หลังจากการทำอาหารอันสนุกสนาน คุณอาจจะอยากถ่ายภาพอาหารที่เพิ่งทำเสร็จไว้ชื่นชม อย่างไรก็ตาม การถ่ายอาหารหลายๆ จานในภาพเดียวนับว่าเป็นเรื่องท้าทาย ในบทความนี้ ผมจะแนะนำขั้นตอนการจัดองค์ประกอบภาพบนโต๊ะอาหารให้สวยงาม มาดูประเด็นสำคัญๆ ที่ควรรู้จากภาพเหล่านี้ซึ่งถ่ายมาจากหลายๆ มุม (เรื่องโดย: Teppei Kohno)
FL: 50 มม./ Manual (f/5.6, 1/50 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ขั้นตอนที่ 1: วางจานอาหารไว้ใกล้หน้าต่างและตรวจดูว่าภาพออกมาแน่นเกินไปหรือเปล่า
ผมถ่ายภาพโดยใช้แสงที่ส่องมาจากหน้าต่างทางด้านซ้าย ซึ่งตรงนี้ ผมเลือกวางในตำแหน่งที่วัตถุจะไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง จานเหล่านี้ได้รับแสงเท่ากันโดยไม่มีเงาที่ชัดเจนเกิดขึ้น
ผมตั้งทางยาวโฟกัสของเลนส์ไว้ที่ 50 มม. เนื่องจากมีหลายอย่างที่ต้องถ่าย ภาพจึงดูแน่นเมื่อผมพยายามจะใส่ทุกอย่างไว้ในองค์ประกอบภาพโดยไม่ปรับตำแหน่งเลย
ขั้นตอนที่ 2: กำหนดวัตถุหลักและวัตถุรอง จากนั้นจัดตำแหน่งใหม่ตามที่จำเป็น
เมื่อมีของหลายอย่างที่คุณต้องการรวมไว้ในภาพเดียว การจัดองค์ประกอบจะง่ายกว่าหากคุณแยกวัตถุหลักออกมาได้ก่อน ตรงนี้ผมให้จานหลัก (ไก่) เป็นวัตถุหลักและจัดตำแหน่งวัตถุรองในพื้นที่ที่เหลือ
ขั้นตอนที่ 3: ถ่ายจากด้านบนตรงๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปทรงของจานที่น่าสนใจ
ในขณะที่ขั้นตอนที่ 2 นั้นอาจจะเป็นการวัดวางองค์ประกอบที่สมบูรณ์ ผมลองถ่ายจากอีกมุมหนึ่งในขั้นตอนที่ 3 เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นวัตถุทั้งหมดได้ชัดเจนนัก ผมถ่ายจากด้านบนตรงๆ เพื่อดึงเอาความเหมือนระหว่างรูปร่างของวัตถุและจานออกมา ตอนนี้ทุกจานสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และยังจัดวางอย่างมีจังหวะจะโคนด้วย
ขั้นตอนที่ 4: ใส่ใจกับการจัดวางแนวตั้งและแนวนอนในขณะที่คุณออกแบบองค์ประกอบภาพ
จากนั้นผมจัดตำแหน่งจานใหม่โดยให้ความสนใจกับการวางตัวในแนวตั้งและแนวนอนมากขึ้น หากเทียบกับลักษณะที่ดูกระจัดกระจายในขั้นตอนที่ 3 จะเห็นว่าภาพนี้ดูเรียบร้อยกว่า แสดงให้เห็นถึงการจัดวางที่ออกแบบมาอย่างดี ตัวอย่างเหล่านี้ช่วยเปิดมุมมองในการถ่ายภาพจานอาหารให้กับคุณ
เคล็ดลับเพิ่มเติมในการใช้มุมกล้องให้ได้ผลดี
ดังที่ได้แสดงในขั้นตอนข้างต้นแล้วว่ามุมกล้องนั้นมีบทบาทสำคัญมากกับการถ่ายภาพอาหาร แนวคิดหลักๆ ก็คือการสร้างมิติโดยการถ่ายวัตถุจากด้านบนที่มุม 45 องศา ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสายตาเวลาที่เรากำลังจะรับประทานอาหาร การทำเช่นนี้จะทำให้ภาพดูสมจริงมากขึ้น
ดังนั้น มุมที่เล็งลงต่ำอย่างในตัวอย่างสุดท้ายจึงให้ผลตรงกันข้าม ตรงนี้ผมตั้งใจตัดเรื่องมิติออกไปโดยการถ่ายวัตถุจากระนาบที่ขนานกัน วัตถุทุกอย่างจึงถือเป็นวัตถุหลักในภาพนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้ภาพอาหารที่ดูน่าทานเท่านั้น แต่ยังดูน่ารักด้วย การวางองค์ประกอบแบบนี้ช่วยดึงเสน่ห์ของจานอาหารเหล่านี้ออกมา
การถ่ายภาพจากด้านบนตรงๆ แบบนี้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องถือกล้องให้ขนานกับวัตถุในขณะที่คุณถือกล้องถ่ายด้วยมือ ด้วยการทำเช่นนี้ คุณจะสามารถสร้างความรู้สึกสงบในภาพได้ ควรทราบด้วยว่าภาพอาจมีองค์ประกอบที่ไม่สมดุลหากจานอาหารถูกครอปได้ไม่ดี ฉะนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ควรใส่ใจก็คือการวางองค์ประกอบของภาพนั่นเอง
[เคล็ดลับ] คำนึงถึงสีพื้นหลังในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุด้วย
สีของพื้นหลังมีบทบาทสำคัญมากในการถ่ายภาพบนโต๊ะอาหาร หากคุณเลือกพื้นหลังเป็นโทนสีเทา สีที่ใกล้เคียงกับจานและอาหารจะทำให้ภาพขาดความเปรียบต่างที่ดี หากเทียบกันแล้ว การเลือกโทนสีฟ้าจะช่วยให้วัตถุเด่นออกมาอย่างง่ายดาย ระหว่างการถ่าย ลองให้น้ำหนักเท่ากันทั้งกับการจัดวางวัตถุและการเลือกสีพื้นหลัง
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย