[ตอนที่ 2] พื้นฐานเรื่องคุณภาพของภาพถ่ายและความไวแสง ISO เลนส์ซูมและเอฟเฟ็กต์ของแฟลชติดกล้อง
บทความต่อเนื่องซึ่งแนะนำพื้นฐานของฟังก์ชั่นต่างๆ ในกล้องดิจิตอลคอมแพค ในตอนที่ 2 นี้ เราจะมาทำความรู้จักกับมุมรับภาพจากการใช้งานซูม เอฟเฟ็กต์จากแฟลชติดกล้อง และพื้นฐานการตั้งค่าความไวแสง ISO และคุณภาพของภาพถ่าย กล้องซีรีย์ IXUS มาพร้อมกับคุณสมบัติ Smart Auto ที่ให้คุณถ่ายภาพอย่างมีเสน่ห์น่าประทับใจได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้หลักพื้นฐานในการถ่ายภาพจะช่วยเพิ่มความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ภาพของคุณได้อีกมาก และทำให้คุณได้รับความเพลิดเพลินกับประสบการณ์การถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น (เรื่องโดย: Koichi Isomura)
หน้า: 1 2
การใช้ประโยชน์ของทางยาวโฟกัส "มุมกว้าง" และ "เทเลโฟโต้"
คุณลักษณะหนึ่งของเลนส์ซูมคือ คุณสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่คุณต้องการจะถ่ายภาพได้ง่ายๆ โดยปกติ คนจะพูดถึงทางยาวโฟกัสโดยหมายถึงมุมรับภาพของเลนส์ การปรับเลนส์ไปที่ฝั่งมุมกว้างจะลดทางยาวโฟกัส ภาพที่ถ่ายได้จะมีพื้นที่กว้างขึ้น ขณะที่การปรับไปที่ฝั่งเทเลโฟโต้จะเพิ่มทางยาวโฟกัส คุณจึงสามารถถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ไกลให้ดูใหญ่ขึ้นได้
คุณอาจถ่ายภาพตัวแบบให้มีขนาดเท่ากันได้ ไม่ว่าโดยการถ่ายด้วยทางยาวโฟกัสฝั่งมุมกว้างในระยะใกล้ตัวแบบ หรือด้วยทางยาวโฟกัสฝั่งเทเลโฟโต้จากตำแหน่งที่ไกลออกไป อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่าการถ่ายทอดรายละเอียดของภาพที่ได้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของทางยาวโฟกัสที่ใช้ เช่น เอฟเฟ็กต์จากเปอร์สเป็คทีฟ เมื่อทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะเหล่านี้แล้ว คุณจะสนุกกับงานภาพถ่ายของคุณได้มากยิ่งขึ้นอีก
การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในภาพถ่ายตามทางยาวโฟกัส
ถ่ายภาพที่มีพื้นที่กว้างกว่าที่ฝั่งมุมกว้าง
วัตถุระยะไกลดูใหญ่ขึ้นที่ฝั่งเทเลโฟโต้
การหมุนเลนส์ซูมไปที่ฝั่งมุมกว้างจะจับภาพพื้นที่ด้านกว้างได้มากขึ้น และยืดส่วนที่แสดงเปอร์สเป็คทีฟให้กว้างออก ส่วนฝั่งเทเลโฟโต้จะถ่ายภาพวัตถุในระยะไกลให้ดูมีขนาดใหญ่ขึ้น และให้ความรู้สึกถึงระยะห่างที่ถูกบีบเข้ามา
การเปลี่ยนแปลงของการสร้างและการถ่ายทอดอารมณ์ภาพตามแบ็คกราวด์
ถ่ายภาพที่มีแบ็คกราวด์กว้างกว่าที่ฝั่งมุมกว้าง
สร้างแบ็คกราวด์ให้ดูเรียบง่ายที่ฝั่งเทเลโฟโต้
แม้ว่าคุณจะสามารถรวมพื้นที่ส่วนแบ็คกราวด์กว้างๆ เข้ามาในภาพโดยการถ่ายบุคคลที่เป็นตัวแบบในระยะใกล้ที่ทางยาวโฟกัสฝั่งมุมกว้าง แต่ขณะเดียวกัน เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟก็จะเห็นชัดขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ภาพใบหน้าของผู้เป็นแบบออกมาบิดเบี้ยว ขณะที่หากคุณถ่ายภาพตัวแบบที่ฝั่งเทเลโฟโต้จากตำแหน่งที่ห่างออกมา พื้นที่ในแบ็คกราวด์ที่ได้จะแคบลง ดีต่อการป้องกันไม่ให้องค์ประกอบต่างๆ ในภาพดูรกตา นอกจากนี้ ทางยาวโฟกัสฝั่งเทเลโฟโต้ยังมีประโยชน์เวลาที่คุณต้องการเบลอแบ็คกราวด์เพื่อขับเน้นตัวแบบอีกด้วย
ใช้แฟลชติดกล้องอย่างมีประสิทธิภาพ
คุณสามารถใช้แฟลชติดกล้องเพื่อเพิ่มความสว่างให้กับตัวแบบที่อยู่ใกล้กล้องขณะถ่ายภาพ แม้โดยทั่วไปแล้ว แฟลชมักจะใช้เมื่อถ่ายภาพในสถานที่ที่มีแสงน้อย แต่แฟลชก็สามารถใช้ในสภาพแสงที่สว่างได้เช่นกัน อาทิ ใช้เพื่อเพิ่มความสว่างให้กับใบหน้าตัวแบบที่มีแสงย้อนเข้ามาทางด้านหลังซึ่งอาจทำให้ภาพออกมามืด แสงจากแฟลชติดกล้องสามารถให้ระยะใช้งานได้ประมาณ 2-4 เมตร ดังนั้น จึงอาจไม่ค่อยมีผลมากนักหากใช้กับตัวแบบที่อยู่ห่างออกไป
หากคุณต้องการรักษาบรรยากาศแวดล้อมหรือถ่ายภาพตัวแบบในระยะไกล คุณก็สามารถเลือกความไวแสง ISO สูงโดยไม่ต้องใช้แฟลชแทนได้ โดยตั้งค่ากล้องไปที่โหมดปิดแฟลช แล้วถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO สูงๆ
ถ่ายภาพกลางคืนด้วยแฟลช
ปิดแฟลช
เปิดแฟลช
มีหลายกรณีที่การเพิ่มความไวแสง ISO ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เช่น เมื่อคุณต้องการเก็บภาพทั้งทิวทัศน์กลางคืนในส่วนแบ็คกราวด์และบุคคลที่อยู่ด้านหน้า ในกรณีนี้ ให้เลือกโหมดถ่ายกลางคืนแบบมือถือ แล้วกล้องจะยิงแฟลชอัตโนมัติเพื่อให้ได้ผลภาพถ่ายที่คมชัด
ถ่ายภาพกลางวันด้วยแฟลช
ปิดแฟลช
เปิดแฟลช
แฟลชติดกล้องยังสามารถใช้ประโยชน์เมื่อคุณถ่ายภาพในช่วงเวลากลางวันด้วย สำหรับฉากต่างๆ อาทิ ฉากที่ใบหน้าของตัวแบบดูมืดเนื่องจากมีแสงย้อน การยิงไฟแฟลชก็ช่วยให้ส่วนเงามืดบนใบหน้าสว่างขึ้น และให้ภาพถ่ายที่คมชัดขึ้น
การปรับเปลี่ยนความไวแสง ISO ตามความสว่าง
การตั้งค่าความไวแสง ISO ใช้ในการกำหนดความไวในการตอบสนองต่อแสงของเซนเซอร์ภาพภายในกล้อง แม้ว่าการเลือกค่า ISO สูงๆ จะช่วยให้การถ่ายภาพในสถานที่แสงน้อยทำได้ง่ายขึ้น แต่จุดรบกวนจากความไวแสงสูงที่เกิดขึ้นตามมาก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของภาพถ่ายด้วยเช่นกัน หากคุณกำลังถ่ายภาพในสถานที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ ให้เลือกค่าความไวแสง ISO ต่ำๆ เพื่อให้คุณได้ภาพที่คมชัดและมีจุดรบกวนน้อย
เมนูความไวแสง ISO จะมีตัวเลือก "อัตโนมัติ" มาให้ ซึ่งกล้องจะเลือกความไวแสง ISO ที่เหมาะสมให้อัตโนมัติ โดยจะอิงตามความสว่างโดยรอบ ช่วยให้จุดรบกวนลดน้อยลง
ตัวอย่างการตั้งค่าความไวแสง ISO
ISO 80
ISO 800
ในการถ่ายภาพภายใต้แสงอาทิตย์ที่สว่างจ้าอย่างในภาพตัวอย่างซึ่งใช้ ISO 80 การตั้งค่าความไวแสง ISO ต่ำๆ จะช่วยให้ได้ภาพที่ถ่ายทอดรายละเอียดได้คมชัดและมีจุดรบกวนน้อย เพื่อให้ได้ภาพถ่ายทิวทัศน์ยามค่ำคืนที่สว่างขึ้น เช่นภาพตัวอย่างนี้ใช้ ISO 800 ซึ่งผมตั้งใจเลือกใช้ความไวแสง ISO ที่สูงขึ้น
ระดับของจุดรบกวนเปลี่ยนแปลงไปตามความไวแสง ISO
อัตโนมัติ (ISO 800)
ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของคุณภาพภาพถ่ายตามความไวแสง ISO รวมถึงระดับจุดรบกวนในส่วนเงามืดของค่า ISO ต่างๆ (ภาพตัวอย่างนี้ถ่ายด้วยกล้อง IXUS 105) จุดรบกวนมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเมื่อเลือกใช้ความไวแสง ISO ที่สูงขึ้น
ISO 80
ISO 100
ISO 200
ISO 400
ISO 800
ISO 1600
การตั้งค่าคุณภาพของภาพถ่าย
ในการถ่ายภาพดิจิตอล คุณภาพของภาพถ่ายถูกกำหนดด้วยการตั้งค่า "พิกเซลที่ใช้บันทึก" และ "อัตราส่วนการบีบอัด" การตั้งค่าพิกเซลที่ใช้บันทึกเป็น "L" จะบันทึกภาพด้วยจำนวนพิกเซลสูงสุด ทำให้คุณได้รับความละเอียดมากเพียงพอ แม้สำหรับการพิมพ์ภาพในฟอร์แมตภาพขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนพิกเซลเดียวกันนี้ คุณสามารถทำให้ภาพมีคุณภาพสูงขึ้นอีกได้ด้วยการตั้งค่า Super Fine หรือ Fine ตามที่มีในกล้อง เพราะจะใช้อัตราส่วนการบีบอัดที่ต่ำกว่า
กล่าวได้ว่า การใช้การตั้งค่าภาพให้เป็น L และ Super Fine จะให้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพดีที่สุด อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่าขนาดของข้อมูลภาพก็จะใหญ่ขึ้นตามไปด้วย เมื่อต้องการเพียงเปิดดูภาพถ่ายบนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือพิมพ์เป็นขนาดโปสการ์ด ความละเอียดที่ต่ำลงมาเป็น M3 ก็นับว่าเพียงพอ ในกรณีที่สื่อบันทึกที่คุณใช้มีความจุน้อย การเลือกขนาดข้อมูลที่เล็กลงจะทำให้คุณบันทึกจำนวนภาพลงในสื่อบันทึกได้มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของขนาดภาพกับการตั้งค่าพิกเซลที่ใช้บันทึก (ตัวอย่าง)
* จำนวนพิกเซลสำหรับแต่ละค่าที่มีให้เลือกแตกต่างกันไปตามรุ่นของกล้อง
L (ขนาดใหญ่): 4,000 ~ 3,000 พิกเซล
W (กว้าง): 4,000 ~ 2,248 พิกเซล
M1 (ขนาดกลาง 1): 3,264 ~ 2,448 พิกเซล
M2 (ขนาดกลาง 2): 2,592 ~ 1,944 พิกเซล
M3 (ขนาดกลาง 3): 1,600 ~ 1,200 พิกเซล
S (ขนาดเล็ก): 640 ~ 480 พิกเซล
ด้วยการตั้งค่าจำนวนพิกเซลไปที่ L คุณจะสามารถพิมพ์ภาพถ่ายได้แม้ในฟอร์แมตภาพขนาดใหญ่ แม้การถ่ายภาพด้วยจำนวนพิกเซลต่ำๆ จะเอื้อให้คุณลดขนาดไฟล์ข้อมูลลงได้ แต่ก็อาจแสดงภาพออกมาไม่ถูกต้องแม่นยำนัก หากมีความละเอียดไม่เพียงพอ
การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพภาพถ่ายตามอัตราส่วนการบีบอัด
แม้จำนวนพิกเซลที่ใช้บันทึกจะเท่ากัน แต่เมื่อเลือกอัตราส่วนการบีบอัดที่สูงขึ้น จะทำให้ความสามารถในการแสดงรายละเอียดของภาพลดน้อยถอยลงไปได้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องลดขนาดข้อมูลภาพ และยังคงต้องการรักษามาตรฐานคุณภาพของภาพถ่ายให้สูงไว้ เราขอแนะนำให้คุณเลือกการตั้งค่า Super Fine หรือ Fine อันใดอันหนึ่งซึ่งมีอัตราส่วนการบีบอัดต่ำกว่า
Fine
Normal
* ภาพตัวอย่างนี้ถ่ายด้วยกล้อง IXUS 105 การตั้งค่าในเมนูอัตราส่วนการบีบอัดแตกต่างกันไปตามรุ่นกล้อง