[ตอนที่ 1] รู้จักท่าทางในการถ่ายภาพที่ถูกต้อง ปรับสีสันและความสว่าง
ด้วยคุณสมบัติ "Smart Auto" ของกล้องตระกูล IXUS ทำให้คุณสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่มีเสน่ห์ได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้หลักพื้นฐานในการถ่ายภาพจะช่วยเพิ่มความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ภาพของคุณได้อีกมาก และทำให้คุณได้รับความเพลิดเพลินกับประสบการณ์การถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น ในบทความต่อไปนี้ ผมจะนำเสนอหลักพื้นฐาน 8 ข้อ ซึ่งคัดสรรแล้วว่าเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน ใน [ตอนที่ 1] นี้ เราจะคุยถึงเรื่องพื้นฐานที่ควรทราบในการใช้งานกล้องคอมแพคท์ดิจิตอล เช่น ท่าทาง การปรับสีสันและความสว่าง (เรื่องโดย: Koichi Isomura)
หน้า: 1 2
ถือกล้องให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ดี
เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกล้องตกระหว่างถ่ายภาพ ให้นำสายคล้องมือมาต่อเข้ากับตัวกล้อง ขณะใช้งาน ให้สอดมือเข้าไปในสายคล้องมือ แล้วถือกล้องด้วยมือทั้งสองข้าง พร้อมกับกดข้อศอกทั้งสองแนบกับลำตัว แม้กล้องรุ่น IXUS จะเบาและกะทัดรัดจนคุณถ่ายภาพด้วยมือเดียวได้ แต่การทำเช่นนั้นอาจทำให้กล้องไม่นิ่ง ส่งผลให้เกิดภาพสั่นไหวในขณะที่คุณลั่นชัตเตอร์ได้ โปรดทราบว่าภาพที่สั่นไหวนั้นจะมีโอกาสเกิดมากขึ้นหากคุณถ่ายภาพในที่แสงน้อย วางนิ้วชี้ของคุณพักไว้หลวมๆ บนปุ่มชัตเตอร์ตลอดเวลา เมื่อต้องการลั่นชัตเตอร์ ให้คุณกดปุ่มลงด้วยปลายนิ้ว
ท่าทางในการถือกล้อง
เมื่อถ่ายภาพแนวนอน
คล้องสายคล้องมือเข้ากับข้อมือของคุณ แล้วถือกล้องให้มั่นคงด้วยมือทั้งสองข้าง วางนิ้วชี้ข้างขวาของคุณพักไว้หลวมๆ บนปุ่มชัตเตอร์ ขณะเดียวกัน คอยระวังไม่ให้มือซ้ายของคุณบังแฟลช วางตำแหน่งกล้องให้อยู่ตรงหน้าคุณพอดี เพื่อคุณจะได้มองเห็นภาพบนหน้าจอ LCD อย่างชัดเจน กดข้อศอกลงเข้าหาลำตัวเพื่อป้องกันปัญหากล้องสั่น
เมื่อถ่ายภาพแนวตั้ง
เพื่อช่วยให้ถือกล้องได้ง่ายขึ้น ให้มือข้างหนึ่งจับที่ด้านบนของตัวกล้อง และถือกล้องให้มั่นคงด้วยมือทั้งสองข้างในแบบเดียวกับเมื่อถ่ายภาพแนวนอน ทำให้กล้องนิ่งด้วยการกดข้อศอกลงเข้าหาลำตัว
มุมต่ำ
ย่ิอตัวลงโดยให้เข่าข้างหนึ่งจรดพื้นเพื่อให้ศูนย์โน้มถ่วงของร่างกายคุณต่ำลง และได้ท่าทางการถ่ายภาพที่มั่นคง ระหว่างที่คุณปรับมุมในการถ่ายภาพ ให้คุณปรับหรือเอียงกล้องโดยไม่เปลี่ยนแปลงท่าทางของร่างกายส่วนบน
แล้วการกดปุ่มชัตเตอร์ทำอย่างไร?
