[ตอนที่ 1] โลกของเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ไม่เคยมีมาก่อนกับเลนส์ 11 มม.
ขอแนะนำเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์รุ่นใหม่ EF11-24mm f/4L USM นักพัฒนาสามารถผลิตเลนส์นี้ให้เป็นได้ทั้งเลนส์ L ที่มอบคุณภาพภาพสวยและมีระยะกว้างสุดแบบมุมกว้างอัลตร้าไวด์ 11 มม. ได้อย่างไร ในบทความซีรีส์นี้ (4 ตอน) ผมจะพาผู้อ่านไปดูเบื้องหลังการพัฒนาให้ได้รู้จักกับเลนส์รุ่นนี้มากขึ้นกันครับ (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
(จากซ้ายไปขวา)
ICP กลุ่ม 1: Shota Shimada
ศูนย์การพัฒนา ICP 1: Hideki Sakai
ศูนย์การพัฒนา ICP 1: Tadanori Okada
EF11-24mm f/4L USM
การพัฒนาชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมสำหรับการแก้ไขความบิดเบี้ยวครั้งสำคัญที่สุดของ Canon
- ก่อนอื่นเลย ผมอยากถามถึงคอนเซ็ปต์เบื้องต้นของการพัฒนาเลนส์ EF11-24mm f/4L USM
Shimada อย่างที่เห็นได้จากชื่อเลนส์ซึ่งระบุระยะโฟกัส คอนเซ็ปต์ของเลนส์ตัวนี้เริ่มจากความตั้งใจที่จะผลิตเลนส์ที่มี "มุมรับภาพกว้างที่สุดในโลก" แต่แทนที่จะผลิตแค่เลนส์ที่มีมุมรับภาพกว้างอย่างเดียว เราต้องการเลนส์ที่มอบระดับคุณภาพของภาพถ่ายที่สมกับเป็นเลนส์ขนาด L ด้วย นอกจากนี้ เลนส์นี้ยังมีความสามารถในการลดความบิดเบี้ยวที่มักเกิดกับเลนส์ซูมมุมกว้างได้อย่างทั่วถึง เลนส์ที่มีมุมกว้าง 11 มม. จะนำคุณสู่โลกมุมมองใหม่อย่างที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งคงดีมากหากช่วยให้ผู้ใช้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพในรูปแบบใหม่ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือวิดีโอ
ในภาพนี้ ตึกทางขวามือดูเหมือนจะล้มมาที่กึ่งกลางภาพ ส่วนคนทางซ้ายลำตัวยืดไปทางขอบภาพ จะเห็นได้จากขาที่ดูยาวกว่าขาจริง ความบิดเบี้ยวประหลาดๆ แบบนี้เป็นเรื่องปกติของเลนส์มุมกว้างขนาด 11 มม.
EOS 5D Mark III/ EF11-24mm f/4L USM/ FL: 11 มม./ Aperture-Priority AE (f/8, 1/500 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
- ถ้าช่างภาพสมัครเล่นอยากจะลองใช้เลนส์รุ่นนี้ ภาพประเภทไหนถึงจะเหมาะ แล้วมีคุณสมบัติอะไรที่เพิ่มความสะดวกในการใช้งานได้บ้างครับ
Shimada ภาพที่เลนส์ EF11-24mm f/4L USM สามารถใช้ถ่ายได้ดีแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคร่าวๆ ประเภทแรกคือภาพถ่ายมุมกว้างซึ่งแต่ก่อนไม่สามารถถ่ายแค่ภาพเดียวแล้วเก็บหมดได้ ประเภทที่สองคือภาพที่สามารถถ่ายได้แม้จากตำแหน่งที่แคบซึ่งช่างภาพขยับไปข้างหลังไม่ได้แล้ว ประเภทที่สามคือภาพที่ต้องใช้ระยะถ่ายภาพใกล้สุด เนื่องจากเลนส์นี้ระยะใกล้ที่สุดที่สามารถเข้าใกล้ตัวแบบได้คือ 0.32 ม. เมื่อถ่ายที่สุดระยะ 11 มม. คุณจึงสามารถใช้ระยะใกล้กับตัวแบบระดับนี้เพื่อถ่ายภาพมาโครมุมกว้างที่มีความชัดได้ ประเภทสุดท้ายคือแบบที่สามารถใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่โดดเด่นของเลนส์เพื่อให้ภาพที่ให้ความรู้สึกเหนือจริง
ภาพถ่ายที่ Alcázar de Segovia สเปน ผมพยายามจัดให้หุ่นนักรบเป็นแบบในภาพโคลสอัพขนาดใหญ่โดยอยู่ในส่วนโฟร์กราวด์ และรวมเอาภาพพื้นที่กว้างภายในห้องไว้ด้วยกัน การที่เราสามารถถ่ายภาพให้เห็นพื้นที่กว้างได้อย่างภาพนี้เป็นสิ่งที่ซึ่งทำได้ด้วยระยะโฟกัส 11 มม. เท่านั้น
EOS 5D Mark III/ EF11-24mm f/4L USM/ FL: 11 มม./ Aperture-Priority AE (f/5.6, 1/30 วินาที, EV+0.3)/ ISO 2000/ WB: อัตโนมัติ
- ระหว่างการพัฒนาเลนส์ให้มีทางยาวโฟกัสเพียง 11 มม. ผมเชื่อว่าทีมคงเจอปัญหาและความท้าทายหลายอย่าง เจอปัญหาแบบไหนบ้าง แล้วแก้ยังไงครับ
Sakai ถ้ามองในแง่ออพติคอล เลนส์ซูมตัวนี้มีมุมรับภาพกว้างแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ปัญหาที่เราพบขณะพัฒนาเลนส์คือจะทำยังไงให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงพร้อมกับมีความบิดเบี้ยวลดลง และการหาวิธีจัดการกับแสงหลอกแสงแฟลร์ เพื่อจัดการกับปัญหาแรก เราใช้ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมขนาดใหญ่สุดที่เคยใช้เป็นชิ้นเลนส์แรกในเลนส์ SLR แบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ ในส่วนนี้เองที่เรานำเอาเทคโนโลยีชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมที่ผ่านการขัดผิวมาใช้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทของเรา หนึ่งในความสำเร็จหลักๆ ของพวกเราคือความสามารถในการผลิตชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมที่ผ่านการขัดผิวและมีความโค้งมนมากและมีขนาดรูรับแสงกว้างกว่าเดิมในปริมาณมากได้
ภาพด้านบนนี้คือวิวเมืองจากที่ราบสูงใน Avila ในภาพนี้แม้จะถ่ายให้ดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง แต่กลับไม่มีแสงหลอกหรือแสงแฟลร์เลย และบริเวณที่มืดก็มีการปรับแสงอย่างพอเหมาะ เมฆที่แผ่เต็มภาพอาจทำให้ดูเหมือนเป็นภาพจอวิดีโอ แต่นี่คือความสามารถในการถ่ายทอดเฉพาะตัวของเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์
EOS 5D Mark III/ EF11-24mm f/4L USM/ FL: 11 มม./ Aperture Priority AE (f/8, 1/800 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
- เนื่องจาก Canon ได้วางขายเลนส์โฟกัสเดี่ยว 14 มม. และเลนส์มุมกว้าง 16-35 มม. ด้วย ถ้าว่ากันในเชิงเทคนิค เมื่อเทียบกับเลนส์พวกนี้การผลิตเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 11 มม. ยากกว่าไหมครับ
Sakai การเปลี่ยนแปลงมุมรับภาพด้วยการขยายระยะมุมกว้างเพิ่มอีก 1 มม. ต่างกันมากกับการขยายระยะเทเลโฟโต้เพิ่มอีก 1 มม. มีแนวโน้มที่จะต้องเพิ่มขนาดชิ้นเลนส์ด้านหน้าเพื่อให้ได้ระยะกว้างขึ้น หากเราใช้เทคโนโลยีการหล่อแก้วแบบเดิม อาจยุ่งยากที่จะต้องใช้เลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมเป็นชิ้นเลนส์ด้านหน้าที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างขนาดนี้ จึงเป็นไปไม่ได้เหมือนกันที่จะทำเลนส์ที่ให้คุณภาพของภาพสูงแล้วมีความบิดเบี้ยวต่ำ ไม่เพียงเท่านั้น ยิ่งมุมรับภาพกว้าง แหล่งแสงจากดวงอาทิตย์หรือแสงไฟอื่นๆ ที่เข้ามาในเลนส์จากทุกมุม ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดแสงหลอกและแสงแฟลร์สูงขึ้นอีกด้วย เราต้องตัดสินใจเรื่องรูปทรงของเลนส์และการจัดเรียงชิ้นเลนส์ที่จะช่วยป้องกันแสงแฟลร์แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ช่วงออกแบบเลนส์ ถึงกระนั้น ก็ยังมีแสงหลอกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อจัดการกับปัญหานี้ ตอนแรกเราใช้ SWC (Subwavelength Structure Coating) ที่พื้นผิวด้านหลังของเลนส์ชิ้นแรกและเลนส์ชิ้นที่สอง นอกจากนี้ เรายังใช้ ASC (Air Sphere Coating) ที่พื้นผิวของเลนส์ชิ้นที่ 4 ด้วยวิธีเหล่านี้ เราจัดการลดแสงหลอกอย่างได้ผลและได้ประสิทธิภาพของเลนส์ที่น่าพอใจทุกด้าน
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation