ่มทิลต์-ชิฟต์ ระบบ EOS ของ Canon เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ระบบที่มีเลนส์กลุ่มนี้ และยังเป็นกลุ่มเลนส์ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกล้องฟูลเฟรม โดยมีเลนส์เมาท์ EF ทิลต์-ชิฟต์ 5 รุ่น ซึ่งมีทางยาวโฟกัส 17 มม., 24 มม., 50 มม., 90 มม. และ 135 มม.
โดยทั่วไป เลนส์ทิลต์-ชิฟต์มักเป็นเลนส์โฟกัสแบบแมนนวล แต่เลนส์ของ Canon มีการควบคุมรูรับแสงแบบอัตโนมัติ จึงสามารถใช้ได้กับโหมดการถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงอัตโนมัติ และยังสามารถใช้กับกล้องในระบบ EOS R ได้ด้วยเมื่อมีเมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R
ฟังก์ชั่นทิลต์ทำงานอย่างไร
ฟังก์ชั่นทิลต์ในเลนส์ทิลต์-ชิฟต์จะเปลี่ยนมุมของเลนส์ ทำให้คุณสามารถเปลี่ยนมุมของระนาบโฟกัสได้ตามเซนเซอร์ภาพ
เพื่อให้เข้าใจการทำงานของฟังก์ชั่นนี้ เราจะมาดูหลักการที่อยู่เบื้องหลังเอฟเฟ็กต์ทิลต์กันก่อน
การใช้งานเดิมของฟังก์ชั่นทิลต์: โฟกัสชัดลึกในฉากที่มีความลึก
หลายคนเข้าใจว่าการโฟกัสเกิดขึ้นที่จุดเดียว แต่ความจริงแล้ว การโฟกัสเกิดบนแนวระนาบ หรืออีกนัยหนึ่งคือ สิ่งใดก็ตามที่อยู่ห่างจากเลนส์เป็นระยะเท่ากับจุดโฟกัสที่กำหนดจะอยู่ในโฟกัส
สำหรับเลนส์ทั่วๆ ไป ระนาบโฟกัสจะขนานกับระนาบภาพ (เซนเซอร์ภาพของกล้อง) ส่วนต่างๆ ในฉากที่อยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังของระนาบโฟกัสจะอยู่นอกโฟกัสมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะห่าง ฉากส่วนที่อยู่ในโฟกัสคือสิ่งที่เราเรียกว่า ระยะชัด ซึ่งสามารถเพิ่มขึ้นได้โดยการทำให้รูรับแสงแคบลงเพื่อให้ตัวแบบอยู่ในโฟกัสได้มากขึ้น
ทบทวนความรู้เรื่องนี้ได้ที่:
[บทที่ 3] เรียนรู้เกี่ยวกับรูรับแสง
ระนาบโฟกัส (ปกติ)
ระนาบโฟกัส (ฟังก์ชั่นทิลต์)
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวแบบที่มีความลึกมาก คุณจะต้องใช้รูรับแสงที่แคบมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงสองประการ ได้แก่:
- การเลี้ยวเบน ซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพของภาพ
- ความไวแสง ISO ที่สูงขึ้นและจุดรบกวนในภาพมากขึ้นเนื่องจากแสงเข้าสู่เลนส์ได้น้อยลง
ฟังก์ชั่นทิลต์ในเลนส์ทิลต์-ชิฟต์แก้ปัญหานี้ได้โดยให้คุณสามารถปรับมุมของระนาบโฟกัสได้ตามระนาบภาพ ดังแสดงในแผนภาพด้านบน จึงทำให้องค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ตามแนวความลึก (ด้านหน้าและหลัง) ของฉากอยู่ในโฟกัสได้ทั้งหมด
เลนส์ TS-E ของ Canon มีระบบการหมุนแบบ TS ซึ่งทำให้สามารถปรับการทิลต์ของเลนส์ได้ในทุกทิศทาง เลนส์มีช่วงมุมทิลต์ดังแสดงด้านล่าง:
- TS-E17mm f/4L: ±6.5°
- TS-E 24mm f/3.5L II, TS-E50mm f/2.8L Macro: ±8.5°
- TS-E90mm f/2.8L Macro, Canon TS-E135mm f/4L Macro: ±10°
เราสามารถใช้ฟังก์ชั่นทิลต์ในฉากแบบใดบ้าง
ฉากที่ 1: ให้ฉากทิวทัศน์ที่มีความลึกอยู่ในโฟกัสทั้งหมด
TS-E50mm f/2.8L Macro / FL: 50 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/2000 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
คุณเห็นเนินเขากี่ลูกในภาพนี้ตั้งแต่โฟร์กราวด์ตลอดไปจนถึงแบ็คกราวด์
หากเราถ่ายฉากด้านบนด้วยเลนส์ปกติ แม้แต่รูรับแสงที่แคบที่สุดก็ไม่สามารถทำให้เนินเขาทั้งหมดอยู่ในโฟกัสได้ อย่างไรก็ตาม การปรับระนาบโฟกัสจนกระทั่งเนินเขาทุกลูกอยู่ในระยะชัดทำให้ภาพนี้อยู่ในโฟกัสทั้งหมดตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงด้านหลัง แม้ใช้ค่า f/2.8 ลองนึกดูว่าฟังก์ชั่นนี้จะเป็นประโยชน์แค่ไหนในฉากที่คุณไม่ต้องการใช้ความไวแสง ISO ที่มากเกินไปหรือความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำเกินไป!
