คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #21: ฉันจะใช้การแพนกล้องเป็นวงกลมเพื่อสร้างภาพที่โดดเด่นไม่ซ้ำใครได้อย่างไร
ต่อไปนี้เป็นเทคนิคสองประการในการแพนกล้องเป็นวงกลมหรือการหมุนกล้องขณะที่คุณถ่ายภาพ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ร่วมกับเทคนิคการแพนกล้องปกติ คุณจะได้ภาพที่เปี่ยมไปด้วยพลัง และเมื่อนำมาใช้ร่วมกับเทคนิคการระเบิดซูม คุณจะได้เอฟเฟ็กต์กระแสหมุนวนที่ดูเหมือนดูดคุณเข้าไปที่บริเวณกึ่งกลางภาพ (เรื่องโดย Yuya Yamasaki, Kazuo Nakahara)
วิธีที่ 1: เพื่อได้ภาพที่ดูมีพลังยิ่งขึ้น ให้หมุนกล้องไปพร้อมกับการแพนกล้อง
EOS-1D X/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/10, 1/15 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ผมกำลังคิดถึงวิธีแสดงความเร็วด้วยวิธีการที่ต่างออกไปเล็กน้อย และพยายามใช้การแพนกล้องเป็นวงกลมร่วมกับการแพนกล้องในแนวนอน ซึ่งการทำให้เลนส์อยู่ในแนวเดียวกับจุดโฟกัสที่ด้านหน้าของรถไฟที่กำลังแล่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากทีเดียว
ทำให้รถไฟดูเหมือนกำลังแล่นออกจากป่าไม้เขียวขจี
นอกจาก เทคนิคการแพนกล้องปกติ ที่ใช้วิธีเคลื่อนกล้องไปตามแกนในแนวนอนหรือแนวทแยงแล้ว ยังมี เทคนิคการแพนกล้องเป็นวงกลมที่ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอที่หมุนได้ อีกด้วย เมื่อนำสองเทคนิคนี้มาใช้ร่วมกัน คุณจะได้เทคนิคที่ผมกำลังจะแนะนำต่อไปนี้ ซึ่งผมจะเรียกเทคนิคนี้ว่า เทคนิคการแพนและหมุน เนื่องจากคุณต้องทำให้เลนส์อยู่ในแนวเดียวกับจุดโฟกัสบนตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่พร้อมกับหมุนกล้องไปด้วย นั่นจึงกลายเป็นงานยากถึงสองเท่า ดังนั้น ในภาพนี้ผมจึงจัดรถไฟให้อยู่ที่มุมขวาบนของภาพ กำหนดจุดโฟกัสการหมุนไว้ที่ขอบด้านขวา แล้วหมุนด้านซ้ายของกล้องให้เหมือนกับลูกตุ้ม ในขณะเดียวกัน ผมก็เคลื่อนที่ไปในแนวเดียวกันกับรถไฟที่กำลังแล่นเพื่อแพนกล้องในแนวนอน วิธีนี้ทำให้ผมสามารถสื่อถึงพลังของรถไฟที่กำลังแล่นราวกับพุ่งออกจากป่าไม้เขียวขจีในแบบที่การแพนกล้องปกติไม่สามารถทำได้
เมื่อคุณหมุนกล้อง ระดับความเบลอของภาพจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณเข้าไปใกล้ขอบภาพมากขึ้น ดังนั้น การใช้เลนส์มุมกว้างจะช่วยเพิ่มระดับความเบลอของภาพให้มากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีที่ 2: ใช้การแพนกล้องเป็นวงกลมร่วมกับเทคนิคการระเบิดซูมเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์กระแสหมุนวน
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 30 มม./ Shutter-priority AE (f/10, 1/10 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อใช้การแพนกล้องเป็นวงกลมร่วมกับ เทคนิคการระเบิดซูม พร้อมกับยืนอยู่ตรงกลางอุโมงค์ีที่แวดล้อมด้วยป่าไม้เขียวขจี ผมก็สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์กระแสหมุนวนได้ นอกจากนี้ การวางจุดโฟกัสการหมุนไว้ตรงกลางภาพทำให้ภาพดูสวยงามอีกด้วย
หมุนกล้องด้วยมือโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง
เมื่อตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ประมาณ 1/10 วินาที และหมุนกล้องไปพร้อมกับยึดวงแหวนซูมของเลนส์ไว้เพื่อถ่ายภาพ จะทำให้คุณสามารถแพนกล้องเป็นวงกลมไปพร้อมกับใช้เทคนิคการระเบิดซูมได้ ดังนั้น จึงควรลองหมุนกล้องเร็วๆ ด้วยมือโดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง
การหมุนกล้องขณะเปิดรับแสง (การแพนกล้องเป็นวงกลม)
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Shutter-priority AE (f/11, 1/10 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: Manual
การซูมขณะเปิดรับแสง (เทคนิคการระเบิดซูม)
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 25 มม./ Shutter-priority AE (f/10, 1/10 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: Manual
การแพนกล้องเป็นวงกลมสามารถสร้างภาพเบลอที่หมุนได้ที่มีความน่าสนใจ ขณะที่เทคนิคการระเบิดซูมจะช่วยสื่อถึงความเร็วที่ดึงดูดคุณเข้าสู่กึ่งกลางภาพ และเมื่อใช้สองเทคนิคนี้ร่วมกัน คุณจะได้แรงดึงดูดเพิ่มเป็นสองเท่าในรูปของเอฟเฟ็กต์กระแสหมุนวนที่หมุนเป็นเกลียว และให้ความรู้สึกราวกับว่ากำลังถูกดึงดูดลึกเข้าไปในภาพ!
หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพนกล้องและการใช้ชัตเตอร์ต่ำ คลิกที่นี่
การตั้งค่ากล้องเพื่อใช้ถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่ยอดเยี่ยม
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การสร้างภาพเบลอแบบหมุนที่เหนือจริง
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย
เกิดเมื่อปี 1970 ที่เมืองฮิโรชิมา Yamasaki เป็นตัวแทนของ "Railman Photo Office" ห้องสมุดภาพถ่ายเฉพาะทางด้านภาพถ่ายรถไฟ เขาทำผลงานภาพถ่ายทางรถไฟจากมุมที่แปลกใหม่ด้วยไหวพริบพิเศษของเขา