[ตอนที่ 4] วิธีใช้งานการตั้งเวลาถ่ายภาพและความเร็วชัตเตอร์
นอกจากการใช้ขาตั้งกล้องสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืน การตั้งเวลาถ่ายภาพและการปรับความเร็วชัตเตอร์ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่เป็นประโยชน์ เมื่อคุณต้องการป้องกันไม่ให้เกิดแรงสั่นสะเทือนซึ่งมีกระทบกับการทำงานของกล้อง หรือต้องการถ่ายภาพผิวน้ำที่ราบเรียบสงบ ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้วิธีใช้การตั้งค่าเพื่อพัฒนาการถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนของคุณ (เรื่องโดย: Takuya Iwasaki)
หน้า: 1 2
ป้องกันแรงสั่นสะเทือนไม่ให้ส่งผลกระทบถึงตัวกล้อง
ท่าเรือที่สร้างด้วยไม้พบได้บ่อยๆ ในจุดที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืน เช่น ชายหาด แต่การถ่ายภาพบนจุดชมวิวก็อาจเป็นเรื่องท้าทายเพราะกล้องจะสั่นทุกครั้งที่มีคนเดินผ่าน หากมีกลุ่มคนยืนอยู่ใกล้ๆ กล้อง อาจจำเป็นต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การตั้งเวลาถ่ายภาพหรือการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ หรืออีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี คือการใช้ขาตั้งกล้องคาร์บอนในการซับแรงสั่นสะเทือน ซึ่งจะช่วยลดการสั่นไหวของกล้องลงได้เช่นกัน
ฟังก์ชั่นของกล้องที่ใช้ในการถ่าย
การตั้งเวลาถ่ายภาพ
ใช้ฟังก์ชั่นการตั้งเวลาถ่ายภาพ 2 วินาทีเพื่อช่วยลดการสั่นไหวของกล้องที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนต่างๆ จากผู้คนที่เดินผ่านไปมา
เทคนิค: ท่าเรือ หลีกเลี่ยงปัญหากล้องสั่นด้วยการตั้งเวลาถ่ายภาพและความเร็วชัตเตอร์
คุณอาจพบสถานที่หลายแห่งที่มีท่าเรือไม้ เช่น สวนสาธารณะที่ตกแต่งอย่างสวยงามและจุดชมวิวนอกสถานที่ หนึ่งความท้าทายของการถ่ายภาพบนท่าไม้คือ ไม่มีความมั่นคงและมีแนวโน้มจะทำให้กล้องสั่นไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนผ่านไปมาหรือมีเด็กๆ วิ่งอยู่รอบๆ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ไม่เบลอบนท่าไม้แบบนี้ ให้ใช้การตั้งเวลาถ่ายภาพ 2-10 วินาที และยืนให้ห่างจากท่าออกมา และเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ด้วย เมื่อเพิ่มความไวแสง ISO หรือเปิดรูรับแสงกว้างสุด คุณจะได้ภาพที่คมชัดที่เวลาเปิดรับแสงประมาณ 2-4 วินาที และอาจจะดีกว่าหากเลือกวันธรรมดาที่มีคนมาเที่ยวน้อย
EOS 5D Mark II/EF24-105mm f/4L IS USM/ 65 มม./Manual exposure (4 วินาที, f/8)/ ISO 800/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากใต้ฝ่าเท้ากระทบไปถึงขาตั้งกล้องได้ง่าย ผมจึงพยายามให้ตัวเองยืนนิ่ง และเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากล้องสั่น รัศมีแสงถูกถ่ายทอดออกมาอย่างคมชัดในภาพนี้
โดยทั่วไป กล้องดิจิตอล SLR จะมาพร้อมกับคุณสมบัติการตั้งเวลาถ่ายภาพ 2 วินาที ซึ่งเป็นประโยชน์ในเวลาที่คุณไม่มีรีโมทกดชัตเตอร์
แม้ว่าจะเป็นเรื่องง่ายในการติดตั้งขาตั้งกล้องบนท่าเรือไม้ซึ่งมักพบในจุดชมวิวตอนกลางคืน อย่างริมทะเล แต่แรงสั่นสะเทือนจากการที่ผู้คนเดินผ่านไปมาอาจกระทบถึงการสั่นไหวของกล้องได้ง่าย
ถ่ายทอดแสงสะท้อนบนผิวน้ำให้น่าประทับใจ
