การตั้งค่ากล้องเพื่อเก็บภาพวินาทีสำคัญ: เครื่องบินที่กำลังบินผ่านรุ้งกินน้ำ
รุ้งกินน้ำสีสันสวยงามปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น แม้ว่าคุณจะสามารถคาดเดาได้ว่ารุ้งกินน้ำจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่การเก็บภาพรุ้งกินน้ำนั้นคือการแข่งขันกับเวลา บทความนี้จะนำเสนอประเด็นบางอย่างที่คุณควรคำนึงถึงเมื่อถ่ายภาพรุ้งกินน้ำ (เรื่องโดย: Minefuyu Yamashita)
EOS 5D Mark II/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 21 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/640 วินาที EV+0.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ผมต้องการเก็บภาพฉากที่เต็มไปด้วยความหวังที่มีรุ้งกินน้ำโค้งเป็นวงซ้อนกันสองชั้นบนท้องฟ้าในแบ็คกราวด์ขณะที่เครื่องบินกำลังบินผ่าน ความหนาแน่นของรุ้งกินน้ำและตำแหน่งของเครื่องบินเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ผมจึงต้องคาดเดาการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไปพร้อมๆ กับกำหนดค่าการเปิดรับแสงและองค์ประกอบภาพ
คาดเดาการปรากฏขึ้นของรุ้งกินน้ำและการเคลื่อนที่ของเครื่องบินก่อนที่จะลั่นชัตเตอร์
รุ้งกินน้ำจะปรากฏขึ้นเมื่อแสงแดดจากด้านหลังคุณส่องกระทบกับม่านหยดน้ำในอากาศที่อยู่ตรงหน้าคุณ เมื่อคำนึงถึงสิ่งนี้ คุณจะสามารถคาดเดาการเกิดรุ้งกินน้ำได้คร่าวๆ และเตรียมพร้อมไว้ก่อนที่จะถ่ายภาพได้ ภาพด้านบนถ่ายในตอนเย็นท่ามกลางสภาวะที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเกิดรุ้งกินน้ำ เนื่องจากผมรอให้รุ้งกินน้ำปรากฏขึ้นในตำแหน่งที่มีเมฆฝนอยู่ตรงหน้าและให้ดวงอาทิตย์ที่กำลังตกอยู่ด้านหลัง
ในภาพนี้ ผมให้ความสำคัญกับ 3 จุด คือ รูรับแสง สมดุลแสงขาว และความเร็วชัตเตอร์ เมื่อคุณกำหนดองค์ประกอบภาพได้แล้ว ให้รอจนกว่าเครื่องบินจะบินผ่านเข้ามาในหน้าจอก่อนที่จะกดชัตเตอร์ ตำแหน่งของเครื่องบินที่อยู่ในภาพส่งผลต่ออารมณ์ของภาพ ในภาพนี้ ผมจัดให้เครื่องบินอยู่ห่างจากกึ่งกลางภาพเล็กน้อย โดยจัดให้อยู่ในทิศทางที่เครื่องบินกำลังหันหัวไป เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของพื้นที่โล่งกว้างและความเป็นอิสระ
จุดที่ 1: นำเสนอทะเลและรุ้งกินน้ำอย่างชัดเจน – f/11
เพื่อเก็บภาพทิวทัศน์โดยให้รุ้งกินน้ำเป็นตัวแบบหลัก สิ่งที่ควรทำคือถ่ายทอดรายละเอียดทั้งหมดของตัวแบบจากพื้นผิวทะเล ไปยังชายหาด ตลอดแนวไปจนถึงรุ้งกินน้ำ ดังนั้น ก่อนอื่นให้ตั้งค่า f เป็น f/11 การกำหนดค่าอื่นๆ ของกล้องจะง่ายขึ้นเมื่อคุณเลือกค่า f ได้แล้ว ซึ่งจะช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการวุ่นวายกับการหาการตั้งค่าต่างๆ ในภายหลัง คุณจำเป็นจะต้องพร้อมที่จะกดชัตเตอร์ได้ทันทีเมื่อต้องเก็บภาพวินาทีที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ!
จุดที่ 2: สมดุลแสงขาวที่ขับสีสันตามธรรมชาติของรุ้งกินน้ำยามเย็นให้โดดเด่น – อัตโนมัติ
WB อัตโนมัติสะดวกสำหรับการเก็บภาพชายหาดและพื้นผิวทะเลยามเย็นที่เริ่มฉาบไปด้วยแสงสีอุ่นเล็กน้อย คุณยังสามารถตั้งค่าเป็น “แสงแดด” ได้ด้วยถ้าต้องการสร้างอารมณ์สดใสที่ฉาบด้วยสีฟ้า แทนที่จะมองหาวิธีที่ถูกต้องในการถ่ายทอดภาพรุ้งกินน้ำ วิธีที่ดีกว่าคือเน้นการสื่ออารมณ์ของคุณผ่านทางทิวทัศน์
จุดที่ 3: ตรวจสอบว่าได้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ถูกต้องที่ ISO 400, 1/640 วินาที
เมื่อได้ตัดสินใจเลือกค่า f ที่ f/11 หรือสูงกว่าแล้ว ให้ปรับความไวแสง ISO เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่จะไม่ทำให้เครื่องบินออกมาดูเบลอ เนื่องจากโอกาสในการกดชัตเตอร์มีจำกัด ความไวแสง ISO ที่ ISO 400 ก็สามารถใช้ได้แล้วโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องกังวลว่าค่า ISO จะต่ำเกินไป สำหรับผม ผมจะรู้สึกปลอดภัยมากกว่าเมื่อเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ไปที่ 1/1,000 วินาทีหรือสูงกว่านั้น แต่ในภาพนี้ สิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับผมคือการถ่ายทอดภาพรุ้งกินน้ำ ผมจึงเลือกที่จะไม่ใช้ความไวแสง ISO ที่สูงกว่านี้
คำแนะนำ: มองหาจุดที่คุณสามารถเก็บทั้งภาพเครื่องบินและรุ้งกินน้ำได้
หากคุณพบจุดที่ใกล้กับสนามบินในตอนเช้าหรือตอนเย็น ซึ่งคุณสามารถหันหน้าไปทางก้อนเมฆและให้ดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลัง คุณจะมีโอกาสมากกว่าที่จะเก็บทั้งภาพของเครื่องบินและรุ้งกินน้ำได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ เนื่องจากเครื่องบินที่กำลังแล่นลงจะบินที่ความสูงระดับหนึ่ง จึงอาจมีโอกาสพอสมควรที่คุณจะถ่ายภาพได้ อย่างไรก็ตาม ขณะที่คุณกำลังถ่ายภาพ พึงระลึกไว้ว่าทิศทางการแล่นลงจอดของเครื่องบินจะเปลี่ยนไปตามทิศทางลม
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดยลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
EF16-35mm f/2.8L II USM
เกิดในปี 1979 ที่เมืองไอชิ หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานเป็นนักออกแบบกราฟิกและนักออกแบบภายในแล้ว Yamashita ก็ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในปี 2011 ผลงานของเขาถูกนำไปตีพิมพ์ลงในปฏิทินหลายเล่ม
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation