การถ่ายภาพน้ำตก: การเพิ่มความโดดเด่นให้กับภาพถ่ายด้วยรุ้งกินน้ำ
แทนที่จะถ่ายภาพน้ำตกธรรมดาๆ ผมต้องการสร้างสรรค์ภาพนี้ให้ดูแตกต่างออกไป วันหนึ่งเมื่อผมเดินทางไปเที่ยวน้ำตกในช่วงฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ผมคิดขึ้นได้ว่าควรจะใช้ประโยชน์จากรุ้งกินน้ำที่ปรากฏขึ้นที่ด้านหน้าของน้ำตก เพื่อถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ต่อไปนี้ผมจะเผยเทคนิค 3 ข้อที่คุณสามารถใช้กับภาพลักษณะนี้ได้ (เรื่องโดย: Yuki Imaura)
EOS 5D Mark II/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 170 มม./ Aperture-priority AE (f/10, 30 วินาที, EV-0.7)/ ISO 100/ WB: 4,750K
ผมต้องการเก็บองค์ประกอบสองอย่างที่แตกต่างกันไว้ในภาพนี้คือ รุ้งกินน้ำที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ ของฤดูใบไม้ผลิ ตัดกับร่มเงาที่ชวนให้นึกถึงความหนาวเย็น ผมต้องมั่นใจว่าแสงเงาในภาพจะไม่ลดน้อยจนเกินไป ผมจึงจัดวางตำแหน่งรุ้งกินน้ำไม่ให้กินพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ
เทคนิคที่ 1: ใช้มุมสูงเพื่อถ่ายภาพรุ้งกินน้ำและสระน้ำร่วมกัน
ผมคิดว่าก้อนหินที่หล่นลงมาด้านขวาล่างของภาพดูค่อนข้างแปลกตา เนื่องจากต้องการเก็บภาพทั้งก้ิอนหินและสระน้ำ ผมจึงปีนขึ้นไปยืนบนเนินเล็กน้อยเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น และรออยู่ราว 40 นาที เพื่อให้รุ้งกินน้ำเคลื่อนตัวมาที่มุมรับภาพของกล้อง
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1.3 วินาที, EV+1.0)/ ISO 50/ WB: Manual
ผมถ่ายภาพนี้เมื่อระบุตำแหน่งรุ้งกินน้ำในจอภาพของผมแล้ว เนื่องจากรุ้งกินน้ำอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าใดนัก ส่วนบนของหน้าผาหินจึงกลายเป็นแบ็คกราวด์ และส่งผลให้ภาพถ่ายดูไม่น่าสนใจ
เคล็ดลับ: ถ่ายภาพรุ้งกินน้ำที่ปรากฏขึ้นที่บริเวณน้ำตก เมื่อแสงแดดสะท้อนทำมุมที่ประมาณ 41 องศา
เราสามารถเห็นปรากฏการณ์ของรุ้งกินน้ำได้ เนื่องจากแสงแดดส่องจากทางด้านหลังของผู้ชมผ่านละอองน้ำหรือฝน และสะท้อนบนน้ำตกที่มุมประมาณ 41 องศา ดังนั้น ต้องจดจำมุมรับภาพนี้ให้ดีและปรับตำแหน่งการถ่ายภาพให้สอดคล้องกัน คุณจึงจะบันทึกภาพรุ้งกินน้ำในบริเวณที่ต้องการบนหน้าจอได้
เทคนิคที่ 2: ถ่ายทอดความเปรียบต่างของส่วนมืดและส่วนสว่างโดยใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบ 50/50
ตอนที่ผมถ่ายภาพนี้เป็นช่วงฤดูหนาวย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งน้ำแข็งกำลังละลายและความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิเริ่มแผ่เข้ามา แต่สภาพอากาศยังไม่อุ่นพอที่จะทำให้ดอกซากุระผลิบาน เพื่อถ่ายทอดช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลและการเปลี่ยนแปลงที่ละเอียดอ่อนซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน ผมใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบ 50/50 เพื่อแสดงความเปรียบต่างของแสงในร่มตัดกับรุ้งกินน้ำในดวงอาทิตย์ ผมตั้งค่าสมดุลแสงขาวที่ 4,750K เพื่อขับเน้นความหนาวเย็นของร่มเงาให้ดูโดดเด่น
ผมจัดองค์ประกอบภาพโดยให้ด้านซ้ายมือของภาพเป็นส่วนที่มืด และด้านขวาของภาพเป็นส่วนที่สว่าง
อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพน้ำตกได้ที่:
การถ่ายภาพน้ำตก: ควรหยุดการเคลื่อนไหวหรือเบลอภาพดีกว่ากัน
การถ่ายภาพธารน้ำตกขนาดใหญ่ที่สะท้อนพลังของสายน้ำ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Yuki Imaura เป็นช่างภาพทิวทัศน์ เกิดเมื่อปี 1986 ที่จังหวัดไซตามะ เขาเริ่มต้นทำงานบรรณาธิการให้กับนิตยสารหลายฉบับ ปัจจุบันผันตัวเป็นช่างภาพอิสระ และถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติต่างๆ รวมถึงสัตว์ป่าทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน นอกจากนี้ เขายังเขียนบทความให้กับนิตยสารต่างๆ และเป็นวิทยากรด้านการถ่ายภาพอีกด้วย