ฉากที่ 2: โฟกัสชัดลึกในการถ่ายภาพโคลสอัพ
TS-E50mm f/2.8L Macro / FL: 50 มม./ Manual exposure (f/11, 0.4 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพจานหลายใบบนโต๊ะด้านบนนี้เป็นภาพที่คุณมักจะเห็นในเมนูของร้านอาหาร สถานการณ์เช่นนี้มักต้องใช้การถ่ายภาพโคลสอัพ ซึ่งทำให้เกิดระยะชัดที่ตื้นมาก หากเป็นเลนส์ทั่วไป การจับโฟกัสให้ได้ทั้งภาพจะทำได้ยาก แต่ฟังก์ชั่นทิลต์ทำให้ง่ายขึ้นมากเพราะคุณเพียงแค่ต้องหามุมในการทิลต์ที่เหมาะสมเท่านั้น และยังเป็นฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์ในการโฟกัสชัดลึกเมื่อถ่ายภาพผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องใช้การซ้อนโฟกัสด้วย
วิธีการประมาณตำแหน่งของระนาบโฟกัส
เราจะมองไม่เห็นระนาบโฟกัสเมื่อใช้ฟังก์ชั่นทิลต์ แต่มีวิธีที่จะสามารถทำให้มองเห็นได้
ลองนึกภาพระนาบสองเส้น โดยให้เส้นหนึ่งขนานกับพื้นผิวเลนส์ และอีกเส้นหนึ่งขนานกับเซนเซอร์ภาพ ระนาบโฟกัสจะเริ่มจากจุดที่สองเส้นนี้บรรจบกัน วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถประมาณได้ว่าต้องใช้การทิลต์มากเท่าใดเพื่อให้ได้ระนาบโฟกัสในจุดที่ต้องการ
“การทิลต์ในทิศตรงข้าม”: เพิ่มความสร้างสรรค์ด้วยการเลือกจุดโฟกัส
นอกจากจะใช้เพื่อทำให้ตัวแบบที่มีความลึกอยู่ในโฟกัสทั้งหมดแล้ว คุณยังสามารถใช้ฟังก์ชั่นทิลต์ “ในทิศตรงข้าม” เพื่อทำให้ทุกอย่างนอกจากตัวแบบบางตัวอยู่นอกโฟกัสได้ด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการเลือกจุดโฟกัส
วิธีการถ่ายภาพด้วยการทิลต์ในทิศตรงข้าม
จัดตำแหน่งให้ระนาบโฟกัสตัดกับตัวแบบ เฉพาะพื้นที่ภายในระนาบโฟกัสเท่านั้นที่จะอยู่ในโฟกัส การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณสามารถควบคุมตำแหน่งของพื้นที่ที่อยู่ในและนอกโฟกัสได้มากกว่าที่ทำได้ด้วยเลนส์รูรับแสงกว้างทั่วไป
ฉากที่ 3: การเลือกจุดโฟกัสเฉพาะบางส่วนของเฟรมภาพ
TS-E90mm f/2.8L Macro / FL: 90 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/640 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
หากเป็นเลนส์รูรับแสงกว้างทั่วไป การถ่ายภาพจากระยะเท่านี้จะทำให้เกิดระยะชัดที่กว้างขึ้น และทุกสิ่งที่อยู่ทางด้านซ้ายและขวาของโตเกียวทาวเวอร์จะอยู่ในโฟกัส แต่ในภาพนี้ นอกจากโตเกียวทาวเวอร์และอาคารที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ส่วนอื่นๆ ล้วนอยู่นอกโฟกัสทั้งหมด นี่คือเอฟเฟ็กต์อันเป็นเอกลักษณ์ของเลนส์ทิลต์-ชิฟต์
ฉากที่ 4: เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน
TS-E135mm f/4L Macro / FL: 135 มม./ Manual exposure (f/4, 1/1250 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ดูคุ้นตาหรือไม่ นี่คือ ‘เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน’ แบบดั้งเดิม ซึ่งเกิดจากวิธีการแบบออพติคอลของเลนส์ทิลต์-ชิฟต์โดยการปรับระนาบโฟกัสให้ตัดกับพื้นดิน ฟิลเตอร์สร้างสรรค์ ‘เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน’ สามารถจำลองเอฟเฟ็กต์นี้ได้ด้วยวิธีการแบบดิจิตอล แต่คุณจะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าในการปรับระนาบที่อยู่ในโฟกัส
เคล็ดลับน่ารู้: หุ่นย่อส่วนจะดูไม่เหมือนในภาพนี้เวลาที่คุณได้เห็น แต่เมื่อคุณถ่ายภาพหุ่นย่อส่วน คุณมักจะต้องถ่ายในระยะใกล้ซึ่งทำให้เกิดระยะชัดที่ตื้นมาก “เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน” จึงได้ชื่อนี้มาเนื่องจากทำให้เรานึกถึงภาพถ่ายของหุ่นย่อส่วนที่เคยเห็น
การใช้งานอื่นๆ ของฟังก์ชั่นทิลต์
นอกจากภาพตัวอย่างในบทความนี้ ฟังก์ชั่นทิลต์ในเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ยังสามารถนำไปใช้งานแบบอื่นได้อีกมาก ลองดูตัวอย่างได้ในวิดีโอด้านล่าง
ภาพพอร์ตเทรต
การถ่ายภาพวิดีโอ
กลุ่มเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ของ Canon
TS-E17mm f/4L
TS-E24mm f/3.5L II
TS-E50mm f/2.8L Macro
TS-E90mm f/2.8L Macro
TS-E135mm f/4L Macro
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!