รีวิวทดสอบการถ่ายภาพด้วยกล้อง EOS 80D: ประสิทธิภาพในการติดตามตัวแบบระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหว
EOS 80D คือกล้องระดับกลางที่ให้คุณถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในกล้องตัวเดียว โปรดติดตามอ่านบทความที่ผมจะเล่าถึงความประทับใจครั้งแรกที่มีต่อประสิทธิภาพในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ที่ทัดเทียมกับการถ่ายจากกล้องวิดีโอ เนื่องมาจากมีการพัฒนาระบบโฟกัสให้ดียิ่งขึ้น (บรรณาธิการโดย: Video Salon)
ระบบเลนส์ที่พัฒนาขึ้นใหม่สำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว
เช่นเดียวกับกล้อง EOS DSLR ระดับกลางรุ่นใหม่ของ Canon กล้อง EOS 80D มาพร้อม Dual Pixel CMOS AF ที่ให้โฟกัสอัตโนมัติที่ราบรื่น และสามารถติดตามตัวแบบระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ อีกทั้งยังรองรับ Full HD 50p/60p และ AF สามารถใช้งานร่วมกับเลนส์ EF STM ได้ทุกรุ่น
เลนส์ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM เปิดตัวควบคู่ไปกับการเผยโฉมกล้อง EOS 80D โดยเลนส์ซูมใหม่นี้มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น S tepping motor (STM) ซึ่งมีระบบโฟกัสอัตโนมัติสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่เงียบและราบเรียบนุ่มนวล รวมทั้งเทคโนโลยีมอเตอร์อัลตร้าโซนิค (USM) ที่สามารถโฟกัสอัตโนมัติที่ความเร็วสูงระหว่างการถ่ายภาพนิ่งได้ นอกจากนี้ เลนส์นี้ยังสามารถใช้ร่วมกับ Power Zoom Adapter PZ-E1 ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าได้อีกด้วย ด้วยคุณสมบัติเด่นทั้งหมดนี้ จึงพิสูจน์แล้วว่าเลนส์ชิ้นนี้ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงการถ่ายภาพเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ
EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM ใหม่ติดตั้งเทคโนโลยี Nano USM ที่พัฒนาขึ้นใหม่สำหรับการโฟกัสอัตโนมัติความเร็วสูงและการทำงานที่ราบเรียบนุ่มนวลจนแทบจะไร้เสียง AF สามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นถึง 4.3 เท่าที่ฝั่งเทเลโฟโต้ เมื่อเปรียบเทียบกับเลนส์รุ่นก่อน
Power Zoom Adapter PZ-E1 ได้รับการออกแบบมาสำหรับเลนส์ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM มาพร้อมกับการซูมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ระดับความเร็วในการซูม 10 ระดับ และสามารถควบคุมระยะไกลได้ผ่านแอปเฉพาะบนสมาร์ทโฟน ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ AAA จำนวน 4 ก้อน
Directional Stereo Microphone DM-E1 ที่เปิดตัวใหม่ล่าสุดของ Canon ออกแบบมาเพื่อต่อเข้ากับกล้อง โดดเด่นด้วยโครงสร้างของเมาท์ที่ทนทานต่อแรงกระแทก และมาพร้อมกับอุปกรณ์กันเสียงรบกวน คุณสมบัติทิศทาง: 90°/120°
ความประทับใจแรก
ภาพเคลื่อนไหวด้วยกล้อง DSLR อยู่ในระดับเดียวกับภาพในกล้องวิดีโอ
คุณสมบัติอันเป็นเอกลักษณ์ของ EOS 80D อยู่ที่ประสิทธิภาพการทำงานของ AF ที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้คุณสามารถติดตามตัวแบบได้อย่างใกล้ชิดแม้ขณะถ่ายภาพเคลื่อนไหว AF ระบบ Phase Difference ถูกนำมาใช้เพื่อจับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วขณะถ่ายภาพ แต่ในการถ่ายภาพแบบ Live View ซึ่งใช้ Contrast AF อาจมีปัญหาในเรื่องของความล่าช้า เซนเซอร์ Dual Pixel จึงได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ และผลลัพธ์ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วในกล้อง EOS 70D และ EOS 7D Mark II
ใน EOS 80D ระบบ Movie Servo AF ยังสามารถใช้ร่วมกับเลนส์ EF ได้ทุกรุ่น ทำให้สามารถติดตามตัวแบบอย่างต่อเนื่องด้วย AF ได้ ช่างภาพจึงอาจพบว่าตนเองรังสรรค์งานถ่ายภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจาก AF ของกล้อง EOS 80D สามารถติดตามได้แม้กระทั่งนกตัวเล็กๆ ซึ่งปกติแล้วจะติดตามได้ยากกว่าตัวแบบที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างเช่นหงส์ จึงอาจนับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อนในการทำให้ภาพเคลื่อนไหวของกล้อง DSLR มีประสิทธิภาพทัดเทียมภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวิดีโอ
ในท้องตลาดอาจมีกล้องต่างๆ มากมายที่อ้างว่าสามารถจับภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้ดีไม่แพ้กัน แต่ทุกรุ่นมักมีดีแค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผมเชื่อมั่นว่า EOS 80D คือหนึ่งในกล้องรุ่นที่สามารถถ่ายภาพทั้งสองอย่างได้ (เรื่องโดย: Yasushi Sugawara)
ภาพถ่ายหงส์และนกกระเต็นคือภาพที่ดึงมาจากภาพเคลื่อนไหวระดับ HD แม้ว่าภาพจะถูกถ่ายโดยมีแสงจากทางด้านหลัง เรายังสามารถถ่ายภาพมุมกว้างที่มีช่วงไดนามิกได้ อันเนื่องมาจากเซนเซอร์ขนาด APS-C
การใช้งานหน้าจอสัมผัสยอดเยี่ยมสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว
เนื่องจากวงแหวนควบคุมออกจะฝืดๆ ขณะทำการหมุน การใช้งานระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหวจึงอาจทำให้เกิดปัญหากล้องสั่นได้ หน้าจอสัมผัสแบบคาพาซิทีฟจึงช่วยลดการสั่นสะเทือนให้เหลือน้อยที่สุด ทางที่ดีควรหมั่นฝึกฝนทักษะการหมุนอย่างสม่ำเสมอและรวดเร็วก่อนที่จะเริ่มถ่ายภาพ จากนั้นควรใช้หน้าจอสัมผัสขณะถ่ายภาพ การใช้งานโดยไม่มีปัญหากล้องสั่นสามารถทำได้แม้ว่าจะใช้เลนส์เทเลโฟโต้ 1600 มม.ก็ตาม
AF ที่วางใจได้แม้ต้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วยกล้อง DSLR
โหมดการเลือกพื้นที่ AF (ซ้าย) Movie Servo AF ที่หยุดชั่วคราว (ขวา)
ฟังก์ชั่น HDR ที่ใช้งานได้แม้ถ่ายภาพเคลื่อนไหว
แม้ว่า HDR (High Dynamic Range) สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพนิ่งโดยการผสมผสานภาพเข้าด้วยกัน แต่ผลที่ออกมานั้นยังไม่น่าพอใจสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว EOS 80D มีฟังก์ชั่นการถ่ายภาพเคลื่อนไหว HDR สำหรับควบคุมแสงพื้นหลัง ซึ่งจะช่วยลดบริเวณที่สว่างของภาพ ซึ่งผมพบว่ามีประโยชน์มากกว่าเอฟเฟ็กต์ HDR ปกติ
(ด้านบน: หน้าจอในโหมดถ่ายภาพเคลื่อนไหว HDR)
ฟังก์ชั่น Time Lapse ที่พัฒนาให้ดีขึ้น
แม้ว่าการถ่ายภาพนิ่งแบบ Time-Lapse โดยทั่วไปจะถูกจัดเก็บในรูปแบบของภาพถ่าย แต่ภาพเคลื่อนไหวแบบ Time-Lapse สามารถนำไปรวมกับภาพเคลื่อนไหวและบันทึกไว้เพื่อให้คุณสามารถประมวลภาพในเครื่องพีซีได้
*กล้องที่ใช้ในบทความนี้เป็นกล้องรุ่นทดลองที่ผลิตขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โปรดทราบว่า ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์จริงในแง่ของรูปลักษณ์กล้อง คุณภาพของภาพถ่าย และอื่นๆ
ข้อมูลจำเพาะ
เมาท์:
เมาท์ของเลนส์ EF Canon
สื่อบันทึก:
SD/SDHC/SDXC
เซนเซอร์ภาพ:
ขนาด APS-C ประมาณ 24.2 ล้านพิกเซล (ติดตั้ง Dual Pixel CMOS AF)
ความไวแสง ISO:
ความไวแสงปกติ ISO 100-16000 (ขยายถึง 25600)
ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง:
ประมาณ 7 ภาพ/วินาที (ความเร็วสูง)
ประมาณ 3 ภาพ/วินาที (ความเร็วต่ำ)
ประมาณ 3 ภาพ/วินาที (โหมดถ่ายภาพแบบเงียบ)
รูปแบบการบันทึกภาพเคลื่อนไหว:
Full HD MOV/MP4:MPEG4 AVC/H.264 (ALL-I เฉพาะสำหรับการถ่าย MOV)
คุณภาพวิดีโอสูงสุด/อัตราเฟรม:
ประมาณ 90Mbps สำหรับ Full HD MOV (1920×1080) 50p/60p ALL-I, ประมาณ 60Mbps สำหรับ Full HD MP4 (1920×1080) 50p/60p
เวลาในการบันทึกภาพสูงสุดต่อคลิป:
ประมาณ 29 นาที 59 วินาที
การถ่ายภาพเคลื่อนไหวแบบ HDR:
Full HD
การซูมสำหรับบันทึกภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอล:
ประมาณ 3 เท่า - 10 เท่า
แบตเตอรี่:
LP-E6N, LP-E6
ไทม์โค้ด:
สามารถทำได้ (Rec Run/Free Run ที่เลือกใช้งานได้, drop frame/non-drop frame ที่เลือกใช้งานได้)
จอภาพ LCD:
หน้าจอสัมผัสแบบปรับหมุนได้
Wi-Fi:
ในตัว (ใช้งานร่วมกับ NFC ได้)
EOS 80D Kit II (EF-S18-135mm IS USM)
Yasushi Sugawara
ถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมทั้งนก แมลง และพืช โดยใช้เทคนิคพิเศษ เช่น การตั้งเวลาเป็นระยะ การถ่ายภาพความเร็วสูง และภาพสามมิติ ถ่ายฟุตเทจวิดีโอสำหรับรายการโทรทัศน์ ผลิตวิดีโอสำหรับนิทรรศการ เขียนคอลัมน์ลงในนิตยสารหลายเล่ม และยังทำงานอื่นๆ อีกหลายอย่าง และยังเป็นสมาชิกของ Society of Scientific Photography ได้รับรางวัล EARTH VISION จากงาน Global Environmental Film Festival (ปี 2000) และรางวัล Japan Wildlife Film Festival (ปี 2001)
Video Salon
Video Salon เริ่มตีพิมพ์ในปี 1980 และเป็นนิตยสารเฉพาะทางเกี่ยวกับอุปกรณ์การบันทึกภาพวิดีโอเพียงหนึ่งเดียวในประเทศญี่ปุ่น เหมาะสำหรับผู้อ่านที่เป็นทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ Video Salon ไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงในด้านข้อมูลเกี่ยวกับกล้องถ่ายวิดีโอและซอฟต์แวร์ตัดต่อ แต่ยังเป็นที่รู้จักในการทำรีวิวการบันทึกภาพวิดีโอด้วยกล้อง DSLR ใหม่ล่าสุดและเคล็ดลับต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญและบทเรียนให้ความรู้
พิมพ์โดย GENKOSHA Co., Ltd