เมื่อคุณถ่ายภาพ ให้คุณกดปุ่มชัตเตอร์เป็นสองขั้นตอน เริ่มจาก "กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง" ตามด้วยการ "กดปุ่มชัตเตอร์ลงเต็มที่" ถ้าหากคุณกดปุ่มชัตเตอร์ลงเต็มที่เลยในครั้งเดียว โดยไม่กดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งก่อน กล้องอาจจะไม่จับโฟกัส และทำให้ภาพออกมาเบลอ
ปุ่มชัตเตอร์ยังไม่ถูกกด ในขั้นนี้ ให้คุณวางนิ้วชี้พักไว้หลวมๆ บนปุ่มชัตเตอร์
การกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งจะทำให้ฟังก์ชั่น AF (ระบบโฟกัสอัตโนมัติ) ของกล้องทำงาน เมื่อปุ่มค้างอยู่ในสถานะนี้ จะมีเสียงบี๊พดังขึ้น เพื่อแจ้งว่ากล้องทำการโฟกัสและวัดแสงเรียบร้อยแล้ว
ปุ่มชัตเตอร์ถูกกดลงเต็มที่ คุณจะได้ยินเสียงชัตเตอร์ และภาพจะถูกบันทึก
การป้องกันอาการ "ภาพสั่นไหว" 2 แบบ
มีเหตุผลหลักๆ สามอย่างที่ทำให้ภาพถ่ายออกมาเบลอ เหตุผลแรก คือ ภาพ "หลุดโฟกัส" หมายความว่ากล้องไม่สามารถจับโฟกัสบนตัวแบบที่ต้องการได้ แต่ในกรณีของกล้อง IXUS การโฟกัสนั้นไม่ซับซ้อน คุณจึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาภาพ "หลุดโฟกัส" มากนัก เหตุผลอีกสองข้อถัดมา คือ "การสั่นไหวของกล้อง" และ "ตัวแบบเบลอ" ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากในที่แสงน้อย เมื่อไม่ใช้แฟลช กล้องสั่น หมายถึง ภาพเบลอเนื่องจากการเคลื่อนไหวของตัวกล้อง เมื่อถ่ายภาพโดยใช้มือถือกล้อง การถือกล้องให้มั่นคงสามารถช่วยป้องกันกล้องสั่นได้ระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่าคุณควรหาวิธีป้องกัน เช่น วางกล้องไว้บนวัสดุที่มั่นคงขณะถ่ายภาพในที่มืด ส่วนตัวแบบเบลอนั้น เกิดขึ้นเมื่้อตัวแบบที่คุณถ่ายภาพเคลื่อนไหวในขณะที่คุณลั่นชัตเตอร์พอดี เมื่อคุณถ่ายภาพในที่แสงน้อยโดยไม่ใช้แฟลช ให้ระมัดระวังดูให้แน่ใจว่าตัวแบบอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว
การป้องกันภาพสั่นไหว
ตั้งโหมด IS มาที่เปิด
ตั้งโหมด IS มาที่ปิด
กล้องรุ่น IXUS เกือบทั้งหมดมาพร้อมกับคุณสมบัติการป้องกันภาพสั่นไหว (IS) แบบเลนส์ชิฟท์ เมื่อตั้ง [โหมด IS] มาที่ [เปิด] อาการสั่นของกล้องในสี่ทิศทางจะได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
การป้องกันตัวแบบเบลอ
เมื่อตัวแบบนิ่งอยู่กับที่
เมื่อตัวแบบเคลื่อนไหว
เมื่อถ่ายภาพในที่แสงน้อยโดยไม่ใช้แฟลช ปัญหาตัวแบบเบลอจะเกิดขึ้นหากตัวแบบเคลื่อนไหวก่อนกระบวนการถ่ายภาพจะเสร็จสิ้น เืพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ พยายามให้ตัวแบบของคุณอยู่ิ่นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้
ปรับสีสันเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ
แสงชนิดต่างๆ ที่เรามักเห็นกันตามปกตินั้นมีหลากหลายสี ตัวอย่างส่วนหนึ่งก็เช่น แสงแดดสีขาว และแสงเทียนสีแดง สีสันของแสงสามารถแสดงเป็นค่าตัวเลขได้ เรียกว่า "อุณหภูมิสี" สำหรับกล้อง IXUS สามารถใช้คุณสมบัติ "สมดุลแสงขาว" เพื่อปรับแก้สีเพี้ยน ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิสีที่แตกต่างกันในแหล่งกำเนิดแสง ให้ถูกต้องได้ โดยเฉพาะตัวเลือก AWB (ค่าสมดุลแสงขาวแบบอัตโนมัติ) มีประโยชน์มาก เพราะจะตรวจสอบชนิดของแหล่งกำเนิดแสงอัตโนมัติ เพื่อถ่ายทอดสีสันให้ใกล้เคียงกับสีที่เราเห็นจริงด้วยตาเปล่า แต่ขณะเดียวกัน คุณก็สามารถขับเน้นความรู้สึกของบรรยากาศในภาพให้ชัดเจนขึ้นไปอีกได้ โดยใช้คุณสมบัติสมดุลแสงขาวเพื่อปรับเปลี่ยนสีสันอย่างจงใจตามฉากถ่ายภาพนั้นๆ
ปรับเปลี่ยนสีสันด้วยการตั้งค่าสมดุลแสงขาว
ค่าสมดุลแสงขาว: อัตโนมัติ
มีแหล่งกำเนิดแสงหลายประเภทอยู่ในห้องที่ถ่ายภาพ เมื่อตั้งค่าสมดุลแสงขาวไปที่ [อัตโนมัติ] กล้องจะตรวจสอบชนิดของแหล่งกำเนิดแสงและความเข้มแสงโดยอัตโนมัติ และถ่ายทอดสีสันให้ใกล้เคียงกับที่ตาเราเห็น
ค่าสมดุลแสงขาว: หลอดไฟทังสเตน
แสงที่เข้มข้นและเด่นชัดที่สุดที่ให้ความสว่างแก่ตัวแบบคือแสงไฟทังสเตน ดังนั้น เมื่อเลือกการตั้งค่า [หลอดไฟทังสเตน] สีสันที่ถ่ายทอดในภาพจึงใกล้เคียงกับสิ่งที่ตาเรามองเ็ห็นมากที่สุด
ค่าสมดุลแสงขาว: แสงแดด
นี่เป็นภาพตัวอย่างเมื่อเลือก [แสงแดด] เพราะการตั้งค่าแตกต่างจากชนิดของแหล่งกำเนิดแสงจริง สีที่เป็นเอกลักษณ์ของหลอดไฟจึงไม่สามารถแก้ไขได้ และภาพที่ออกมาจึงมีโทนสีเหลือง
เปลี่ยนสีภาพอย่างจงใจ
ค่าสมดุลแสงขาว: อัตโนมัติ (A)
ค่าสมดุลแสงขาว: แสงแดด (B)
ค่าสมดุลแสงขาว: แสงไฟฟลูออเรสเซนต์ (C)
ค่าสมดุลแสงขาว: แสงแดด (D)
ดังที่แสดงในภาพตัวอย่าง (B) หากคุณต้องการสร้างบรรยากาศอีกแบบหนึ่งให้กับภาพโดยใช้สีของหลอดไฟ คุณสามารถตั้งค่าสมดุลแสงขาวไปที่ [แสงแดด] อย่างจงใจ เพื่อเพิ่มสีเหลืองให้กับภาพ แทนที่จะใช้การตั้งค่า [อัตโนมัติ] ดังในตัวอย่าง (A) ที่ถ่ายทอดสีของภาพตามจริง เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้ได้กับกรณีที่คุณถ่ายภาพอาหารในที่ร่ม หรือภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน ในภาพตัวอย่าง (C) และ (D) ผมถ่ายภาพอาคารซึ่งสว่างด้วยแสงไฟฟลูออเรสเซนต์ โดยใช้การตั้งค่าสมดุลแสงขาวที่แตกต่างกัน การตั้งค่าสำหรับภาพ (C) นั้นใกล้เคียงกับสีที่ผมมองเห็นมากที่สุด เมื่อตั้งค่าแบบ [แสงแดด] ตามตัวอย่าง (D) โทนสีเหลืองแดงช่วยเติมโทนอุ่นของสีให้กับภาพถ่าย
การแก้ไขให้ได้ความสว่างตามที่ต้องการ
กล้อง IXUS ส่วนใหญ่มาพร้อมกับโหมด Smart Auto ที่ให้คุณสามารถบันทึกภาพฉากส่วนใหญ่ได้ด้วยระดับความสว่างที่เหมาะสม แต่ก็มีบางกรณีที่ระบบวัดแสงของกล้องอาจทำงานได้ไม่เที่ยงตรงนัก ตัวอย่างเช่น วัตถุสีขาวและสว่างจะดูมืดลงเล็กน้อยเมื่อถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ ขณะที่วัตถุสีดำหรือสีเข้มจะสว่างขึ้นกว่าความเป็นจริงนิดหน่อย เมื่อคุณพบสถานการณ์เช่นนี้ ให้ลองปรับระดับความสว่างที่คำนวณด้วยกล้อง คุณสามารถปรับความสว่างได้ตามความตั้งใจในการถ่ายภาพของคุณโดยใช้คุณสมบัติ "การชดเชยแสง" สำหรับกล้อง IXUS การชดเชยแสงทำได้ง่ายในโหมดโปรแกรมระดับแสงอัตโนมัติ (Program AE) และในโหมดฉากถ่ายภาพส่วนใหญ่ ยกเว้นโหมดอัตโนมัติ ขอแนะนำให้คุณเรียนรู้ขั้นตอนในการชดเชยแสง เพราะเป็นประโยชน์มากและจะช่วยให้คุณถ่ายภาพออกมาได้อย่างที่ต้องการ
ตัวอย่างการชดเชยแสง
การชดเชยแสง: -0.3 สต็อป
เพราะมีหินสีดำจำนวนมากกินพื้นที่กว่าครึ่งขององค์ประกอบ ภาพทั้งภาพจะออกมาสว่างหากไม่ทำการชดเชยแสง เมื่อตั้งค่าการชดเชยแสงมาที่ -0.3 สต็อป ผมจึงสามารถถ่ายภาพโดยไม่ทำให้ท้องฟ้าและทะเลสว่างเกินไปได้
การชดเชยแสง: -0.7 สต็อป
ภาพถ่ายท้องทะเลสว่างด้วยแสงแรกของอาทิตย์ยามเช้าตรู่ ผมทำให้ทั้งภาพนี้มืดลงอย่างมาก โดยทำการชดเชยแสงที่ -0.7 สต็อปเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่ดูเหนือจริง
เอฟเฟ็กต์การชดเชยแสง
การชดเชยแสง: -2 สต็อป
การชดเชยแสง: -1 สต็อป
การชดเชยแสง: ±0 สต็อป (ไม่มีการชดเชยแสง)
การชดเชยแสง: +1 สต็อป
การชดเชยแสง: +2 สต็อป
การตั้งค่าการเปิดรับแสงสูงขึ้นจะทำให้ทั่วทั้งภาพสว่างขึ้น การแสดงสีขาวจึงทำได้ง่ายขึ้น ในทางตรงกันข้าม ค่าการเปิดรับแสงที่ลดลงจะทำให้ภาพมืดลง และใ้ช้ได้ผลดีในการสร้างโทนสีดำที่หนักแน่นยิ่งขึ้น ดังนั้น หลักการพื้นฐาน คือ ใช้ค่าการชดเชยแสงเป็นบวกสำหรับสีสันที่สว่าง และค่าการชดเชยแสงเป็นลบสำหรับสีมืดทึม
การตั้งค่าปริมาณการชดเชยแสง
แสดงแถบค่าการชดเชยแสงบนหน้าจอ LCD โดยเลือกคุณสมบัติการชดเชยแสง เพิ่มความสว่างในภาพ โดยการเลื่อนตัวชี้ระดับการเปิดรับแสงมาทางขวา (ค่าการชดเชยแสงเป็นบวก) ลดความสว่างในภาพลง โดยการเลื่อนตัวชี้ระดับการเปิดรับแสงมาทางซ้าย (ค่าการชดเชยแสงเป็นลบ)
การชดเชยแสง: -1 สต็อป
การชดเชยแสง: +1 สต็อป