การถ่ายภาพต้นซากุระ: ควรถ่ายที่ระยะมุมกว้างหรือเทเลโฟโต้ดี
เมื่อถ่ายภาพต้นซากุระ ควรขยับเข้าใกล้ตัวแบบและถ่ายที่ระยะมุมกว้าง หรือถ่ายที่ระยะเทเลโฟโต้จากระยะไกลดีกว่ากัน นี่เป็นคำถามปกติที่ช่างภาพมักถามตัวเองเมื่อต้องถ่ายภาพดอกไม้ และความชอบส่วนตัวมักส่งผลต่อสไตล์การถ่ายภาพที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นมาเองด้วยเช่นกัน ในบทความนี้ ช่างภาพ 2 ท่านจะมาเล่าถึงความชอบส่วนตัวของแต่ละคน (เรื่องโดย Takehito Miyatake, Toshiki Takamuku)
ถ่ายภาพระยะใกล้ที่ระยะมุมกว้าง: ใช้มุมสูงเพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ที่อยู่ไกลออกไป
FL: 32 มม.
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 32 มม./ Aperture-priority AE (f/10, 1/12 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Takehito Miyatake
Takehito Miyatake กล่าวว่า:
"ภาพต้นซากุระนี้ถ่ายจากบริเวณที่มองลงไปเห็นทัศนียภาพของทะเลเซโตะ สถานที่ซึ่งหันไปทางทิศตะวันออกนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงาม แต่เนื่องจากบริเวณชายฝั่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างลาดเอียงและมีต้นไม้สูง การจัดองค์ประกอบภาพให้สวยงามโดยรวมเกาะต่างๆ ในทะเลและต้นซากุระไว้ในภาพจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผมต้องใช้วิธีถ่ายภาพต้นซากุระในระยะใกล้และถ่ายที่ระยะมุมกว้างจากมุมสูงซึ่งช่วยเผยให้เห็นทัศนียภาพเหนือยอดไม้เท่านั้น จึงจะสามารถบันทึกภาพนี้ไว้ได้
ขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้น การเปิดรับแสงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ค่าที่ดีที่สุด ดังนั้น ผมจึงถ่ายภาพในโหมด Aperture-priority AE แทนการเปิดรับแสงแบบแมนนวล และเพื่อขับเน้นโทนสีชมพูพาสเทลสว่างอ่อนๆ ให้ดูโดดเด่น ผมเลือกใช้ค่าชดเชยแสงที่ EV+0.3 นอกจากนี้ ม่านหมอกในฤดูใบไม้ผลิยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความรู้สึกอันนุ่มนวลชวนฝันให้กับภาพทั้งภาพด้วยเช่นกัน"
เคล็ดลับ: ใช้ขาตั้งกล้องที่สูงมากๆ เพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ที่อยู่ไกลออกไป
ภาพถ่ายที่ไม่ใช้ขาตั้งกล้องสูงๆ
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 65 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/250 วินาที, EV+0.7)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Takehito Miyatake
ผมยืนอยู่บนภูเขา แต่ถึงอย่างนั้น ต้นไม้ที่อยู่เบื้องหน้าผมก็สูงมากๆ จนมองเห็นแบ็คกราวด์ได้เพียงนิดเดียวผ่านช่องว่างระหว่างลำต้นของต้นไม้ ดังนั้น ผมจึงสร้างขาตั้งกล้องที่มีความสูงถึง 8 ม. เพื่อให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพเหนือยอดไม้ได้ ในส่วนของแท่นวางกล้องผมสามารถใช้งานจากระยะไกลได้ ดังนั้น ผมจึงดูตัวอย่างภาพ Live View และควบคุมมุมกล้องและการโฟกัสผ่านคอมพิวเตอร์
ภาพถ่ายระยะไกลที่ระยะเทเลโฟโต้: จับคู่กับองค์ประกอบภาพที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อสื่อถึงความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์
FL: 105 มม.
