ตัวเลือกสำหรับการถ่ายภาพซ้อนของกล้อง EOS 6D ทำให้การถ่ายทอดภาพเชิงศิลป์ที่สวยงามน่าทึ่งเป็นไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการที่คุณนำไปใช้ ในส่วนนี้ ผมจะนำเสนอเทคนิคเจ๋งๆ ในการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ (เรื่องโดย: Teppei Kouno)
ไม่จำเป็นต้องคำนวณการเปิดรับแสงเมื่อใช้ [เฉลี่ย]
คุณสมบัติการถ่ายภาพซ้อนซึ่งสร้างภาพโดยการซ้อนภาพที่มีระดับแสงต่างกันเข้าด้วยกัน เป็นเทคนิคในการสร้างภาพถ่ายแบบหนึ่งซึ่งจะเปิดโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์สำหรับภาพถ่ายของคุณได้เป็นอย่างดี กล้อง EOS 6D มาพร้อมตัวเลือกการถ่ายภาพซ้อน 2 ประเภท ได้แก่ [เติมแต่ง] และ [เฉลี่ย] ในส่วนต่อไปนี้ ผมจะอธิบายวิธีต่างๆ ในการทำภาพถ่ายซ้อนโดยใช้ตัวเลือก [เฉลี่ย] โดยทั่วไป ภาพภาพหนึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อมีภาพอื่นๆ ที่มีแสงต่างกันมาวางซ้อนทับ ดังนั้น ผู้ใช้จะต้องลดการเปิดรับแสงเอง ซึ่งนี่เป็นวิธีการทำงานของตัวเลือก [เติมแต่ง] แต่สำหรับตัวเลือก [เฉลี่ย] กล้องจะกำหนดความสว่างที่เหมาะสมที่สุดให้โดยอัตโนมัติตามจำนวนภาพที่นำมาผสานกัน จึงช่วยให้ช่างภาพสามารถจดจ่ออยู่กับการเลือกสรรตัวแบบและกระบวนการผสานภาพได้โดยไม่ต้องมัวกังวลกับการเปิดรับแสงมากนัก สำหรับผู้ที่เพิ่งลองใช้งานคุณสมบัตินี้เป็นครั้งแรก [เฉลี่ย] เป็นตัวเลือกที่ง่ายต่อการใช้งานมากกว่า
ประเด็นสำคัญในการถ่ายภาพซ้อนอยู่ที่เนื้อหาของภาพถ่าย หรือ ตัวแบบ นั่นเอง โดยปกติ การนำภาพธรรมดาๆ มาผสานกันอาจจะทำได้ง่ายกว่า ตัวเลือกที่ใช้ได้ดีเยี่ยมอาจเป็นภาพที่ดูเหมือนขาดพลังอะไรซักอย่างในภาพนั้น นอกจากนี้ ตัวแบบที่มีธีมชัดเจนยังช่วยให้สามารถสร้างภาพได้ตามที่ต้องการด้วย ตัวอย่างเช่น คุณอาจสร้างเอฟเฟ็กต์ตามจินตนาการโดยวางภาพดอกไม้ ผู้คน สัตว์ และตัวแบบอื่นๆ ซ้อนทับกันโดยมีแบ็คกราวด์ธรรมดาๆ ด้านหลัง อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวแบบที่มีลักษณะเด่นชัดอยู่แล้ว คุณควรให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบภาพด้วย การปรับรูปแบบการวางตัวแบบย่อมเปลี่ยนความรู้สึกของภาพไปอย่างสิ้นเชิง พึงระลึกอีกสิ่งหนึ่งว่า ตัวแบบสีดำ (มืด) อาจสะท้อนในภาพถ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าตัวแบบสีขาว (สว่าง) กรณีภาพถ่ายแบบซิลูเอตต์ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ คุณสามารถสร้างโลกใบใหม่ที่มีความพิเศษแตกต่างออกไป โดยให้ภาพอีกภาพเด่นขึ้นจากส่วนเงามืด
วางซ้อนด้วยตัวแบบที่มีลักษณะเด่นชัด
EF17-40mm f/4L USM/ FL: 40 มม./ Aperture-priority AE (1/640 วินาที, f/5.6)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ภาพที่มีสีและรูปทรงเรียบง่ายและมีตัวแบบหลักชัดเจนจะนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ภาพซ้อนได้ง่ายมาก อย่างไรก็ตาม จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่าภาพเหล่านั้นวางซ้อนทับกันอย่างไร ในภาพนี้ ผมซ้อนภาพสองภาพเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์สมมาตร ซึ่งเพิ่มความรู้สึกน่าอัศจรรย์ใจให้กับภาพที่ออกมา
การซ้อนภาพที่ไม่เข้ากันทำให้ภาพขาดสมดุล
EF17-40mm f/4L USM/ FL: 40 มม./ Aperture-priority AE (1/800 วินาที, f/5.6)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
พื้นถนนที่ส่วนขวาของภาพแรกทำให้การจัดองค์ประกอบภาพในภาพซ้อนดูระเกะระกะ ทำให้รูปแบบการซ้อนของภาพทั้งสองดูห่างไกลจากความตั้งใจอย่างมาก แม้ว่ากล้อง EOS 6D จะให้เราผสานภาพได้สูงสุดถึง 9 ภาพ แต่หากคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว ขอแนะนำให้คุณซ้อนเพียงสองภาพก็พอในขั้นเริ่มต้น
สร้างส่วนเงามืดแล้วซ้อนทับด้วยอีกภาพ
EF85mm f/1.2L USM/ FL: 85 มม./ Aperture-priority AE (1/4,000 วินาที, f/4.5)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ในการถ่ายภาพซ้อน มักจะใช้วิธีซ้อนภาพอีกภาพหนึ่งลงบนภาพแรกที่มีส่วนเงามืด ซึ่งทำได้ง่ายกว่า ในภาพนี้ สันเขาถูกถ่ายในสไตล์ซิลูเอตต์แบบมืดทึบ แล้วผมก็วางภาพที่เต็มไปด้วยเม็ดทรายริมฝั่งทะเลซ้อนทับลงไป ผลที่ได้คือ ภาพที่มีลักษณะคล้ายกับภาพสะท้อนของภูเขาบนผืนน้ำ ด้วยพื้นที่เงามืดที่มืดทึบเหมือนอย่างในภาพแรกนี้ อีกภาพจึงโดดเด่นมีมิติขึ้นได้เมื่อนำมาวางซ้อนกัน
ภาพที่สองจะดูไม่โดดเด่นหากพื้นที่เงาในภาพแรกไม่ทึบเพียงพอ
EF17-40mm f/4L USM/ FL: 40 มม./ Aperture-priority AE (1/640 วินาที, f/5.6)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ภาพหลักซึ่งยังมืดไม่พอจึงไม่ช่วยขับเน้นภาพที่สองให้เด่นขึ้นเมื่อนำมาวางซ้อนกัน ในภาพนี้ เราแทบมองภาพทิวทัศน์ภาพที่สองไม่ออกเลยจากผลของภาพซ้อนที่ได้ เมื่อใช้กล้อง EOS 6D คุณสามารถใช้ภาพ RAW เป็นภาพแรกในการสร้างภาพถ่ายซ้อนได้ ซึ่งคงจะดีไม่น้อยที่จะถ่ายภาพอย่างภาพซิลูเอตต์เหมือนในตัวอย่างด้านบนเป็นภาพ RAW เพื่อจะสามารถนำมาใช้สร้างสรรค์ภาพซ้อนได้ในภายหลัง
เกิดในโตเกียว ปี 1976 Kouno เรียนรู้การถ่ายภาพจากช่างภาพ Masato Terauchi หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และทำงานเป็นช่างภาพอิสระตั้งแต่ปี 2003
http://fantastic-teppy.chips.jp