การถ่ายทอดโทนสีดีเยี่ยมและการเกลี่ยแสงสวยสร้างความรู้สึกสมจริงให้กับภาพถ่ายรถไฟ
ในการถ่ายภาพรถไฟ คุณอาจต้องรับมือกับตัวแบบที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงหลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง ในภาพถ่ายรถไฟ มีตัวแบบมากมายที่จะนำมาถ่ายได้ นับตั้งแต่รูปลักษณ์ของยานพาหนะที่สวยงาม อันเป็นผลจากการตกผลึกความคิดอันชาญฉลาดของมนุษย์ ไปจนถึงทิวทัศน์ที่รถไฟเคลื่อนผ่าน รวมถึงฉากที่ผู้คนกำลังทำงานในบริเวณนั้น แสงและเงา เหล็กและผู้คน ความนิ่งสงบและการเคลื่อนไหว พลังการถ่ายทอดของกล้องฟูลเฟรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยเมื่อนำเอาองค์ประกอบที่มาควบคู่กันเหล่านี้เข้ามาไว้ในผลงานภาพถ่ายของคุณ (เรื่องโดย: Yuya Yamasaki)
EOS-1D X/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 23 มม./ Manual exposure (1/1000 วินาที, f/6.3)/ ISO 50/ WB: แสงแดด
กล้องฟูลเฟรมซึ่งให้คุณใช้ทางยาวโฟกัสของเลนส์โดยไม่ต้องแปลงค่าตัวคูณใดๆ นั้นเป็นทางเลือกที่เหมาะที่สุดที่จะใช้กับเลนส์มุมกว้างเพื่อขับเน้นรูปทรงที่ทันสมัยปราดเปรียวของรถไฟ และยังมีฟังก์ชั่นสนับสนุนที่ช่วยในการถ่ายทอดโทนสีที่มีช่วงกว้างมาก แม้ว่าแสงสว่างจะมีความเปรียบต่างสูงในขณะที่ถ่ายก็ตาม
EOS 6D/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 31 มม./ Manual exposure (1/500 วินาที, f/4)/ ISO 800/ WB: แสงแดด
ทางเดินบนภูเขาปกคลุมด้วยหมู่เมฆที่อุ้มน้ำฝนมารดเหนือผืนดินย่านนั้น เพื่อไม่ให้ภาพรถไฟเบลอ ผมเพิ่มความไวแสง ISO เพื่อให้ชัตเตอร์ทำงานรวดเร็วขึ้น ไม่เพียงแค่โทนสีที่ประณีตและนุ่มนวลในภาพถ่ายเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งก็คือ กล้องฟูลเฟรมยังแสดงให้เห็นพลังการแยกรายละเอียดที่แม่นยำโดยให้รายละเอียดภาพสมจริง
EOS-1D X/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (1/25 วินาที, f/2.8)/ ISO 3200/ WB: แสงแดด
แม้ว่าในภาพที่ใช้ความไวแสง ISO ที่สูงเป็นพิเศษ ซึ่งความเปรียบต่างมักจะมีมาก แต่การเกลี่ยแสงของกล้องฟูลเฟรมก็ยังคงความนุ่มนวลอยู่ กล้องนี้มีความโดดเด่นในเรื่องการแสดงรายละเอียดและสีของส่วนที่เป็นเงาซึ่งมักจะมืดเกินไป และแสดงให้เห็นถึงจุดแข็งของกล้องโดยเฉพาะในการถ่ายภาพกลางคืน
EOS 6D/ EF70-200mm f/4L IS USM/ FL: 200 มม./ Manual exposure (1/125 วินาที, f/18)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
การสะท้อนแสงและเงาในตู้โดยสารรถไฟสร้างความเปรียบต่างที่น่าประทับใจ ด้วยช่วงไดนามิกเรนจ์ที่กว้าง จึงให้การเกลี่ยแสงที่ละเอียดจากบริเวณเงามืดไปยังบริเวณที่สว่าง ดังนั้น พลังการแยกรายละเอียดที่ยอดเยี่ยมทำให้สามารถขับเน้นลักษณะพื้นผิวโลหะของยานพาหนะชนิดนี้ออกมาได้
เพื่อการถ่ายภาพรถไฟที่ให้สัมผัสสมจริง
แม้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขการถ่ายภาพที่ยากลำบาก
ในภาพถ่ายรถไฟ นอกเหนือจากการถ่ายภาพตู้โดยสารรถไฟตรงๆ แล้ว คุณยังสามารถรวมเอาทิวทัศน์อันงดงามที่รถไฟเคลื่อนผ่าน หรือเน้นถึงความเร็วหรือพลังของรถไฟได้ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลากหลายสไตล์การถ่ายทอดที่คุณสามารถเลือกได้
โดยส่วนตัว เมื่อพิจารณาประสิทธิภาพการทำงานของกล้อง ผมจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของภาพถ่าย ไม่ว่าคุณกำลังถ่ายทอดความงดงามของฤดูกาลทั้งสี่ฤดู หรือพื้นผิวของรถไฟ คุณอาจไม่ได้ภาพดั่งใจหรือสื่อความหมายตามจุดประสงค์ของคุณได้ หากกล้องขาดพลังการแยกรายละเอียดและความสามารถในการสร้างสีสันที่ดีเพียงพอ ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากผมชอบถ่ายภาพภายใต้สภาพที่คนส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยง เช่น ฉากย้อนแสงและฉากกลางคืน ความละเอียดในการเกลี่ยแสงระหว่างการถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO สูงก็เป็นข้อพิจารณาสำคัญอีกข้อหนึ่งเวลาที่ผมตรวจเช็คคุณภาพของภาพด้วย
อาจเป็นเพราะว่าโดยทั่วไปคนมักคิดว่า ตู้โดยสารรถไฟนั้นควรถ่ายจากระยะไกล หลายคนจึงอาจคิดว่า เลนส์เทเลโฟโต้น่าจะเป็นเลนส์ที่นิยมใช้มากที่สุด แต่แท้จริงแล้ว ผมใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อขับเน้นหรือสร้างภาพที่มีพลังสื่ออารมณ์เสมอ สำหรับผม เลนส์ EF16-35mm f/2.8L II USM ที่ผมใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งให้พลังการแยกรายละเอียดที่เหมาะกับคุณภาพภาพถ่ายของกล้องฟูลเฟรม และมีมุมรับภาพที่ใช้งานง่าย นอกจากนี้ ด้วยรูรับแสงกว้างสุดที่ให้ความสว่างขนาด f/2.8 เลนส์นี้จึงเป็นคู่หูที่ดีเยี่ยม เหมาะกับการหยุดการเคลื่อนไหวของรถไฟที่กำลังวิ่ง โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่รวดเร็ว
คุณภาพของภาพถ่ายกล้องฟูลเฟรมนั้นถือว่าเต็มเปี่ยม แทนที่จะจำกัดตัวเองอยู่เพียงแค่การถ่ายภาพสองมิติธรรมดาๆ ผมต้องการที่จะแสดงคุณภาพภาพถ่ายสูงออกมาโดยให้มีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น ลมและเสียงเข้าด้วยกันกับรถไฟซึ่งเป็นตัวแบบหลัก ทั้งนี้ก็เพื่อปลุกสัมผัสที่สมจริงให้คนดูรับรู้ ราวกับว่าพวกเขาอยู่ที่นั่นด้วย
“EOS-1D X” เป็นกล้องที่ “ต้องมี” สำหรับงานของผม ประสิทธิภาพการถ่ายต่อเนื่องดียอดเยี่ยมเมื่อคุณถ่ายภาพรถไฟกำลังวิ่งด้วยความเร็วสูง ไม่เพียงเท่านั้น ประสิทธิภาพความไวแสง ISO สูงของกล้องนี้ทำให้ภาพถ่ายคมชัดแม้ในยามที่แสงไม่เพียงพอ ผนวกกับการจับถือที่ออกแบบมาได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ความสามารถในการควบคุม และการใช้งานต่างๆ กล้อง EOS-1D X นับได้ว่าเป็นกล้องที่สมบูรณ์แบบตัวหนึ่งเลยทีเดียว
“EF16-35mm f/2.8L II USM” เป็นเลนส์ที่ผมใช้มากที่สุด เลนส์ L ตัวนี้สามารถดึงเอาพลังในการแยกรายละเอียดของกล้องฟูลเฟรมความละเอียดสูงออกมาได้ โดยมีค่ารูรับแสงที่ f/2.8 ตลอดช่วงซูม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่ต้องการขับเน้นรถไฟ
อีกหนึ่งเลนส์โปรดของผมคือ “EF70-200mm f/2.8L IS II USM” ความสามารถรอบตัว สามารถใช้สำหรับการถ่ายรูปทรง ทิวทัศน์ สแนปช็อต หรือสร้างความรู้สึกที่ทรงพลังก็ได้ นอกจากคุณภาพภาพถ่ายระดับสูงแล้ว คุณสมบัติ IS ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในการถือกล้องถ่ายภาพอีกด้วย เพราะมีแฟลร์และโกสต์ต่ำมาก เลนส์นี้จึงให้ภาพที่มีความเปรียบต่างพอเหมาะและคมชัด แม้จะถ่ายในสภาพย้อนแสง
ฟังก์ชั่นของกล้องที่ผมใช้บ่อยๆ คือ “ขยายความไวแสง ISO” เช่น เมื่อถ่ายภาพแบบแพนกล้องในสภาพแวดล้อมที่สว่าง ผมอาจลดความไวแสง ISO ลงเป็น “L” เพื่อให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลงโดยที่แทบไม่ต้องลดค่ารูรับแสงลงเลย ขณะเดียวกัน หากต้องการหยุดความเคลื่อนไหวของรถไฟที่กำลังวิ่งในเวลากลางคืน ผมจะเลือก “H” เพื่อถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่รวดเร็วที่สุดที่เป็นไปได้
Yuya Yamasaki
เกิดเมื่อปี 1970 ในเมืองฮิโรชิมา ยามาซากิเป็นตัวแทนของ “Railman Photo Office” ห้องสมุดภาพถ่ายเฉพาะทางด้านภาพถ่ายรถไฟ เขาทำผลงานภาพถ่ายทางรถไฟจากมุมที่แปลกใหม่ด้วยไหวพริบพิเศษของเขา