[ตอนที่ 1] เรื่องราวของกล้อง PowerShot G1 X Mark II – การพัฒนาและการวางแผน
ในฐานะกล้องระดับสูงในซีรีย์ PowerShot G กล้อง PowerShot G1 X Mark II สร้างความโดดเด่นตั้งแต่ปรากฏตัวเป็นครั้งแรก กล้องนี้อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดของ Canon เราลองมาอ่านบทความต่อเนื่อง 4 ตอน ซึ่งจะบอกเล่าถึงปัญหาอันท้าทายต่างๆ ที่นักพัฒนาต้องเผชิญระหว่างการสร้างต้นแบบกล้องรุ่นนี้ด้วยกัน ตอนที่ 1 พูดถึง "การพัฒนาและการวางแผน" เรียนรู้แนวคิดและสเปคกล้อง PowerShot รุ่นที่ดีที่สุด
(จากซ้ายมือ) Kanji Tsuji, หัวหน้าทีมพัฒนากล้อง, ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product, ศูนย์พัฒนา ICP 3, วิศวกรอาวุโส / Akiyoshi Ishii, วางแผนผลิตภัณฑ์, ปฏิบัติการแผนก Image Communications Product, แผนกวางแผนผลิตภัณฑ์ 2 ศูนย์ ICP 3
ระยะถ่ายภาพที่หลากหลายในกล้องเดียว
― เวลาล่วงเลยไปเกือบสองปีแล้วนับตั้งแต่เปิดตัว PowerShot G1 X ขณะที่กล้อง G1 X Mark II ที่รอคอยกันมายาวนานกำลังออกเผยโฉมสู่ตลาด แนวคิดสำหรับกล้องรุ่นนี้คืออะไรครับ?
Ishii กล้อง G1 X Mark II เป็นรุ่นกล้องที่เรามุ่งมั่นให้มีคุณภาพภาพถ่ายในระดับสูงสุด เพราะเป็นทายาทของกล้องรุ่นเรือธงในซีรีย์ PowerShot อย่าง G1 X พวกเราอยากจะสร้างกล้องที่มีความสามารถรอบด้านซึ่งสามารถถ่ายฉากได้ทุกประเภทด้วยสารพัดเทคโนโลยีล้ำยุคที่ Canon มีอยู่ เช่น เมื่อลดกำลังขยายซูมลง ขนาดตัวแบบอาจเล็กลงตาม แต่เราพยายามที่จะไม่ละเลยรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้ ทางยาวโฟกัสที่ 24-120 มม. (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) ทำให้ได้ช่วงทางยาวที่กว้างกว่าในรุ่น G1 X และไม่เพียงทางยาวโฟกัสที่มีประสิทธิภาพ แต่ประสิทธิภาพด้านออพติคอลทั้งหมด เช่น ค่า f และการถ่ายมาโคร ก็มีส่วนทำให้กล้องรุ่นนี้มีสเปคสูงขึ้นด้วย
PowerShot G1 X Mark II
รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์: f/2.0 (W) - f/3.9 (T)
ทางยาวโฟกัสของเลนส์: 24 มม. (W) – 120 มม. (T)*1
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 5 ซม.
ชนิดของเซนเซอร์ภาพ: เซนเซอร์ COMS 1.5 นิ้ว *2
ระบบประมวลผลภาพ: DIGIC 6
*1 เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.
*2 จำนวนพิกเซลทั้งหมด: ประมาณ 15.0 ล้านพิกเซล, จำนวนพิกเซลที่ใช้จริง : ประมาณ 12.8 ล้านพิกเซล (3:2)
Tsuji หรืออาจกล่าวได้ว่า เราใช้ความทุ่มเทเพื่อที่จะเอาชนะจุดด้อยบางอย่างของรุ่น G1 X จากปัญหาที่รับรู้ผ่านการรวบรวมความคิดเห็นจากช่างภาพและผลการสำรวจจากผู้ใช้ เราจึงปรับปรุงทุกรายละเอียดตามความเห็นของแผนกวางแผนผลิตภัณฑ์ มีข้อเรียกร้องเข้ามามากที่พูดถึงประสิทธิภาพการถ่ายมาโคร เราจึงปรับระยะโฟกัสใกล้สุดจาก 20 ซม. เป็น 5 ซม. และให้โฟกัสอัตโนมัติทำงานไวขึ้นเกือบสองเท่าด้วยการปรับปรุงด้านออพติคอลและเซนเซอร์ เริ่มจากองค์ประกอบด้านออพติคอล แน่นอนว่าจุดที่เปลี่ยนแปลงยากนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากเราไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราก็ไม่อาจเรียกกล้องรุ่นนี้ว่ากล้องระดับสูงได้ ดังนั้น เราจึงลงมือพัฒนากล้องด้วยความกระตือรือร้น และสุดท้ายเราจึงได้ระยะการถ่ายภาพที่ไม่อาจทำได้ด้วยกล้อง SLR กับเลนส์เพียงเลนส์เดียว
― เมื่อเทียบกับกล้อง PowerShot G1 X สเปคหลักๆ ของกล้องเปลี่ยนไป เช่น ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) และวงแหวนควบคุมคู่ เล่าให้เราฟังได้มั้ยครับว่า มีจุดประสงค์ยังไงบ้าง?
Ishii โดยเบื้องต้น G1 X Mark II ถูกพัฒนาขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายที่เน้นเรื่องความสามารถในการทำงานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราตระหนักถึงความสามารถการทำงานในฐานะกล้องที่ถ่ายภาพด้วยช่องมองภาพเป็นหลัก หลายครั้งที่ได้ยินจากช่างภาพมืออาชีพว่า พวกเขาสามารถจดจ่อกับการจัดองค์ประกอบภาพและจังหวะที่ถ่ายภาพได้ดีเมื่อมองผ่านช่องมองภาพ
จนถึงทุกวันนี้ ซีรีย์ G ทุกรุ่นจะมีช่องมองภาพออพติคอลมาโดยตลอด แต่กล้องคอมแพคก็แตกต่างจากกล้อง SLR ที่มักจะเกิดภาพเหลื่อมเนื่องจากโครงสร้างของกล้อง และยังมีปัญหาเกี่ยวกับขอบมืดในช่องมองภาพเพราะท่อเลนส์ อีกทั้งช่องมองภาพออพติคอลยังไม่อาจสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้ได้อีกด้วย EVF จึงเป็นคุณสมบัติที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะจะสามารถครอบคลุมภาพได้ 100% และสามารถแสดงข้อมูลการถ่ายภาพได้หลายรูปแบบ เราเชื่อว่า นี่เป็นคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ที่สุดที่การใช้งานกล้อง G1 X Mark II ต้องไปให้ถึง
ดังนั้น เมื่อนึกถึงการถ่ายภาพด้วย EVF การถ่ายภาพจะง่ายขึ้นอีกหากมีส่วนควบคุมอยู่ที่กึ่งกลางของเลนส์ วงแหวนควบคุมคู่เป็นส่วนควบคุมที่กำหนดขึ้นโดยอิงจากสถานการณ์นี้
วงแหวนด้านหลังเป็น “วงแหวนคลิก” ซึ่งสามารถเปลี่ยนค่าการเปิดรับแสง, Tv และ Av ได้เพียงคลิกให้ค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง ส่วนวงแหวนด้านหน้าเป็น “วงแหวนหมุน” ซึ่งเลื่อนได้อย่างลื่นไหล จึงสามารถปรับค่าได้อย่างรวดเร็ว เช่น การปรับโฟกัส
สำหรับการโฟกัส เมื่อใช้ร่วมกับระบบโฟกัสแบบแมนนวลตลอดเวลาเทียบเท่ากับ EOS ที่มีให้ในครั้งนี้ ทำให้ความสามารถในการทำงานใกล้เคียงกับกล้อง SLR เลยทีเดียว
Tsuji เนื่องจาก EVF เป็นผลจากการค้นคว้าใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่เคยใช้กับกล้องดิจิตอลคอมแพคของ Canon รุ่นใดมาก่อนเลย จึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก ในทีแรก พวกเราพยายามที่จะไม่ลดขนาดซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของกล้องคอมแพค ในขั้นการทำต้นแบบ EVF มีขนาดใหญ่ทีเดียว แต่เมื่อผ่านการลองผิดลองถูกซ้ำๆ ในที่สุดเราก็ได้ขนาดที่เล็กลง แต่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ และแม้ว่าจะเป็น EVF แผนกออกแบบออพติคอลก็ยังคงเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับรายละเอียดอย่างมากในระหว่างการพัฒนา ที่เน้นอย่างยิ่งคือส่วนของภาพที่มองเห็นผ่านช่องมองภาพแบบใหม่นี้
วงแหวนปรับคู่ก็เป็นสิ่งใหม่ เช่นเดียวกับองค์ประกอบใหม่ๆ อีกหลายส่วน นับเป็นคุณสมบัติเด่นของกล้อง PowerShot G1 X Mark II ในช่วงเริ่มแรก เราพบว่าศักยภาพในการประกอบวงแหวนทั้งสองเข้ากับท่อเลนส์นั้นในทางเทคนิคยังไม่สามารถทำให้เห็นผลได้ ทำให้มีการติดขัดภายในแผนกพัฒนาอยู่บ้าง แต่เรายังคงทำการทดลองต่อไปครั้งแล้วครั้งเล่า โดยร่วมมือกับแผนกออกแบบเพื่อให้ได้สัมผัสในการใช้งานที่แตกต่างสำหรับวงแหวนแต่ละวง
― อะไรเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนจอ LCD แบบปรับหมุนได้ (Vari-angle) เป็นแบบปรับเอียงขึ้นลง (Tilt-type) ครับ?
Ishii การเปลี่ยนจอ LCD แบบปรับหมุนได้เป็นแบบปรับเอียงขึ้นลงเป็นผลจากการพยายามเพิ่มความสามารถในการใช้งานของกล้องครับ หากเป็นจอ LCD แบบปรับหมุนได้ มือซ้ายของคุณอาจชนกับแผง LCD เข้าระหว่างการปรับวงแหวน เพราะเหตุนี้เอง แทนที่จะใช้วิธีปรับหมุนหน้าจอ ครั้งนี้ เราเลือกใช้จอ LCD แบบปรับเอียงขึ้นลงที่เอื้อการถ่ายภาพจากองศาที่หลากหลาย โดยมองเห็นได้ 180 องศาจากด้านบน และ 45 องศาจากด้านล่าง นอกจากนี้ เมื่อถ่ายภาพโดยถือกล้องในแนวนอน จุดเด่นของหน้าจอแบบปรับเอียงขึ้นลงคือ แกนออพติคอลของภาพบนจอ LCD จะไม่คลาดเคลื่อน คุณจะสามารถจัดองค์ประกอบภาพได้อย่างเป็นธรรมชาติยิ่งกว่าเดิม
― คุณอยากให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์อย่างไรจากการใช้กล้อง G1 X Mark II นี้ครับ?
Tsuji เนื่องจากทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่สุดฝั่งมุมกว้าง (W) กว้างขึ้น และฝั่งเทเลโฟโต้ (T) ยาวขึ้น รวมทั้งค่า f ก็สว่างมากขึ้นด้วย กล้องนี้ใช้งานกับฉากได้ทุกประเภท เราจึงต้องการให้ผู้ใช้พกพาไปในทุกๆ ที่ และถ่ายภาพให้มากที่สุด นอกเหนือจากประสิทธิภาพด้านออพติคอลระดับสูงแล้ว ยังมีอีกหลายฟังก์ชั่นที่พัฒนาขึ้นในกล้องรุ่นนี้ แต่เหนืออื่นใด เรื่องคุณภาพของภาพถ่ายควรได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษ ผมจะมีความสุขมากหากผู้ใช้ถ่ายภาพแล้วประทับใจกับคุณภาพของภาพที่ออกมา