ในการถ่ายภาพสตรีทนั้น ช่างภาพจะถ่ายภาพสิ่งที่เขาหรือเธอเห็นว่าสวยงามหรือแปลกใหม่ในสถานที่ที่พบเจอในชีวิตประจำวันหรือขณะเดินทางท่องเที่ยว ด้วยกล้อง Canon EOS DSLR คุณสามารถถ่ายภาพสตรีทให้มีความน่าประทับใจได้มากขึ้น โดยใช้การตั้งค่ากล้องที่หลากหลายขึ้น ในที่นี้ เราจะแสดงการตั้งค่ากล้องบางอย่างและแนะนำเคล็ดลับจากช่างภาพมืออาชีพที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คุณออกไปถ่ายภาพ
หยุดการเคลื่อนไหวของน้ำที่สาดกระเซ็น
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 58 มม./ Shutter-priority AE (f/4, 1/1,000 วินาที, EV+1.7)/ ISO 400/ WB: 4,200K
เมื่อต้องการถ่ายภาพน้ำที่กำลังพุ่งขึ้นจากก็อกน้ำในสวนและสาดกระเซ็นให้สื่อพลังการเคลื่อนไหว ผมเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงในการถ่าย จุดสำคัญในที่นี้คือการเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่เร็วจนเกินไป
(ภาพและเรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
ปรับความเร็วชัตเตอร์เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของหยดน้ำ
ขอแนะนำให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/1000 วินาทีเพื่อหยุดภาพการกระจายของน้ำจากก็อก การทำเช่นนั้นทำให้น้ำที่พุ่งขึ้นอยู่เบลอเล็กน้อย จึงเป็นการเพิ่มมิติการเคลื่อนไหวให้ภาพ หากคุณต้องการถ่ายภาพโดยไม่ให้มีการสาดกระเซ็นเลย ให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/2000 วินาทีหรือเร็วกว่า
ชดเชยแสงเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่ให้ความรู้สึกเย็นสดชื่น
ผมตั้งค่าชดเชยแสงเป็น EV+1.7 เพื่อขับเน้นความรู้สึกเย็นสดชื่นของน้ำ ผมพยายามขับเน้นน้ำที่เป็นหยดโดยเลือกแบ็คกราวด์มืดๆ แต่ภาพทั้งภาพออกมามืดเกินไป ผมจึงเพิ่มความสว่างโดยการปรับปริมาณการเปิดรับแสง
การถ่ายภาพผู้คนเดินผ่านไปมาสไตล์สตรีท
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 35 มม./ Shutter-priority AE (f/6.3, 1/8 วินาที, EV+2.0)/ ISO 125/ WB: 4,900K
ผมใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าเพื่อเบลอการเคลื่อนไหวของคนที่เดินผ่านไปมาบนท้องถนน ในภาพนี้ ผมเพิ่มความรู้สึกของภาพผู้คนกำลังเดินขวักไขว่ให้มีพลังยิ่งขึ้นโดยการสร้างความเปรียบต่างกับประตูม้วนที่ปิดนิ่งอยู่เป็นแบ็คกราวด์
(ภาพและเรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
เลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของผู้คนที่เดินผ่านไปมาเบลอ
โดยทั่วไป ความเร็วชัตเตอร์ช้าที่ประมาณ 1/10 วินาทีเหมาะสมหากคุณต้องการเบลอการเคลื่อนไหวของคน เลือกโหมด Shutter-priority AE เพื่อจะได้เก็บค่าที่ตั้งไว้ให้คงที่ได้
สร้างภาพถ่ายที่ขับเน้นตัวแบบเคลื่อนไหว
เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่มีพลังในภาพถ่ายของคุณ สิ่งที่คุณทำได้คือการจัดองค์ประกอบภาพโดยสร้างความเปรียบต่างระหว่างตัวแบบเคลื่อนไหวกับตัวแบบนิ่ง ภาพนี้ ผมจับโฟกัสที่ประตูม้วนในแบ็คกราวด์และรอจนกว่าจะมีคนเดินผ่านก่อนที่จะกดถ่ายภาพ
การถ่ายภาพเด็กให้ดูเป็นธรรมชาติ
EOS 5D Mark III/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL: 145 มม./ Aperture-priority AE (f/9, 1/400 วินาที, EV+1.0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ฉันต้องการถ่ายภาพเด็กที่กำลังวิ่งเล่นบนสนามหญ้าอย่างสนุกสนานให้คมชัด ฉันเลือกถ่ายภาพจากจุดที่ห่างออกมาเพื่อสร้างบรรยากาศภาพที่ดูเป็นธรรมชาติและร่าเริงที่ถ่ายทอดการแสดงออกอย่างมีชีวิตชีวาของตัวแบบ
(ภาพและเรื่องโดย: Maiko Fukui)
เลือกทางยาวโฟกัสที่เหมาะสมเพื่อขับเน้นการแสดงออกที่เป็นธรรมชาติของตัวแบบ
ในการถ่ายภาพเด็กให้มีการแสดงออกที่ดูเป็นธรรมชาติ ฉันเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้และตั้งค่าทางยาวโฟกัสเป็น 145 มม. เพื่อถ่ายภาพจากระยะห่างระดับหนึ่งเพื่อไม่ให้เด็กตื่นกล้อง ฉันถ่ายภาพนี้เงียบๆ จากตำแหน่งที่ห่างออกมาขณะที่เธอกำลังเล่นกับพ่อแม่
เลือกค่า f ที่จับภาพตัวแบบได้คมชัด
ฉันตั้งค่ารูรับแสงที่เอื้อให้ฉันถ่ายภาพเด็กให้เห็นชัดเจนได้ เนื่องจากฉันใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เอฟเฟ็กต์แบ็คกราวด์เบลอจึงเกิดขึ้นที่ค่า f/9 ซึ่งช่วยขับเน้นตัวแบบให้ดูเด่น ดูให้แน่ใจว่าความเร็วชัตเตอร์ไม่ช้าเกินไป
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง Studio9 อีกด้วย
เกิดปี 1983 ในโอซาก้า ช่างภาพ ทำงานในงานถ่ายภาพนิตยสารและโฆษณา เขียนหนังสือ เวิร์คช็อปการถ่ายภาพ และอื่นๆ
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation