หมอกที่มักก่อตัวขึ้นที่บริเวณเหนือพื้นดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าตรู่ อาจสร้างบรรยากาศอันเงียบสงบให้กับภาพถ่ายได้ แต่สภาพแสงที่จำกัดก็ทำให้ยากต่อการถ่ายภาพเช่นกัน เราควรตั้งค่ากล้องแบบใดในการเก็บภาพหมู่ไม้เขียวชอุ่มและถ่ายทอดเสน่ห์อันน่าทึ่งของม่านหมอกยามเช้าที่ปกคลุมไปทั่วทั้งบริเวณ ในบทความนี้ จะแนะนำถึงเทคนิคต่างๆ ที่ช่างภาพมืออาชีพใช้กัน (เรื่องโดย: Rika Takemoto)
EOS 7D/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 70 มม. (เทียบเท่า 112 มม.)/ Aperture-priority AE (f/16, 8 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ด้านบนเป็นภาพที่โล่งกว้างซึ่งปกคลุมไปด้วยหมอกยามเช้า ฉันพบต้นไม้ที่มีรูปทรงสวยงามและได้นำมาเป็นตัวแบบหลัก จากนั้นก็ปรับตำแหน่งการถ่ายภาพให้ได้สมดุลโดยที่บรรดาต้นเบิชถูกรายล้อมไปด้วยหมอกขาวอยู่ในแบ็คกราวด์
ฉากและวิธีการที่ใช้
ในฉากนี้เป็นที่โล่งกว้างซึ่งปกคลุมไปด้วยหมอกยามเช้าลอยตัวเหนือพื้นดินราวหนึ่งเมตร ฉันรู้สึกทึ่งมากๆ เพราะภาพที่เห็นนั้นราวกับว่ามีการใช้ฟิลเตอร์ซอฟต์โฟกัสเฉพาะที่บริเวณโคนต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันต้องการถ่ายทอดบนภาพถ่าย
ขณะที่ถ่ายภาพในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น บรรยากาศโดยรอบยังดำมืด ฉันจึงใช้ขาตั้งกล้องเพื่อลดจุดสีรบกวนและการสั่นไหวของกล้อง และจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้โหมด Live View
หลังการจัดองค์ประกอบภาพ ฉันเลือกต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีทรงพุ่มสวยงามให้เป็นวัตถุกึ่งกลางเฟรม จากนั้น ลดรูรับแสงให้ได้ช่วงความชัดลึกมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถถ่ายทอดภาพที่ราบสูงซึ่งปกคลุมไปด้วยหมอกยามเช้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ฉันระวังที่จะไม่ให้มีท้องฟ้าสีขาวอยู่ในเฟรมซึ่งอาจดึงความสนใจไปจากภาพได้ โดยเน้นจัดองค์ประกอบภาพให้แสงซิลูเอตต์ที่เกิดจากลำต้นของต้นไม้อยู่ที่กึ่งกลางภาพเพื่อให้องค์ประกอบภาพดูเรียบง่ายแต่หนักแน่น การทำเช่นนี้จะช่วยถ่ายทอดบรรยากาศอันเงียบสงบซึ่งเป็นธีมหลักของภาพ
จุดที่ 1: ใช้ f/16 สร้างภาพให้ดูมีมิติความลึก
ความเปรียบต่างคุณภาพต่ำที่เกิดจากหมอกนี้อาจทำให้ภาพดูจืดชืด ซึ่งในการทำให้ภาพดูมีมิติความลึกจะต้องแน่ใจว่าสามารถเก็บภาพเหล่าต้นไม้ที่ปกคลุมไปด้วยหมอกในแบ็คกราวด์ไว้ได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับต้นไม้ในโฟร์กราวด์ เนื่องจากใช้โหมด Aperture-priority AE ฉันจึงลดค่ารูรับแสงให้อยู่ที่ f/16 ซึ่งจะลดความเร็วของชัตเตอร์ลงด้วย ช่วยให้สามารถถ่ายทอดบรรยากาศที่มีม่านหมอกล่องลอยปกคลุมได้
จุดที่ 2: ชดเชยการได้รับแสงน้อยเกินไปด้วย EV+0.3
หากมีหมอกอยู่ในเฟรมอาจทำให้ภาพดูมืดเกินไป ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณควรใช้การชดเชยแสงเพิ่ม สิ่งสำคัญอยู่ที่การเน้นแสงสว่างของหมอก เนื่องจากความเร็วของชัตเตอร์จะลดลง จึงควรใช้ขาตั้งกล้องเพื่อป้องกันไม่ให้ภาพเบลอ
จุดที่ 3: ใช้ สมดุลแสงขาว (แสงแดด) เพื่อถ่ายทอดให้เห็นความเขียวขจีของต้นไม้
ใช้ WB (แสงแดด) ในการสร้างสีสันสดใสให้กับที่โล่งกว้างในช่วงเช้าตรู่ หากใช้ "เมฆครึ้ม" หรือ "แสงในร่ม" โทนสีเหลืองจะเด่นชัดขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเป็นภาพที่ถ่ายในช่วงเย็น แต่หากถ่ายภาพโดยใช้ "หลอดฟลูออเรสเซนต์" หรือ "หลอดไฟทังสเตน" โทนสีน้ำเงินจะเด่นชัด ทำให้ภาพดูไม่เป็นธรรมชาติ การเลือก "แสงแดด" จะเพิ่มโทนสีน้ำเงินเพียงเล็กน้อย ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ภาพดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
เคล็ดลับ: หมอกยามเช้ามักเกิดในที่ราบสูง
มีหมอกหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีสาเหตุของการเกิดและรูปแบบที่แตกต่างกัน ในทุ่งหญ้าบนที่ราบสูงอย่างในภาพนี้ อุณหภูมิปรับเปลี่ยนรุนแรง จึงมีหมอกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากในขณะที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นเกิดความร้อนที่ทำให้น้ำค้างบนหญ้าระเหยกลายเป็นหมอก การถ่ายภาพท่ามกลางม่านหมอกเช่นนี้อาจทำให้เปียกได้ จึงควรเตรียมเสื้อผ้ากันน้ำและรองเท้าบูทไปด้วย
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
EF70-200mm f/4L IS USM
Rika เป็นช่างภาพทิวทัศน์ที่เริ่มต้นจากการถ่ายภาพเป็นกิจกรรมยามว่างตั้งแต่ปี 2004 และเริ่มดูแลเว็บไซต์แชร์ภาพถ่ายในปี 2007 เธอเรียนรู้การถ่ายภาพจากช่างภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอย่าง Yoshiteru Takahashi ก่อนจะผันตัวเป็นช่างภาพอิสระ นับแต่นั้นมา เธอก็ได้ถ่ายภาพทิวทัศน์หลากหลายรูปแบบทั่วญี่ปุ่น (รวมถึงต่างประเทศด้วย)
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation