ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 10: บทสัมภาษณ์ Edgar Su มืออาชีพด้านกล้อง EOS
1. คุณช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเส้นทางการถ่ายภาพของคุณสักเล็กน้อย
ผมเป็นช่างภาพงานข่าวระหว่างประเทศประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีประสบการณ์ในแวดวงนี้ประมาณ 10 ปี ขอบข่ายงานของผมอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งถ่ายภาพข่าว กีฬา และความบันเทิง ผมชื่นชอบการถ่ายภาพสตรีท เพราะช่วยให้ผมผ่อนคลายและใช้ความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา ส่วนใหญ่แล้วผมจะถ่ายภาพด้วยกล้องคอมแพคและสมาร์ทโฟน ในปีนี้ผมเริ่มสนใจการพิมพ์ภาพ เพราะรู้สึกว่ายังขาดอะไรบางอย่างในประสบการณ์การถ่ายภาพของตัวเอง ภาพที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์และคอมพิวเตอร์จะไร้ความหมายหากไม่นำมาพิมพ์เป็นภาพถ่าย
2. ช่วยอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์ของคุณ คุณได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรบ้าง และเพราะเหตุใด
ในการทำงาน กระบวนการจะง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เราจะบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายที่สมจริงและส่งผลต่ออารมณ์ แต่สำหรับโปรเจกต์ถ่ายภาพส่วนตัวของผม ตัวแบบจะหลากหลายตั้งแต่ที่เป็นนามธรรมไปจนถึงตัวแบบที่แปลกแหวกแนว อันที่จริงไม่มีข้อกำหนดที่ยากและเคร่งครัดมากมายนักในการถ่ายภาพของผม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสนุก
3. เมื่อถ่ายภาพโดยตั้งใจว่าจะนำไปผลิตงานพิมพ์ คุณจะคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง
ในเชิงเทคนิค หากคุณจะผลิตงานพิมพ์ชิ้นใหญ่ ภาพจะต้องคมชัด ส่วนขาตั้งกล้องหรือเลนส์ที่เลือกใช้นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของการถ่ายภาพที่คุณต้องการ โดยปกติผมจะไม่ใช้ขาตั้งกล้องเพราะต้องการเดินทางแบบเบาๆ หากผมจะถ่ายภาพแบบเปิดรับแสงนาน ผมจะวางกล้องไว้บนกระเป๋ากล้องแทน งานพิมพ์ส่วนใหญ่ของผมจะเริ่มที่ขนาด A4 เนื่องจากช่วยให้ผมตัดสินใจได้ว่าควรพิมพ์ภาพเหล่านั้นบนผืนผ้าใบที่มีขนาดใหญ่ขึ้นดีหรือไม่ จากนั้น ผมจะนำภาพที่ชอบไปพิมพ์บนกระดาษขนาด A3 อีกครั้ง สำหรับภาพสแนปช็อตในวันหยุดนั้น ปกติผมจะพิมพ์ลงบนโปสการ์ด 4R หรือกระดาษญี่ปุ่นขนาด 2L นอกจากนี้ ผมกำลังคิดว่าจะพิมพ์ภาพถ่ายจาก Instagram ของตัวเองออกมาเป็นอัลบั้มภาพขนาดพกพาอีกด้วย
4. ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยว่าคุณใช้ซอฟต์แวร์อะไรบ้างในการตกแต่งภาพ
ผมใช้แต่ Adobe Lightroom เพราะเป็นซอฟต์แวร์แบบครบวงจรที่ตอบสนองได้ทุกความต้องการ และเป็นมีเครื่องมือต่างๆ ในการจัดการสี คุณจึงสามารถโหลดโปรไฟล์ ICC สำหรับกระดาษ และตรวจสอบผลลัพธ์งานพิมพ์เบื้องต้นที่จำลองขึ้นบนหน้าจอ และยังต้องปรับความเปรียบต่างและความสว่างของภาพสำหรับกระดาษประเภทต่างๆ เพื่อให้หมึกมีความหนาแน่นที่เหมาะสมอีกด้วย นอกจากนี้ Adobe Lightroom ยังเป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมสำหรับจัดการกับไลบรารีภาพของคุณ ในบางครั้งการติดตามภาพที่ถ่ายไปในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นเรื่องยาก ผมจึงใช้โฟลเดอร์ Smart Collection เพื่อติดตามตัวแบบที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ผมสามารถเพิ่มตัวกรองการค้นหา เช่น "สีแดง" และภาพทั้งหมดที่ติดป้ายสีแดงจะปรากฏขึ้นใน Smart Collection ของผม ซึ่งช่วยประหยัดเวลาได้ดีจริงๆ! ส่วนในเรื่องการปรับโทนสีหรือการปรับแต่งภาพนั้น Adobe Lightroom มีเครื่องมือต่างๆ สำหรับครอป ปรับสมดุลแสงขาว ลบจุดฝุ่นละออง ปรับการแปลงเป็นภาพขาวดำ ฯลฯ อีกด้วย
5. คุณได้ใช้ประโยชน์จากฮาร์ดแวร์การจัดการสีเพื่อปรับเทียบหน้าจอกับเครื่องพิมพ์บ้างหรือไม่
สิ่งสำคัญมากคือ การตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณได้ทำการปรับเทียบสีบนจอภาพแล้ว ผมใช้เครื่องวัดสีทั้ง Spyder5PRO และ ColorMunki ซึ่งทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยหลักการแล้ว เครื่องวัดสีควรมีคุณสมบัติการชดเชยแสงโดยรอบ เพื่อปรับความสว่างของหน้าจอตามสภาพแสงโดยรอบ แม้แต่การปรับเทียบขั้นพื้นฐานที่สุดบน Macbook Pro ของผม ยังช่วยให้ได้งานพิมพ์ที่น่าพอใจ นอกจากนี้ จอภาพบางรุ่นในตลาดยังมีระบบการปรับเทียบสีในเครื่องด้วยเช่นกัน
6. คุณชอบตั้งค่าการพิมพ์แบบใดเป็นพิเศษและเพราะเหตุใด
ผมถ่ายภาพและจัดการรูปถ่ายต่างๆ ในปริภูมิสี AdobeRGB และใช้ตัวเลือกการปรับค่าสี Perceptual ใน Lightroom เพื่อพิมพ์ภาพถ่าย ผมคิดว่าการปรับแต่งต่างๆ สำหรับการตกแต่งภาพในโหมด Soft-proofing ก่อนพิมพ์นั้นให้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม
7. เมื่อผลิตงานพิมพ์ คุณใช้เครื่องพิมพ์รุ่นไหนและเพราะเหตุใด
ผมใช้เครื่องพิมพ์ Canon PIXMA PRO-10 เพราะชอบคุณสมบัติ Wi-Fi อย่างมาก การพิมพ์ภาพผ่าน Wi-Fi ให้อิสระในการทำงานโดยไม่ต้องอยู่ใกล้เครื่องพิมพ์เมื่อคราวจำเป็น นอกจากนี้ ผมยังชอบหมึก Pigment มากกว่าแบบ Dye เพราะหมึก Pigment มีความคงทนกว่า และมักพบได้ทั่วไปในเครื่องพิมพ์รุ่นสูงๆ กล่าวได้ว่างานพิมพ์ที่ใช้หมึก Pigment จะอยู่ได้นานอย่างน้อย 250 ปี ขณะที่เครื่องพิมพ์ที่ใช้หมึก Dye จะอยู่ได้ราว 100 ปี
8. คุณชอบกระดาษชนิดใดมากที่สุด และเพราะเหตุใด
ผมชอบใช้กระดาษแบรนด์ Ilford และ Pictorico ทั้งสองผู้ผลิตนี้มีโปรไฟล์ ICC ให้ดาวน์โหลด และยังมีกระดาษแบบต่างๆ ที่มีน้ำหนักและพื้นผิวแตกต่างกัน ผมชอบกระดาษที่มีน้ำหนักมากตั้งแต่ 280 แกรมถึง 310 แกรมต่อตารางเมตร ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบ ทั้งผิวมัน มันเงา ด้านแบบมีลวดลาย หรือด้านแบบมีผิวเรียบ ส่วน Pictorico มีกระดาษฟิล์มสีขาวที่มันเงามาก ซึ่งจะดูมันจนเกือบเหมือนเมทัลลิกหลังจากพิมพ์ออกมา ตัวแบบที่แตกต่างกัน เช่น ทิวทัศน์ หรือพอร์ตเทรต จะใช้กระดาษต่างชนิดกัน
กระดาษที่มันเงามากอาจใช้ได้ดีมากสำหรับภาพที่ถ่ายทอดสายน้ำหรือของเหลว แต่อาจไม่เหมาะนักสำหรับภาพพอร์ตเทรต ภาพขาวดำบางภาพเหมาะกับการพิมพ์บนกระดาษแบบด้านมากที่สุด เพื่อถ่ายทอดแบบฉบับของงานวิจิตรศิลป์ นอกจากนี้ยังมีกระดาษญี่ปุ่น Kozo ที่บางเป็นพิเศษ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับภาพดอกไม้และทิวทัศน์ ซึ่งผู้ผลิตกระดาษอย่าง Awagami มีตัวอย่างกระดาษมาให้ถึง 14 แบบพร้อมคำแนะนำในการตั้งค่าเครื่องพิมพ์
คลิกที่นี่เพื่ออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ: การเลือกกระดาษสำหรับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์
9. คุณมีวิธีเก็บหรือนำเสนองานพิมพ์อย่างไร และเพราะเหตุใดจึงทำเช่นนั้น
หลังจากพิมพ์ภาพถ่ายทั้งหมดนี้ ผมก็เผชิญกับปัญหาที่ว่า ผมควรทำอย่างไรกับมันดี ผมมองหากรอบรูปสวยๆ จากร้านขายของกระจุกกระจิกอย่าง Crate and Barrel ฯลฯ โดยมองหากรอบที่เหมาะกับงานพิมพ์และประดับบ้านได้ด้วย ส่วน IKEA ก็ขายกรอบรูปแบบต่างๆ มากมาย และราคาไม่แพง กรอบที่ทำเองแม้จะดีมากๆ แต่ก็มีราคาแพงกว่า และโดยปกติผลงานจะต้องอยู่ในกรอบภาพแบบถาวร แม้ว่าภาพที่ใส่กรอบแขวนอยู่จะมีความเป็นศิลปะในตัวอยู่แล้ว แต่ผมควรจะแขวนเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบดีหรือไม่ หรือควรจะทำผนังให้ดูเด่นโดยแขวนกรอบรูปที่มีขนาดและดีไซน์แตกต่างกัน สิ่งที่ควรคำนึงถึงมีมากมาย แต่ก็นับเป็นโปรเจ็กต์ช่วงสุดสัปดาห์ที่น่าสนุกไม่น้อย
นอกจากนี้ ผมยังเก็บงานพิมพ์ภาพวิจิตรศิลป์ไว้ในแฟ้มและกล่องกระดาษเกรดสูงสุด เพื่อป้องกันรอยยับ ฝุ่นละออง และรังสียูวี วันหนึ่งจะมีคนเอาภาพเหล่านี้ไปแขวนไว้ตามบ้านและร้านกาแฟ แต่สำหรับตอนนี้ ผมคงค่อยๆ เก็บสะสมไว้ก่อน
10. คุณมีเคล็ดลับอื่นๆ สำหรับตากล้องมือใหม่ที่ต้องการสร้างงานพิมพ์แบบวิจิตรศิลป์หรือไม่
มีครับ ขอให้คิดถึงเป้าหมายไว้ หลีกเลี่ยงที่จะเป็นคนสะสมงานพิมพ์อย่างผม หาตัวแบบในการถ่ายภาพที่คุณสนใจและพุ่งเป้าไปที่การจัดนิทรรศการเล็กๆ คุณควรลองไปห้องสมุดท้องถิ่นหรือศาลากลางเพื่อหาพื้นที่จัดนิทรรศการ หากคุณเป็นช่างภาพธรรมชาติมือใหม่ คุณอาจไปอุทยานแห่งชาติในประเทศของตัวเองเพื่อขอการสนับสนุน อย่างน้อยที่สุด ควรพิมพ์ภาพถ่ายครอบครัวเก็บไว้และโชว์ให้คนที่คุณรักดู เพราะนั่นคือภาพถ่ายแห่งความทรงจำอันยอดเยี่ยม อย่าแค่เก็บภาพพวกนี้ไว้ในฮาร์ดไดรฟ์หรือ Facebook ของคุณ จงพิมพ์มันออกมา!
11. ตั้งแต่ผลิตงานพิมพ์เป็นต้นมา คุณชื่นชอบผลงานชิ้นไหนมากที่สุด และเพราะเหตุใด
ตอนนี้ภาพที่ผมชอบคือ ภาพวันหยุดที่ผมถ่ายเมื่อไม่นานมานี้ในฮอกไกโด เป็นภาพที่ผมกับภรรยากำลังยืนอยู่ข้างรถเช่า ด้านหน้าก้อนเมฆรูปทรงแปลกตา ผมแค่วางกล้องไว้บนพื้นดินและตั้งเวลาไว้เท่านั้น ภาพที่ได้ดูสวยงามและเตือนให้ผมจดจำถึงช่วงเวลาดีๆ ในระหว่างวันหยุดของเรา ผมเดาว่านั่นเป็นเหตุผลที่ผมชอบภาพนี้มากๆ
12. ท้ายสุดนี้ ทำไมคุณจึงพิมพ์ภาพถ่าย
ตอนนี้ผมพิมพ์ภาพถ่ายเพราะน่าสนุกดีครับ และผมคิดว่าในระดับการถ่ายภาพส่วนตัว การพิมพ์ภาพควรจะเป็นเป้าหมายสำหรับเหตุผลว่าทำไมเราจึงถ่ายภาพ มันคือการมีวัตถุให้เราจับต้องได้ เพราะกฎของเมอร์ฟีย์บอกเราว่า ฮาร์ดดิสก์และไดร์ฟสำรองข้อมูลอาจมีวันที่ใช้งานไม่ได้ และผมหวั่นกลัววันที่ไม่มีผลงานแสดงในฐานะช่างภาพมืออาชีพ นอกจากนี้ การพิมพ์ภาพยังช่วยพัฒนาทักษะการจัดองค์ประกอบภาพ เพราะเมื่อเรามองงานพิมพ์ที่อยู่ในกรอบรูปเมื่อเวลาผ่านไปจะเห็นทั้งความสวยงามและข้อบกพร่อง ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีเยี่ยม โดยอย่างยิ่งสำหรับภาพถ่ายที่มีองค์ประกอบภาพที่เรียบง่ายมากๆ อาจมีสิ่งมีค่ามากมายที่เรามองข้ามไปในฮาร์ดดิสก์พวกนั้นก็เป็นได้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!