[บทที่ 10] เลนส์ซูมมุมกว้างมีผลต่อภาพถ่ายของคุณอย่างไร
ในบทที่ 10 ผมจะอธิบายถึงผลกระทบของเลนส์ซูมมุมกว้างที่มีต่ออารมณ์ที่ถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายของคุณ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจจะใช้กล้องมิเรอร์เลส หรือเพิ่งซื้อกล้องใหม่ บทความชุดนี้จะมีบทเรียนที่เข้าใจง่ายเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพสวยๆ ด้วยกล้อง EOS M ซึ่งสามารถให้คุณภาพของภาพถ่ายระดับสูง และยังง่ายต่อการใช้งานอีกด้วย เมื่อเรียนรู้เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับกล้องและการถ่ายภาพแล้ว คุณจะสามารถถ่ายภาพตามที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย! (ภาพโดย: Yuji Ogura, เขียนและเรียบเรียงโดย: ฝ่ายบรรณาธิการนิตยสาร Camera Biyori)
Q: เลนส์ซูมมุมกว้างมีผลต่ออารมณ์ภาพอย่างไร?
A: เลนส์ซูมมุมกว้างสามารถเก็บภาพได้ครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า นอกจากนั้น ยังสะดวกเมื่อต้องถ่ายภาพในพื้นที่แคบๆ ที่ช่างภาพขยับถอยหลังได้จำกัด เลนส์ที่มีมุมกว้างมากเป็นพิเศษจะทำให้ภาพบิดเบี้ยวผิดสัดส่วนไป ซึ่งอาจทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้กล้องดูใหญ่ขึ้นขณะที่วัตถุในระยะไกลจะดูเล็กลง
เลนส์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM
โครงสร้างเลนส์: 12 ชิ้นเลนส์ใน 9 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด: ประมาณ 0.15 เมตร
กำลังขยายสูงสุด: ประมาณ 0.3 เท่า
ขนาดฟิลเตอร์: φ55 มม.
ขนาด: ประมาณ φ60.9×72.9 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 220 กรัม
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับเลนส์ EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM
เลนส์ซูมมุมกว้าง EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM ซึ่งออกแบบมาสำหรับกล้อง EOS M โดยเฉพาะ ให้มุมรับภาพเทียบเท่ากับประมาณ 18 ถึง 35 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม. นอกจากจะถ่ายภาพได้กว้างแล้ว ระยะโฟกัสใกล้สุดประมาณ 15 ซม. ยังเอื้อให้ช่างภาพถ่ายภาพต่างๆ ในระยะใกล้กับตัวแบบได้ด้วยเช่นกัน
เปรียบเทียบมุมรับภาพ
มาเปรียบเทียบมุมรับภาพในภาพถ่ายโครงสร้างสถาปัตยกรรมต่อไปนี้ ซึ่งถ่ายจากตำแหน่งที่มีระยะห่างเท่ากันโดยใช้มุมรับภาพ 18 มม. และ 11 มม. ตามลำดับ
ระยะมุมกว้างของเลนส์ซูมมาตรฐาน (18 มม.)
ที่มุมรับภาพ 18 มม. ส่วนด้านข้างของอาคารทั้งสองฝั่งถูกตัดออก
ระยะมุมกว้างของเลนส์ซูมมุมกว้าง (11 มม.)
ที่มุมรับภาพ 11 มม. กล้องเก็บภาพตัวอาคารได้ครบถ้วนทั้งหมด เอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟทำให้ตึกดูใหญ่กว่าความเป็นจริง
สร้างสรรค์ภาพถ่ายให้มีมิติความกว้าง
เมื่อคุณถ่ายภาพตึกสูงจากระดับพื้นดิน หรือเมื่อไม่สามารถยืนในระยะห่างที่พอเหมาะจากตัวแบบได้ภายในตัวอาคาร การใช้เลนส์มุมกว้างจะช่วยให้คุณถ่ายเก็บภาพได้ครบถ้วนเพื่อดึงเอามิติความกว้างหรือความลึกออกมา ภาพที่ได้จะให้ความรู้สึกที่เน้นวัตถุ ดูราวกับช่างภาพกำลังยืนอยู่ห่างจากตัวแบบมาก
EOS M กล้องมิเรอร์เลสตัวแรกของ Canon มีสีสันให้เลือกถึง 4 สี (สีดำ สีแดง สีขาว และสีเงิน) ซึ่งคุณสามารถเลือกสีตามที่คุณชอบได้
งานด้านถ่ายภาพของ Ogura มีตั้งแต่การถ่ายภาพทั่วไป จนถึงการล้างอัดรูปภาพและการพิมพ์ฟิล์ม Ogura เป็นหนึ่งในคณะผู้สอนที่โรงเรียนสอนการถ่ายภาพ Camera Biyori เริ่มงานด้วยการเป็นวิศวกรในห้องแล็บล้างอัดฟิล์ม ต่อมาเขาก็ได้สร้างห้องแล็บของเขาเอง ชื่อ “mogu camera” และยังดำเนินการสตูดิโอพอร์ตเทรต “mogu sun” อีกด้วย
Camera Biyori เป็นนิตยสารภาพถ่ายของญี่ปุ่น ซึ่งนำเสนอภาพถ่ายที่สวยงามและความสนุกสนานในการใช้กล้องในชีวิตประจำวัน และเพื่อเป็นการแนะนำกิจกรรมสนุกๆ เกี่ยวกับกล้องและการถ่ายภาพ ฝ่ายบรรณาธิการของนิตยสาร Camera Biyori ยังมีโรงเรียนสอนการถ่ายภาพ Camera Biyori ที่จะช่วยแนะนำผู้อ่านให้เข้าร่วมและสนุกสนานกับการถ่ายภาพ
จัดพิมพ์โดย Daiichi Progress Inc.