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/2.8L USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 13 วินาที, EV-0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Toshiki Takamuku
Toshiki Takamuku กล่าวว่า:
"ผมใช้ดอกไม้และกิ่งไม้เป็นโฟกัสหลัก แต่ผสมผสานพลังการเคลื่อนไหวในรูปแบบของสายน้ำไหลเข้าไปในภาพด้วย ซึ่งวิธีนี้จะเพิ่มจิตวิญญาณเข้าไปในภาพ และทำให้ภาพดูน่าสนใจอย่างยิ่ง
ภาพนี้ถ่ายที่บริเวณคูน้ำในปราสาท ซึ่งมีกลีบดอกไม้ลอยอยู่ทั่วบริเวณ ในฉากจริง กระแสน้ำไม่ได้แรงมาก ผมจึงถ่ายภาพได้ค่อนข้างง่าย แต่ต้องใช้การเปิดรับแสงอย่างน้อย 10 วินาที โฟกัสหลักของผมซึ่งก็คือต้นซากุระนั้นเคลื่อนตำแหน่งได้ง่ายมากเพราะแรงลม ดังนั้น หากตัวแบบเคลื่อนเพียงเล็กน้อย ภาพก็จะขาดจุดโฟกัสที่คงที่ดังเช่นในตัวอย่างด้านล่าง ดังนั้น จะต้องไม่มีกระแสลมอย่างเด็ดขาด
ในตอนเย็น ลมสงบและมีแสงน้อย ซึ่งเหมาะสำหรับถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนานอย่างยิ่ง นอกจากนี้ อุณหภูมิสีที่เย็นในช่วงเวลานี้ยังสื่อถึงบรรยากาศที่ดูมีมนต์ขลังอีกด้วย"
ใช้การเปิดรับแสงที่ 4 วินาที แต่ต้นซากุระพลิ้วไหวไปตามแรงลม จึงทำให้ภาพเสีย
EOS 5D Mark II/ EF70-200mm f/2.8L USM/ FL: 98 มม./ Aperture-priority AE (f/25, 4 วินาที, EV-1)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Toshiki Takamuku
หากต้องการทราบไอเดียและเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพต้นซากุระ เข้าไปดูได้ที่:
วิธีถ่ายภาพดอกซากุระให้มีความละเอียดแต่ดูชวนฝันด้วยซอฟต์ฟิลเตอร์
ภาพทิวทัศน์ดวงดาวอันน่าทึ่ง: การถ่ายภาพดอกซากุระและทางช้างเผือกยามค่ำคืนให้สวยสดงดงาม
การตัดสินใจว่าควรถ่ายภาพที่ระยะมุมกว้างหรือเทเลโฟโต้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันในการถ่ายภาพ อ่านบทความเหล่านี้เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม:
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: แสงด้านหน้าหรือแสงด้านหลัง
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ควรใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในเฟรมภาพดีหรือไม่
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
EF24-105mm f/4L IS USM
EF70-200mm f/2.8L USM
เกิดเมื่อปี 1966 ที่จังหวัดโอซาก้า Miyatake ทำงานกับผู้ผลิตอุปกรณ์ถ่ายภาพในฐานะช่างภาพประจำสตูดิโอหลังจบการศึกษาจากสาขาเทคโนโลยีภาพถ่าย คณะวิศวกรรมศาสตร์ Tokyo Polytechnic University ในปี 1995 เขาได้ก่อตั้งสตูดิโอเป็นของตนเองที่มีชื่อว่า Miyatake Photo Factory ในจังหวัดโทคุชิมะ ซึ่งเป็นที่ที่เขาเติบโตขึ้น
เกิดเมื่อปี 1960 ที่จังหวัดฟูคิอิ Takamuku ทำงานเป็นช่างภาพมืออาชีพมาตั้งแต่ปี 2011 ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ที่จังหวัดนากาโน่ เพื่อถ่ายภาพให้กับนิตยสารและสื่ออื่นๆ
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation