การจัดแสงคือปัจจัยสำคัญในการกำหนดระดับความสมบูรณ์แบบของภาพถ่ายคอสเพลย์ อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพมีให้เลือกหลากหลายแบบ การเลือกอย่างระมัดระวังและใช้งานให้เหมาะสมกับฉากมากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในส่วนถัดไป ผมจะแนะนำอุปกรณ์จัดแสงซึ่งช่างภาพชั้นนำใช้ในการถ่ายภาพคอสเพลย์ (เรื่องโดย: Suna, นางแบบ: Yu, Kanata)
คุณจะต้องใช้แฟลช 2 ตัวในการถ่ายภาพคอสเพลย์
ในการถ่ายภาพคอสเพลย์นั้นมีการใช้อุปกรณ์จัดแสงอยู่เพียงไม่กี่ประเภท ซึ่งสามารถจำแนกได้ตามความเข้มของแสงและวิธีการกระจายแสง หากคุณเป็นช่างภาพอิสระ การหาซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพมากมายมาเป็นของตัวเองอาจเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ดี การจัดแสงสามารถสร้างความแตกต่างให้กับภาพที่ได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดคุณควรมีแฟลชสักสองตัวแม้ว่าจะเป็นแฟลชในตัวกล้องก็ตาม เพราะการจัดวางไฟสองดวงคือการเตรียมการขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับการถ่ายภาพประเภทดังกล่าว หรือคุณอาจพิจารณาเช่าอุปกรณ์ได้หากจำเป็น
แฟลชภายนอก
แฟลชคืออุปกรณ์ที่ให้แสงพร้อมๆ กับการลั่นชัตเตอร์ขณะถ่ายภาพ โดยมากแฟลชสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท ได้แก่ แฟลชในตัวกล้องที่มีขนาดกะทัดรัดและใช้แบตเตอรี่ ซึ่งสามารถนำไปต่อเข้ากับฐานเสียบแฟลช และแฟลช Monolight ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งให้ความเข้มของแฟลชที่สูง โดยทั่วไป การถ่ายภาพคอสเพลย์มักใช้แฟลชในตัวกล้อง เนื่องจากมีขนาดพกพาสะดวกและง่ายต่อการซื้อหาไว้ใช้งานหลายตัว นอกจากนี้ ในตลาดยังมีอุปกรณ์เสริมหลากหลายรูปแบบให้คุณสามารถนำไปต่อเข้ากับแฟลช เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพถ่ายได้มากยิ่งขึ้น
แฟลชในตัวกล้อง
แฟลชในตัวกล้อง เช่น Speedlite (ฉบับภาษาอังกฤษ) ใช้งานแบตเตอรี่และมักต้องติดตั้งเข้ากับกล้องเมื่อใช้งาน อย่างไรก็ดี เมื่อใช้ระบบสั่งงานด้วยคลื่นวิทยุ (ควบคุมแบบไร้สาย) เราสามารถตั้งแฟลชให้อยู่ห่างจากกล้อง และสามารถยิงแฟลชได้หลายตัวพร้อมกัน
Monolight
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าไฟสโตรบ Monoblock (หรือ ‘Monobloc’) Monolight ไม่สะดวกในการพกพา และจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับแหล่งจ่ายไฟเพื่อใช้งาน แต่ให้แสงสว่างปริมาณมากและมีระยะเวลาที่สั้นมากในการกลับมาพร้อมใช้งาน Monolight มักนิยมใช้สำหรับถ่ายภาพในสตูดิโอ
อุปกรณ์กระจายแสง
อุปกรณ์กระจายแสงเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแฟลชเพื่อช่วยในการกระจายแสง เนื่องจากแสงเดินทางเป็นเส้นตรงเท่านั้น อุปกรณ์กระจายแสงจึงช่วยกระจายแสงในพื้นที่กว้างได้อย่างทั่วถึง และเพิ่มความนุ่มนวลให้กับภาพถ่าย อุปกรณ์กระจายแสงสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทให้การกระจายแสงที่แตกต่างกัน ในส่วนต่อไปนี้ เราจะมาดูลักษณะพิเศษของอุปกรณ์กระจายแสงประเภทต่างๆ กัน
