กล้อง EOS 7D Mark II ให้ภาพถ่ายแบบไหน และช่วยเปลี่ยนโฉมการถ่ายแบบเดิมๆ อย่างไร? บทความนี้นำเสนอความประทับใจครั้งแรกเมื่อใช้กล้อง EOS 7D Mark II จากมุมมองของช่างภาพกีฬาแข่งรถ (เรื่องโดย: Naoki Kobayashi)
พกพาสะดวกขึ้นมากด้วยน้ำหนักที่เบาและบอดี้กล้องขนาดเล็ก
สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งในครั้งแรกที่จับกล้อง EOS 7D Mark II คือ น้ำหนักเบาและขนาดของบอดี้กล้องที่เล็กพอเหมาะ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงความแข็งแรงทนทานเมื่อผมถือกล้องไว้ในมือ ให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้น
ในฐานะช่างภาพการแข่งแรลลี่ ผมถ่ายภาพรถยนต์แรลลี่ที่ผ่านการแข่งขันที่โหดที่สุดในโลกมาหลายสนาม กล้อง EOS 7D Mark II ได้รับความสนใจมาก ในฐานะกล้องที่มีประสิทธิภาพการทำงานในระดับที่ชาญฉลาด ซึ่งจำเป็นต่อการถ่ายภาพการแข่งขันแรลลี่ คุณสมบัติแรกที่น่าจับตามอง คือ ต้านทานฝุ่นละอองและความชื้น เมื่อเราต้องออกถ่ายภาพในสภาพแวดล้อมที่สมบุกสมบัน เช่น ในที่ที่มีฝุ่นหรือน้ำกระเด็นใส่ การเสริมปุ่มปรับการตั้งค่าและวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันเซนเซอร์จากฝุ่นละอองเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญ อีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ ประสิทธิภาพในการถ่ายภาพต่อเนื่องที่โดดเด่น ซึ่งจำเป็นสำหรับการติดตามการเคลื่อนไหวของตัวแบบที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว แม้การถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุดที่ประมาณ 10 ภาพต่อวินาทีอาจด้อยกว่ากล้อง EOS-1D X แต่ก็เพียงพอสำหรับการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถ นอกจากนี้ ผมยังชอบสัมผัสอันเฉียบคมที่ผมได้รับเมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ รวมถึงประสิทธิภาพในการติดตามตัวแบบที่เคลื่อนไหวยังพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับ EOS 7D โหมดการเลือกพื้นที่ AF มอบตัวเลือกที่หลากหลายขึ้นโดยเพิ่มโหมด Large Zone AF ใหม่เข้ามา ขณะที่การควบคุมต่างๆ ของกล้องยังคงสอดคล้องกับกล้อง Canon รุ่นอื่นๆ กริปของกล้องให้คุณจับถือกล้องทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ช่องมองภาพที่ครอบคลุมถึงประมาณ 100% ยังให้ภาพสว่างคมชัด
หากต้องพูดถึงจุดที่ยังพัฒนาต่อไปอีกได้ ผมคงขอว่า บอดี้กล้องน่าจะมีน้ำหนักมากกว่านี้อีกนิดหากพิจารณาถึงสมดุลน้ำหนักเมื่อต่อเข้ากับเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีทางยาวโฟกัส 300 มม. ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจไม่ได้รับการตอบรับนัก เพราะการมีบอดี้กล้องที่น้ำหนักเบามีข้อได้เปรียบมากกว่า สำหรับช่างภาพอาชีพที่ต้องแขวนกล้องถึงสองตัวรอบคออยู่ตลอด น้ำหนักที่เบาของกล้อง EOS 7D Mark II เป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจทีเดียว ช่างภาพหลายคนในปัจจุบันใช้กล้อง EOS 7D ในการถ่ายภาพการแข่งขันแรลลี่ แต่เมื่อกล้อง EOS 7D Mark II เปิดตัว คาดว่าความต้องการที่จะเป็นเจ้าของกล้องรุ่นใหม่นี้อาจเพิ่มขึ้นอีก
EF16-35mm f/4L IS USM/ FL:16mm (เทียบเท่า 26 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Manual exposure (1/500 วินาที, f/7.1)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ/ AI Servo AF/ AF จุดเล็กจุดเดียว
ในภาพนี้ ผมใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ EF16-35mm f/4L IS USM เพื่อถ่ายภาพจากตำแหน่งที่ใกล้กับรถแข่ง ด้วยความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุดที่ประมาณ 10 ภาพต่อวินาทีและความคมชัดของภาพในช่องมองภาพ ผมจึงสามารถสร้างอารมณ์ภาพที่หนักแน่นชัดเจนได้อย่างที่ตั้งใจ
EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL:160mm (เทียบเท่า 256 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Manual exposure (1/500 วินาที, f/8)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ/ AI Servo AF/ AF จุดเล็กจุดเดียว
ด้วย AI Servo AF ที่ใช้จับโฟกัสบนหลังรถยนต์แรลลี่คันนี้ กล้องเผยให้เห็นพลังอันยอดเยี่ยมในการติดตามรถคันนี้ที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ โดยจับภาพจังหวะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันขณะที่รถยนต์คันนี้เตะฝุ่นกระจุยกระจาย
คุณสมบัติเด่น
AI Servo AF
ความแม่นยำสูงในการติดตามการเคลื่อนที่ที่ฉับไวของยานพาหนะ
AI Servo AF เป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้สำหรับการถ่ายภาพกีฬาแข่งรถ และสำคัญยิ่งกว่านั้นในเวลาที่คุณต้องการถ่ายภาพการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วฉับไวของรถยนต์แรลลี่ ในการถ่ายภาพครั้งนี้ โหมด AI Servo AF ของกล้อง EOS 7D Mark II ยังแสดงให้เห็นถึงความแม่นยำสูงในการรักษาโฟกัสบนตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ ผมรับรู้ได้ถึงประสิทธิภาพในการติดตามตัวแบบที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับ EOS 7D
เลนส์แนะนำ
เลนส์ซูมเทเลโฟโต้+เลนส์ซูมมุมกว้างเพื่อรับมือกับลักษณะภาพแบบต่างๆ ได้หลากหลาย
EF70-200mm f/2.8L IS II USM
นี่เป็นเลนส์ซูมที่ถูกจับมาใช้งานบ่อยที่สุดในการถ่ายภาพรถยนต์แรลลี่ สมดุลดีเยี่ยมเมื่อต่อเข้ากับกล้อง EOS 7D Mark II และเนื่องจากเลนส์นี้ถูกหยิบใช้งานในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการถ่ายภาพอยู่บ่อยครั้ง ผมจึงรู้สึกพอใจที่เลนส์นี้สามารถใช้ซูมปรับทางยาวโฟกัสของภาพได้
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับเลนส์ EF70-200mm f/2.8L IS II USM
EF16-35mm f/4L IS USM
เลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ EF16-35mm เป็นเลนส์ที่ใช้งานสะดวกมาก เมื่อผมต้องการถ่ายภาพรถยนต์แรลลี่โดยมีทิวทัศน์สุดอลังการเป็นฉากหลัง นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผมเข้าใกล้ตัวแบบได้มากที่สุด ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟระดับกลาง คุณสมบัติ IS ยังเป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพแบบถือด้วยมืออีกด้วย
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับเลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM
เกิดที่จังหวัดชิบะในปี 1965 Kobayashi เริ่มต้นถ่ายภาพกีฬาแข่งรถเมื่ออายุ 27 ปี ขณะที่ยังทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ การแข่งขัน Macau GP ในปี 1994 เป็นจุดเริ่มต้นอาชีพของเขาในฐานะช่างภาพอิสระ เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Racing Photographers Association (JRPA)