ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ - ตอนที่ 9: การกำหนดสไตล์การใช้สีและโทนสี
การสร้างงานพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์เป็นงานที่ใช้ความทุ่มเทด้วยใจรัก ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มใช้เวลานานหลายชั่วโมงในห้องมืดเพื่อล้างฟิล์มเนกาทีฟและปรับงานพิมพ์อย่างละเอียด ส่วนช่างภาพดิจิตอลก็ใช้เวลากับคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับแต่งภาพในห้องมืดดิจิตอลเป็นเวลานานเช่นกัน ซึ่งการเพิ่มสีสันหรือโทนสีให้กับภาพถ่าย ช่างภาพดิจิตอลจะได้รับโอกาสอันล้ำค่าในการถ่ายทอดเอกลักษณ์และความคิดเชิงสร้างสรรค์สู่งานพิมพ์
การกำหนดชุดสีในภาพถ่ายของคุณเอง
ในฐานะช่างภาพวิจิตรศิลป์ การเลือกชุดสีที่ใช้จะต้องสอดรับกับสไตล์การถ่ายภาพของคุณ เราจะเห็นตัวอย่างการใช้สีโทนเย็นอย่างเชี่ยวชาญได้จากซีรีย์เรื่อง Game of Thrones ที่ออกอากาศทางช่อง HBO หรือผลงานย้อนยุคของฮอลลีวู้ดอย่าง The Revenant ซึ่งโทนสีเย็นมีส่วนช่วยสร้างความลึกลับขณะที่เรื่องราวดำเนินไป ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น Mad Max หรือ The Martian ใช้ประโยชน์จากโทนสีแดงในเชิงสื่อนัยเพื่อเน้นถึงพลังและการทำลายล้างของดินแดนทะเลทราย ถ้าต้องการสร้างชุดสีที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร คุณจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องมือต่อไปนี้ในปลั๊กอินของ Adobe Camera Raw สำหรับ Photoshop เมื่อใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างชำนาญแล้ว คุณจะสามารถนำสไตล์ของตัวเองไปปรับใช้กับซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพเกือบทุกประเภทได้
ชุดสีโทนเย็น
ชุดสีโทนอุ่น
สมดุลแสงขาว
โดยพื้นฐาน การแก้ไขสมดุลแสงขาวคือกระบวนการปรับแต่งสี เพื่อให้ส่วนที่เป็นสีขาวหรือเทาในภาพแสดงสีอย่างถูกต้อง แต่สำหรับช่างภาพเชิงสร้างสรรค์ สมดุลแสงขาวเป็นเครื่องมือที่ส่งผลต่ออารมณ์ของภาพขั้นสุดท้ายด้วยเช่นกัน
การปรับสมดุลแสงขาวเพื่อปรับเปลี่ยนภาพทิวทัศน์
ต่อไปนี้คือวิธีการตั้งค่าสมดุลแสงขาวทั้งสามแบบใน Adobe Camera Raw (ACR) ได้แก่ แถบเลื่อนอุณหภูมิและเฉดสี เมนูดร็อปดาวน์ที่ตั้งค่าสมดุลแสงขาวล่วงหน้า และเครื่องมือสมดุลแสงขาว ตัวอย่างเช่น เมื่อเลื่อนแถบเลื่อนอุณหภูมิและเฉดสี คุณสามารถปรับเปลี่ยนภาพทิวทัศน์ในฤดูใบไม้ร่วงที่เยือกเย็นให้กลายเป็นภาพที่เปล่งประกายไปด้วยแสงยามพลบค่ำได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถทำให้แสงยามพระอาทิตย์ตกดูเข้มขึ้นได้ด้วยการเพิ่มอุณหภูมิสีของฉาก แทนที่จะพยายามทำให้เกิดจุดสีขาวกลางๆ ในภาพถ่าย
Split-toning
Split-toning คือเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มสีสันสองแบบสองสไตล์ให้กับส่วนของไฮไลต์และเงาในภาพถ่าย โดยเทคนิคนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทั้งภาพสีและขาวดำ ช่างภาพมักใช้เทคนิค Split-toning ในภาพพอร์ตเทรตขาวดำ เพื่อเพิ่มเลเยอร์โทนสีอีกชั้นให้กับงานพิมพ์สุดท้าย Split-toning สามารถทำให้ส่วนที่เป็นเงาดูอบอุ่นขึ้นหรือส่วนของไฮไลต์ดูเยือกเย็นเพื่อเลียนแบบเอฟเฟ็กต์แบบโลหะ เช่น โทนสีทองแดง ส่วนโทนสีซีเปียเป็นเอฟเฟ็กต์ Split-toning อย่างหนึ่งที่นิยมใช้เพื่อเลียนแบบภาพถ่ายแบบวินเทจ
เอฟเฟ็กต์ Split-toning
สำหรับงานพิมพ์สี Split-toning ช่วยให้งานพิมพ์ขั้นสุดท้ายมีชุดสีที่แตกต่างไม่ซ้ำใคร ตัวอย่างเช่น หากต้องการ "ปรับสี" ในส่วนของเงาให้มีสีทองแดงอมเขียว เพียงแค่คลิกที่แท็บ Split-toning เลือกเงา และเลื่อนแถบเลื่อนเพื่อเลือกช่วงสีตามต้องการ เอฟเฟ็กต์ที่คุณเลือกจะแสดงขึ้นบนจอ ช่วยให้ทดลองใช้สีสันต่างๆ ในภาพได้ง่าย เมื่อคุณนำเอฟเฟ็กต์ Split-toning มาใช้ในแฟ้มภาพถ่ายอย่างต่อเนื่อง คุณจะสามารถสร้างเอกลักษณ์และสไตล์ที่บ่งบอกความเป็นคุณได้
HSL Grayscale
เครื่องมือนี้มีประสิทธิภาพในการเพิ่มสีสันและสามารถใช้ปรับเฉดสี (สี) ความอิ่มตัวของสี (ความเข้ม) และความส่องสว่าง (ความสว่าง) ของภาพได้อย่างอิสระ ตัวอย่างเช่น เมื่อเลือกแท็บความอิ่มตัวของสี คุณสามารถสร้างพระอาทิตย์ตกดินที่ดูอบอุ่นขึ้นหรือเพิ่มโทนสีแดงของดอกไม้ได้เพียงแค่เลื่อนแถบเลื่อนสีที่ต้องการดังเช่นในภาพด้านล่างนี้ และคุณยังสามารถเปลี่ยนเฉดสีและความส่องสว่างได้ด้วยวิธีการเดียวกัน
ก่อนและหลังการปรับแต่งเฉดสี ความอิ่มตัวของสี และความส่องสว่าง
ก่อนและหลังจากการแปลงเป็น Grayscale
การปรับแต่ง HSL ในภาพถ่าย
Tone Curve
เครื่องมือ Tone Curve ช่วยควบคุมส่วนของไฮไลต์ โทนสีกลาง และเงาในงานพิมพ์ของคุณได้อย่างละเอียด เมื่อคุณดึง Tone Curve ขึ้นตามภาพ ระดับแสงของภาพทั้งภาพจะสว่างขึ้น ในทางกลับกัน หากดึง Tone Curve ลงจะส่งผลให้ภาพทั้งภาพดูมืดลงเช่นกัน นอกจากนี้ เครื่องมือยังสามารถกำหนดเอฟเฟ็กต์ "สีซีด" ให้กับภาพทั้งภาพได้เพียงแค่ขยับปลายจุดเงาขึ้นด้านบน
Tone Curve มีประโยชน์สำหรับการสร้างภาพถ่ายขาวดำที่มีความเปรียบต่างสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้ Tone Curve รูปตัว S กับภาพขาวดำ การพลิกแพลงใช้งาน Tone Curve ด้วยความระมัดระวังเป็นขั้นตอนที่จำเป็นมากในการสร้างงานพิมพ์ภาพแบบวิจิตรศิลป์ที่สวยงามตราตรึงใจ
การสร้างเอฟเฟ็กต์สีซีด
การสร้างภาพถ่ายขาวดำ
สรุป
เมื่อฝึกใช้เครื่องมือสมดุลแสงขาว, Split-toning, HSL Grayscale และ Tone Curve จนเชี่ยวชาญแล้ว ช่างภาพจะสามารถสร้างสีสันและโทนสีให้กับภาพถ่าย และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์ให้ "โลดแล่น" ในงานพิมพ์ของตน
ในบทความถัดไป เราจะเรียนรู้วิธีแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ในภาพที่เกิดจากเลนส์หรือเซนเซอร์ของกล้อง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!