ต้องเข้าใจก่อนว่า “อุปกรณ์กระจายแสง” ไม่ใช่หมวดของผลิตภัณฑ์ แต่เป็นคำทั่วไปที่หมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการกระจายแสงได้
อุปกรณ์กระจายแสงเปลี่ยนโฉมภาพถ่ายของคุณได้อย่างไร
ไม่ใช้อุปกรณ์กระจายแสง
EOS-1Ds Mark II/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL: 54mm/ Manual (f/2.8, 1/160 วินาที)/ ISO 100/ WB: Manual - 5000K
แสงแฟลชส่องลงบนตัวแบบบางส่วน ทำให้ภาพถ่ายมีการกระจายแสงที่ไม่ดีนัก
ใช้อุปกรณ์กระจายแสง
EOS-1Ds Mark II/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL: 43mm/ Manual (f/5.6, 1/160 วินาที)/ ISO 400/ WB: Manual - 5000K
แสงส่องลงบนตัวแบบอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ภาพถ่ายมีความสมดุลและดูนุ่มนวล
ประเภทของอุปกรณ์กระจายแสง
ซอฟต์บ็อกซ์
เป็นอุปกรณ์กระจายแสงที่นิยมใช้กันมากที่สุด และช่วยให้แสงที่เปล่งออกมาจากแฟลชนุ่มนวลขึ้น
ร่มกระจายแสง
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ร่มทะลุ (Shoot-through umbrella) ร่มกระจายแสงใช้สำหรับกระจายแสงที่ส่องผ่านร่มไปในบริเวณกว้าง
สตริปซอฟต์บ็อกซ์ (Strip softbox)
สตริปซอฟต์บ็อกซ์คืออุปกรณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมยาวๆ เหมาะสำหรับถ่ายภาพพอร์ตเทรตแบบเต็มตัว และเป็นตัวเลือกยอดนิยมในการถ่ายภาพคอสเพลย์
Beauty dish
Beauty dish สามารถกระจายแสงในพื้นที่ที่แคบกว่าซอฟต์บ็อกซ์ และนิยมใช้กับพื้นที่ที่มีแสงสว่างน้อยหรือเน้นรายละเอียดส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวแบบ ลักษณะพิเศษนี้ทำให้อุปกรณ์ชนิดนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพคอสเพลย์ซึ่งมักมีฉากที่แปลกใหม่
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายโดยใช้การจัดแสงด้วย Beauty dish
เราสามารถใช้ Beauty dish เพื่อจำกัดปริมาณแสงได้ นี่จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับขับเน้นบรรยากาศของพื้นที่ที่มีแสงสว่างน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
EOS-1Ds Mark II/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL: 45mm/ Manual (f/5.6, 1/160 วินาที)/ ISO 400/ WB: Manual - 5000K
ผ้ากระจายแสง
ผ้ากระจายแสงอาจเป็นวัสดุที่มีความบางจนแสงสามารถส่องทะลุได้ เช่น ผ้าก๊อซหรือตาข่าย แม้ว่าจะใช้งานได้จำกัดเนื่องจากกินพื้นที่มาก แต่ผ้ากระจายแสงให้แสงที่นุ่มนวลและกระจายไปในพื้นที่ที่กว้างกว่าเมื่อเทียบกับอุปกรณ์กระจายแสงประเภทบ็อกซ์ ผ้ากระจายแสงปกติจะติดตั้งโดยใช้ขาตั้งไมโครโฟน
ผ้ากระจายแสงมีขายทั่วไป แต่คุณสามารถใช้ผ้าที่แสงสามารถส่องทะลุแทนได้
ตัวอย่างที่ถ่ายโดยใช้การจัดแสงด้วยผ้ากระจายแสง
ในตัวอย่างนี้ มีการใช้ร่มทะลุร่วมกับผ้ากระจายแสงเพื่อทำให้แสงกระจายตัวทั่วพื้นที่อย่างนุ่มนวล จึงทำให้สีผิวของตัวแบบดูเรียบเนียนยิ่งขึ้น
EOS-1Ds Mark II/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL: 70mm/ Manual (f/7.1, 1/160 วินาที)/ ISO 200/ WB: Manual - 5000K
กริด
กริดหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Grid spot คืออุปกรณ์เสริมที่มีรูปร่างคล้ายตะแกรงสำหรับต่อเข้ากับแฟลชหรือซอฟต์บ็อกซ์ กริดสามารถใช้ควบคุมพื้นที่ที่จะส่องแสงไปและกระจายแสงในพื้นที่แคบกว่าเดิมได้ อุปกรณ์เสริมนี้จะเป็นประโยชน์เมื่อเราจำเป็นต้องควบคุมเงาในระหว่างการถ่ายภาพ
กริดที่แสดงด้านบนสำหรับติดเข้ากับซอฟต์บ็อกซ์
ไม่ใช้กริด
EOS-1Ds Mark II/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/5.6, 1/160 วินาที)/ ISO 400/ WB: Manual - 5000K
แสงจากซอฟต์บ็อกซ์สามารถกระจายได้เป็นวงกว้าง
ใช้กริด
EOS-1Ds Mark II/ EF24-70mm f/2.8L USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/5.6, 1/160 วินาที)/ ISO 400/ WB: Manual - 5000K
ในภาพนี้แสงจะส่องในบริเวณที่แคบกว่าเมื่อเทียบกับภาพทางซ้าย
กริดและพื้นที่รับแสง
กริดรูปตาข่ายที่ต่อเข้ากับแฟลชยังเรียกอย่างหนึ่งว่ากริดรังผึ้ง (Honeycomb grid) เนื่องจากมีลักษณะเหมือนกับรังผึ้ง ตาข่ายที่เรียงตัวกันแน่นมากขึ้นนั้นจะช่วยลดพื้นที่ที่รับแสงลง ดังนั้น หากเตรียมกริดไว้หลายๆ ชิ้นสำหรับใช้กับพื้นที่รับแสงที่แตกต่างกัน คุณจะสามารถเลือกถ่ายภาพที่เหมาะสมตามสถานการณ์ได้
เราสามารถทราบถึงพื้นที่รับแสงของกริดได้จาก "มุม" ซึ่งจะระบุไว้ในชื่อหรือรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมุมที่เล็กลงจะแสดงถึงพื้นที่รับแสงที่แคบลงนั่นเอง
หากคุณเป็นมือใหม่สำหรับการถ่ายภาพด้วยแฟลชภายนอก โปรดอ่านบทความต่อเนื่องต่อไปนี้
จุดโฟกัส: พื้นฐานสำหรับการถ่ายภาพด้วยแฟลชเสริม
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
Suna ทำงานเป็นช่างภาพในวันธรรมดาเสียส่วนใหญ่และนำเทคนิคถ่ายภาพใหม่ๆ มาใช้อยู่เสมอ อีกทั้งยังเผยแพร่คำอธิบายที่เรียบเรียงอย่างดีและเข้าใจง่ายผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter อีกด้วย
ชาวคอสเพลย์ผู้กำลังร่วมโปรเจกต์แต่งคอสเพลย์หลายโปรเจกต์ อาทิ Fate, Danganronpa และ Hatsune Miku ในขณะนี้ เธอโด่งดังมากจากผลงานภาพถ่ายที่เน้นฉากในภาพยนตร์ต่างๆ
Kanata เป็นทั้งชาวคอสเพลย์และศิลปินสมัยใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะทรงรูป (Plastic arts) เขามีชื่อเสียงจากพื้นผิวอาวุธและอุปกรณ์ป้องกันที่มีรายละเอียดมาก นอกจากนี้ Kanata ยังเป็นชาวคอสเพลย์อย่างเป็นทางการให้กับอะนิเมะเรื่อง “Kabaneri of the Iron Fortress”
สำนักพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับวิดีโอ การถ่ายภาพ และภาพประกอบ