สำหรับใครก็ตามที่เริ่มต้นศึกษาอะไรใหม่ๆ แม้แต่ขั้นตอนเล็กๆ ก็อาจเป็นเรื่องยากเมื่อคุณไม่มีคนแนะนำ นี่เป็นเรื่องจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งงานส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการถ่ายวิดีโอของแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถในการบริหารเวลา การเจรจาต่อรองกับลูกค้า และการปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่อาจเป็นหัวข้อหลักในวิดีโอของคุณ
เพื่อช่วยให้คุณรับมือกับอุปสรรคที่คุณอาจพบในฐานะมือใหม่ในอุตสาหกรรมการสร้างภาพยนตร์ เราได้พูดคุยกับผู้สร้างภาพยนตร์มากประสบการณ์อย่าง Brenda Er จาก Lovorth Events & Media
เพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกของเธอเกี่ยวกับปัญหาที่เธอเคยเผชิญและวิธีที่เธอจัดการกับมัน! ป.ล. ชมเรื่องราวการเดินทางของเธอในฐานะช่างวิดีโอสารคดีได้ที่นี่
มือใหม่ควรเริ่มโปรเจควิดีโออย่างไร และจะหาแรงบันดาลใจได้จากที่ใด
ฉันจะบอกว่าก่อนที่คุณจะเริ่มโปรเจคของคุณ ให้เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยผู้สร้างภาพยนตร์คนอื่นๆ ก่อน เรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับมุมกล้อง การเขียนสคริปต์ การกำกับ เสียง การจัดแสง การตัดต่อ ฯลฯ คุณควรค้นคว้าและเรียนรู้จากบทเรียนออนไลน์ คำแนะนำ และวิดีโอเบื้องหลังต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าเบื้องหลังกล้องมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
หลังจากนั้น คุณก็ลองฝึกทำวิดีโอสั้นๆ และรับคำติชมจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า วิดีโอแรกของคุณอาจจะเป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวหรือเป็นเพียงแค่การนำเสนอบุคคลที่มีเรื่องราวที่คุณสนใจ ตามหลักการทั่วไป เรื่องราวที่ดีคือเรื่องราวที่ทำให้คุณรู้สึกผูกพันและเชื่อมโยงได้ ค้นหาประเด็นหรือหัวข้อที่คุณหลงใหลและยินดีที่จะแบ่งปันเรื่องราวนั้น
โปรเจคแรกของคุณคืออะไร และอะไรคืออุปสรรคทั่วไปที่คุณต้องรับมือ
โปรเจคสารคดีเรื่องแรกของฉันได้รับแรงบันดาลใจจากคุณยายของฉันที่กำลังจะล่วงลับไป ฉันต้องการบันทึกชีวิตสองปีสุดท้ายของท่าน อุปสรรคที่พบบ่อยที่สุดก็คือการทำให้ตัวแบบยินยอมให้ถ่ายทำ บางหัวข้อเช่นการล่วงละเมิด ปัญหาสุขภาพจิต และการเสียชีวิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงอาจไม่อาจแบ่งปันได้ง่ายๆ ในการที่จะได้รับความร่วมมือ คุณต้องสร้างความไว้วางใจและสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ฉันขอแนะนำให้ผู้สร้างภาพยนตร์หน้าใหม่แสดงความสนใจที่จะทำความรู้จักพวกเขาในฐานะบุคคล มีความอดทน มีความพร้อม และเรียนรู้วิธีการผูกสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ
ในกระบวนการค้นคว้าควรจะต้องพิจารณาเรื่องใดบ้าง
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อเท็จจริงนั้นถูกต้องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นจริง เมื่อพูดถึงการทำงานกับเหตุการณ์ที่จับต้องไม่ได้จากความทรงจำของอาสาสมัคร คุณสามารถขอให้พวกเขาเล่าเรื่องราวนั้นสองสามครั้งในวันต่างๆ เพื่อทำให้แน่ใจว่าคุณจะได้เรื่องราวที่ถูกต้อง และพยายามรวบรวมเอกสารให้ได้มากที่สุด ด้วยวิธีนี้ คุณจะมีข้อมูลมากขึ้นสำหรับการนำเสนอเรื่องราวในมุมมองของคุณ
คุณเขียนสคริปต์อย่างไร?
ฉันมักจะทำการสัมภาษณ์ก่อนที่จะเริ่มเขียนสคริปต์ใดๆ ทุกสคริปต์ต้องมีจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลาง และจุดสิ้นสุด
จากการสัมภาษณ์ คุณจะเข้าใจบุคคลนั้นได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น จากนั้นคุณสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของคุณและพิจารณาว่าคุณต้องการแสดงด้านใดของบุคคลนั้น สไตล์การเล่าเรื่องของฉันมักจะเน้นไปที่แนวทางที่ "ละเอียดอ่อน" เสมอ แม้ว่าการชี้นำตัวแบบไปสู่ผลลัพธ์หรือโครงเรื่องที่ต้องการจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่คุณจำเป็นต้องให้พื้นที่กับเขาอย่างเพียงพอ และปล่อยให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง ด้วยวิธีนี้ คุณจะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในมุมมองที่สมดุลยิ่งขึ้น
ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ เราจะหาลูกค้าได้จากที่ไหน?
สำหรับฉันแล้ว ลูกค้ารู้จักฉันแบบปากต่อปาก ฉันเคยเข้าร่วมกลุ่มเครือข่ายหลายกลุ่มในช่วงแรก แต่ฉันไม่แน่ใจว่าจะมีอีเวนท์แบบนี้ในช่วงเวลานี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ฉันแน่ใจว่ามีกลุ่มช่างวิดีโอออนไลน์ที่คุณสามารถเข้าร่วมเพื่อแบ่งปันงานและสร้างเครือข่ายของคุณ การแบ่งปันทางโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งสำคัญในการบอกให้คนอื่นรู้ว่าตอนนี้คุณทำอะไรอยู่ คุณไม่มีทางรู้เลยว่างานของคุณจะไปถึงใครบ้าง!
จะทำอย่างไรถ้าหาเงินทุนไม่ได้?
คุณสามารถค้นหาทุนจากรัฐบาลหรือระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้ง เขียนจดหมายถึงผู้ที่อาจมาเป็นผู้สนับสนุน แบรนด์ หรือชุมชนที่อาจต้องการสนับสนุนโปรเจคของคุณ หากไม่ได้ผล ให้เริ่มต้นด้วยการร่วมมือกับศิลปินที่กำลังมาแรงในอุตสาหกรรมนี้ หรือค้นหาเรื่องราวในแวดวงเพื่อนและครอบครัวที่ใกล้ชิดที่สุดของคุณ
เคล็ดลับ: คุณสามารถทดลองใช้กล้องที่ราคาไม่แพงเช่น EOS M50 Mark II ก่อนที่จะลงทุนไปกับอุปกรณ์ระดับมืออาชีพอย่างเช่น EOS C300 Mark II
เมื่อได้รับโอกาสนำเสนอเรื่องราวของพวกเขากับผู้สนับสนุน มือใหม่ควรทำอย่างไร?
ให้สื่อสารในเรื่องที่คุณหลงใหล และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของคุณระหว่าการนำเสนอ บางครั้งอาจเป็นเรียงความสั้นๆ หรือสไลด์ก็ได้ ระบุวัตถุประสงค์ ใจความที่จะสือ โครงเรื่อง จุดประสงค์ งบประมาณ และรายละเอียดไทม์ไลน์ของคุณ
ควรมีอะไรบ้างในการนำเสนอ? คุณมักจะนำสิ่งไปด้วยหรือนำเสนออะไร?
มั่นใจเข้าไว้! หากคุณมีความคิดที่ดีแต่ไม่มีความสมเหตุสมผลและความมั่นใจ ลูกค้าจะไม่รู้สึกมั่นใจที่จะร่วมงานกับคุณ
สำหรับภาพยนตร์เล่าเรื่อง ให้นำเสนอสไลด์และสตอรีบอร์ดของคุณ มีตัวเลือกซอฟต์แวร์สตอรีบอร์ดมากมายออนไลน์ที่คุณสามารถอ้างอิงและใช้งานได้ สำหรับสารคดี ฉันขอแนะนำให้นำเสนอโครงเรื่องสั้นๆ พร้อมอ้างอิงด้วยภาพและเสียง หากคุณมีผลงานก่อนหน้านี้ในพอร์ตโฟลิโอของคุณที่คล้ายกันกับเรื่องราวคุณต้องการนำเสนอ คุณสามารถแบ่งปันเรื่องรานั้นในการนำเสนอได้เช่นกัน!
ควรสนทนาเรื่องอะไรบ้างในการนำเสนอ?
เรียนรู้ว่าแนวคิดที่เสนอนั้นใช้ได้สำหรับลูกค้าหรือไม่ อย่าเพิ่งถอดใจเมื่อลูกค้าไม่ชอบไอเดียของคุณ พยายามเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องทำให้แน่ใจว่ามันไม่ขัดกับแนวคิดในงานสร้างสรรค์ของคุณ
เมื่อได้รับโอกาสหารือเกี่ยวกับงบประมาณ คุณต้องรวมค่าใช้จ่ายในการค้นคว้า การเขียนสคริปต์ การกำกับ การผลิต ทีมงานกล้อง กล้องและอุปกรณ์ การตัดต่อ และการจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลง เรียนรู้ว่าลูกค้าสามารถให้งบสูงสุดได้เท่าไหร่ และเป็นไปได้ไหมที่จะตอบสนองความคาดหวังของคุณครึ่งทาง คุณไม่ควรทำงานใดๆ โดยมีค่าตอบแทนที่ไม่ครอบคลุมถึงต้นทุนพื้นฐาน
จากประสบการณ์ของคุณ สิ่งที่ต้องได้รับการยืนยันก่อนวันถ่ายทำจริงคืออะไรบ้าง?
- สคริปต์ต้องได้รับการอนุมัติจากลูกค้าและจากตัวคุณเอง
- กำหนดการผลิตและเอกสารออกกองถ่ายทำ
- การยืนยันทีมงาน นักแสดง สถานที่ และใบอนุญาตหรือใบอนุมัติที่จำเป็นต่างๆ
- การสำรวจไซต์งานสำหรับผู้กำกับและทีมงานกล้อง
- ติดตามการพยากรณ์อากาศและจัดทำแผนสำรองในกรณีที่ฝนตก
- โลจิสติกส์การขนส่ง อาหาร เครื่องดื่ม และอื่นๆ
จำไว้ว่า การลองทำอะไรใหม่ๆ สองสามครั้งแรกมักจะเป็นกระบวนการที่ไม่ราบรื่นเสมอ อดทนไว้ แล้วคุณจะได้พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์!
หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมจาก Brenda และทีมงานของเธอที่ Lovorth Events & Media โปรดดูวิดีโอเรื่องการก้าวเข้าสู่อุตสหกรรมภาพยนตร์
สำหรับบทความที่คล้ายกัน:
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ด้วยกล้อง Canon EOS (1): สิ่งที่ผู้เริ่มต้นต้องรู้