คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #19: วิธีถ่ายภาพรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ให้น่าประทับใจด้วยการถ่ายภาพต่อเนื่อง
การถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นเทคนิคพื้นฐานที่ใช้ถ่ายภาพรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ บทความนี้จะบอกวิธีที่คุณสามารถปรับปรุงเทคนิคเพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ดูน่าประทับใจยิ่งขึ้นได้ (เรื่องโดย Hirokazu Nagane)
ฉาก 1: วิธีถ่ายภาพขบวนรถจักรไอน้ำที่มีหมอกควันให้ดูสวยงามมากที่สุด
ภาพที่ดีที่สุด: EOS 7D Mark II/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 241 มม. (เทียบเท่า 385 มม.)/ Manual exposure (f/7, 1/400 วินาที)/ ISO 1000/ WB: เมฆครึ้ม
ขบวนรถจักรไอน้ำ SL Banetsu Monogatari วิ่งไปตามเส้นทางรถไฟสาย Banetsu-West ซึ่งวิ่งระหว่างฟุกุชิมะและจังหวัดนีงะตะของญี่ปุ่น เพื่อเก็บภาพบรรยากาศชวนให้รำลึกถึงอดีตของขบวนรถจักรไอน้ำ ผมได้พบทางเข้าอุโมงค์ที่ก่อขึ้นด้วยอิฐวางเรียงซ้อนกันอยู่ตามธรรมชาติ ภาพนี้ถ่ายที่บริเวณที่ปลอดภัยก่อนถึงทางโค้งในทางรถไฟ ผมพยายามที่จะถ่ายภาพด้านหน้าของขบวนรถไฟด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
ขบวนรถจักรไอน้ำเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ในทุกๆ ภาพที่มีขบวนรถเป็นส่วนประกอบจึงทำให้ภาพมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลต่ออารมณ์ของภาพเปลี่ยนแปลงไปตามรูปทรงของควัน เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดาการเคลื่อนที่ของควันได้ เทคนิคพื้นฐานจึงเป็นการถ่ายภาพหลายภาพด้วยกล้องที่มีฟังก์ชั่นการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ดีเยี่ยมเพื่อให้ได้ช็อตที่สมบูรณ์แบบเพียงช็อตเดียว
ขณะที่ขบวนรถจักรไอน้ำกำลังเคลื่อนที่เข้าหากล้อง คุณอาจอยากลองใช้ AI Servo AF ดู แต่เนื่องจากขบวนรถไฟเคลื่อนออกจากอุโมงค์ที่มืดสนิทอย่างรวดเร็วและกะทันหัน คุณอาจเสี่ยงที่จะพลาดช่วงเวลาสำคัญได้หากทำเช่นนั้น แม้กระนั้น หากว่าคุณเตรียมกล้องของคุณให้พร้อมสำหรับจับโฟกัสขณะที่รถไฟเคลื่อนขบวนเข้ามาที่จุดโฟกัสพอดี ทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา
เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด คุณจำเป็นจะต้องเลือกภาพจากหลายๆ ภาพที่ถ่ายไว้อย่างต่อเนื่องเมื่อขบวนรถจักรไอน้ำปรากฏขึ้นที่อุโมงค์ ซึ่งคุณจะบอกได้โดยการเปรียบเทียบภาพ 1 เฟรมทั้งก่อนและหลังภาพถ่ายที่ดีที่สุด
1 เฟรมก่อนภาพถ่ายที่ดีที่สุด: ควันมีปริมาณไม่มาก
1 เฟรมหลังภาพถ่ายที่ดีที่สุด: อิฐที่วางซ้อนกันและไม้เลื้อยมีควันปกคลุมมากเกินไป
ฉาก 2: วิธีถ่ายภาพรถไฟให้ดูน่าประทับใจโดยใช้เลนส์มุมกว้าง
EOS 7D Mark II/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 19 มม. (เทียบเท่า 30 มม.)/ Manual exposure (f/5.6, 1/6,400 วินาที)/ ISO 1000/ WB: แสงแดด
ผมใช้ EOS 7D Mark II ร่วมกับเลนส์ที่เทียบเท่า 30 มม. เพื่อถ่ายภาพขบวนรถไฟ Narita Express ขณะถ่ายภาพฉากดังกล่าว รถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูงมาก ดังนั้นจึงควรเลือกใช้กล้องที่มีฟังก์ชั่นการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ยอดเยี่ยม ด้วยความสามารถในการถ่ายภาพที่ 10 fps ผมพบว่า EOS 7D Mark II นั้นเหมาะจริงๆ สำหรับการถ่ายภาพแบบนี้ (ต่อไปนี้เป็น บทความเจาะลึกเกี่ยวกับสมรรถนะของกล้อง EOS 7D Mark II ในการถ่ายภาพรถไฟ)
เพื่อถ่ายภาพที่สร้างความประทับใจสำหรับรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ คุณอาจถ่ายภาพโดยหงายหน้ากล้องขึ้นจากมุมต่ำด้วยเลนส์มุมกว้างจากภายในด้านเว้าของทางโค้งของทางรถไฟ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ตำแหน่งของกล้องและมุมกล้อง) ความเร็วชัตเตอร์ควรอยู่ที่อย่างน้อย 1/4000 วินาที โดยภาพนี้ถ่ายที่ค่า 1/6400 วินาที เพื่อให้รถไฟไม่เกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว
การใช้มุมที่กว้างขึ้นอาจทำให้เอฟเฟ็กต์ของเปอร์สเป็คทีฟที่ได้ดูเกินจริง แต่เนื่องจากท้องฟ้ากินพื้นที่ของภาพในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่า รถไฟจึงดูไม่ค่อยน่าประทับใจนัก (หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม อ่านบทความของเราได้ใน เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง และ เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง) สำหรับทางยาวโฟกัส เราแนะนำให้ใช้เลนส์เทียบเท่า 28 - 50 มม. เพื่อให้ขบวนรถไฟดูไม่เล็กจนเกินไป ในกรณีนี้ ผมใช้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า 30 มม. ด้วยวิธีนี้ ผมจึงสามารถถ่ายภาพในบริเวณที่ปลอดภัยและอยู่ห่างจากทางรถไฟได้
สนใจถ่ายรูปรถไฟไหมครับ คุณอาจต้องการอ่านบทความนี้เพื่อทราบไอเดียเกี่ยวกับ วิธีพัฒนาภาพถ่ายรถไฟของคุณให้ดียิ่งขึ้น
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดในโยโกฮาม่าในปี 1974 หลังจบการศึกษาจาก Musashi Institute of Technology (ปัจจุบันเรียกกันว่า "Tokyo City University") เขาได้เรียนถ่ายภาพจากช่างภาพทางรถไฟ Mitsuhide Mashima ซึ่งเป็นซีอีโอของ Mashima Railway Pictures ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาเคยมีส่วนร่วมในการอธิบายเทคนิคการถ่ายภาพทางรถไฟให้กับนิตยสารถ่ายภาพ และเขียนคู่มือการถ่ายภาพทางรถไฟ เขาเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อถ่ายภาพรถไฟพร้อมกับยึดคติประจำใจที่ว่า "ถ่ายภาพให้ดูสมจริงจนคุณได้ยินเสียงของรถไฟแม้เพียงแค่มองดูภาพถ่าย"