เมื่อคุณถ่ายภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืน เช่น ที่ริมฝั่งแม่น้ำ จุดสำคัญอยู่ที่ว่าคุณจะสามารถถ่ายภาพแสงที่สะท้อนจากผิวน้ำให้น่าสนใจได้มากแค่ไหน ในการถ่ายทอดแสงสะท้อนบนผิวน้ำ ให้ใช้โหมด Shutter-priority AE หรือการเปิดรับแสงแบบแมนนวลเพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง นอกจากนี้ ให้เลือกความไวแสง ISO ต่ำๆ เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดใสและมีจุดรบกวนน้อย ในกรณีนี้ คุณสมบัติการลดจุดรบกวนจากการเปิดชัตเตอร์นานเป็นตัวช่วยที่ขาดไม่ได้
ฟังก์ชั่นของกล้องที่ใช้ในการถ่าย
ความเร็วชัตเตอร์
การถ่ายภาพผิวน้ำที่ราบเรียบช่วยให้แสงสะท้อนบนผิวน้ำโดดเด่นขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเวลาเปิดรับแสงนานๆ เป็นสำคัญ
เทคนิค: การถ่ายภาพชายฝั่งตรงข้าม ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ เพื่อให้พื้นผิวน้ำดูนิ่งสงบ
EOS 5D Mark II/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 25 มม./ Shutter-priority AE (15 วินาที, f/11, ±0EV)/ ISO 200/ WB: แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ขาว
เพื่อถ่ายทอดแสงสะท้อนบนผิวน้ำที่นุ่มนวล ผมเลือกความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ ภาพที่ออกมาแลดูชัดใส
การถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืนของริมแม่น้ำหรืออ่าวที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามนั้นค่อนข้างจะง่ายดายกว่า หากทั้งคุณและกล้องอยู่บนพื้นคอนกรีต จะไม่ค่อยเกิดปัญหากล้องสั่นไหว นอกเสียจากว่ามีลมแรงมาก เคล็ดลับในการถ่ายภาพวิวยามค่ำคืนของริมน้ำฝั่งตรงข้ามให้ออกมาสวยงาม คือ ให้ความสำคัญกับแสงสะท้อนบนผิวน้ำ ในการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืน คุณสามารถถ่ายภาพให้มีความคมชัดได้โดยใช้โหมด Aperture-priority AE อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งที่คุณตั้งใจจะถ่ายอยู่ฝั่งตรงกันข้าม คุณต้องทำให้ผิวน้ำที่กระเพื่อมเป็นระลอกคลื่นดูนิ่งสงบลง วิธีทำเช่นนั้น กุญแจสำคัญคือ ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าเพื่อให้ผิวน้ำดูนุ่มนวล ดังนั้น ในกรณีนี้ ขอแนะนำให้คุณเลือก Shutter-priority AE และตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไปที่ประมาณ 15-30 วินาที การเปิดรับแสงที่ใช้เวลานานจะช่วยให้ภาพผิวน้ำดูนิ่งสงบ ขับเน้นแสงสะท้อนให้โดดเด่นเห็นชัด
เส้นแสงที่ความเร็วชัตเตอร์ระดับต่างๆ
0.4 วินาที
แสงสะท้อนจากน้ำออกมาไม่สวยงามเพราะมีระลอกคลื่น จะดีกว่าหากผิวน้ำราบเรียบกว่านี้
3.2 วินาที
ผิวน้ำราบเรียบมากขึ้น แต่แสงสะท้อนยังดูเป็นคลื่นๆ ทำให้ภาพไม่คมชัด
25 วินาที
ผิวน้ำราบเรียบ และแสงสะท้อนได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน
เกิดปี 1980 ในโอซาก้า หลังจากจบการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ Hosei University Iwasaki กลายมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์ยามค่ำคืนเมื่อปี 2003 เขาทำงานเป็นไกด์ให้กับ All About (http://allabout.co.jp) นอกจากนั้นยังเป็นผู้บรรยายใน “หลักสูตรการถ่ายภาพยามค่ำคืน” ให้กับการสัมมนา Tokyu Seminar BE
http://www.yakei-photo.jp/