รีวิว EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM: โอกาสถ่ายภาพที่ดียิ่งขึ้นในเลนส์ที่มีน้ำหนักเบาเพียง 130 กรัม
EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM ขนาดกะทัดรัด คือเลนส์ซูมมาตรฐานสำหรับกล้องมิเรอร์เลสซีรีย์ EOS M ที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมระยะตั้งแต่มุมกว้างไปจนถึงช่วงเทเลโฟโต้ระยะกลาง และมีกำลังในการแยกรายละเอียดที่ยอดเยี่ยม อีกทั้งมีน้ำหนักเบาประมาณ 130 กรัมเท่านั้น ต่อไปนี้ เราจะแนะนำรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆ ของเลนส์รุ่นนี้ให้ทราบกัน (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
เพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพด้วยเลนส์เพียงหนึ่งชิ้น
EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM คือเลนส์ที่มีประโยชน์อย่างมาก และครอบคลุมช่วงโฟกัสที่กว้างถึง 24 มม. ที่ฝั่งมุมกว้าง จนถึง 72 มม. ที่ฝั่งเทเลโฟโต้ระยะกลาง เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม. เลนส์โดดเด่นด้วยกลไกการยืดหดเลนส์ ดังนั้น เมื่อหดย่อลงจึงมีความยาว 44.5 มม. แม้ว่ามีน้ำหนักไม่เกินประมาณ 130 กรัม แต่เลนส์มีโครงสร้างแข็งแรง ซึ่งประกอบด้วย 10 ชิ้นเลนส์ใน 9 กลุ่ม รวมทั้งมีเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมถึง 3 ชิ้น เมื่อเราลองทดสอบใช้งานภายในช่วงมุมกว้างจนถึงทางยาวโฟกัสมาตรฐาน พบว่าเลนส์ให้ภาพที่คมชัดอย่างมากเมื่อใช้งานที่ระยะกลางพร้อมกับรูรับแสงกว้างสุด และแสดงให้เห็นถึงกำลังในการแยกรายละเอียดที่มากพอที่จะดึงเอาความละเอียดสูงของกล้อง EOS M5 ออกมา
แม้ว่าจะสังเกตเห็นความคลาดเล็กน้อยที่บริเวณรอบขอบภาพ แต่ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากกล้องสามารถแก้ไขความคลาดสีให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิง และเมื่อถ่ายที่ระยะเทเลโฟโต้ ภาพจะให้ความรู้สึกถึงเอฟเฟ็กต์อันนุ่มนวล และให้ความคมชัดเมื่อลดขนาดรูรับแสงที่ประมาณ f/11 เมื่ออัพเดตด้วยเฟิร์มแวร์รุ่นล่าสุด (2.0.0) คุณยังสามารถใช้ประโยชน์จาก Combination IS ซึ่งแก้ไขการสั่นไหวของกล้องทั้งแบบออฟติคอลและดิจิตอลระหว่างบันทึกภาพเคลื่อนไหวอีกด้วย นอกจากนี้ ขณะถ่ายภาพนิ่ง ผมยังสังเกตเห็นว่าระบบป้องกันภาพสั่นไหวสูงถึง 4 สต็อปสามารถป้องกันภาพเบลอจากกล้องสั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อใช้งานร่วมกับ EOS M5 เลนส์มีประสิทธิภาพมากพอสำหรับการถ่ายภาพแนวสตรีทในยามค่ำคืน เนื่องจากกล้องมีความไวแสง ISO สูง แม้ว่าภาพที่ถ่ายด้วยค่า f/6.3 ที่ระยะเทเลโฟโต้จะดูมืดเล็กน้อยก็ตาม ระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 25 ซม. ช่วยให้ถ่ายภาพอาหารหรือของตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ และเครื่องประดับต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ เลนส์ยังต้านทานแสงย้อนจากด้านหลังอย่างได้ผล และไม่ทำให้ความเปรียบต่างลดลงมากเมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงย้อน ยิ่งไปกว่านั้น เลนส์ทำงานด้วย STM ซึ่งช่วยให้ AF ทำงานอย่างเงียบเชียบด้วยความเร็วที่สูงมากได้
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 45 มม. (เทียบเท่า 72 มม.)/ Aperture-priority AE (f/6.3, 1/60 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ผมถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าร้านค้า ซึ่งวางขายสินค้าที่มีสีสันสวยงาม โดยใช้โบเก้และเอฟเฟ็กต์การบีบภาพจากเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ การใช้ค่ารูรับแสง f/6.3 ที่ระยะเทเลโฟโต้ และขยับเข้าใกล้ตัวแบบ ทำให้สร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ได้ง่ายมากๆ ภาพที่ออกมาจึงมีสีสันที่สดใส และถ่ายทอดโทนสีของตัวแบบได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 45 มม. (เทียบเท่า 72 มม.)/ Aperture-priority AE (f/8, 1/100 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: แสงแดด
เลนส์มีระยะโฟกัสใกล้สุดถึง 25 ซม. จึงสามารถถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็กหรืออาหารที่วางอยู่บนโต๊ะได้ นอกจากให้โบเก้ที่เรียบเนียนและนุ่มนวลในส่วนแบ็คกราวด์แล้ว ยังสามารถสร้างวงกลมโบเก้ที่กลมสวยในบริเวณใกล้กับขอบจอภาพอีกด้วย อย่างที่เห็นแล้วว่าไม่ว่าตัวแบบจะอยู่ใกล้หรือไกล เลนส์ชนิดนี้สามารถบันทึกภาพที่มีเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ที่น่าสนใจได้อย่างสมบูรณ์แบบทีเดียว
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 15 มม. (เทียบเท่ากับ 24 มม.)/ Aperture-priority AE (f/11, 1/200 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
มุมรับภาพที่กว้างและครอบคลุมซึ่งเทียบเท่ากับขนาด 24 มม. ช่วยให้คุณแสดงท้องฟ้าได้มากขึ้นอย่างง่ายดายในภาพทิวทัศน์ คุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของเลนส์ชนิดนี้คือ สามารถเก็บภาพได้แม้แต่หน้าต่างบนอาคารที่ห่างไกลด้วยความละเอียดสูง ถึงแม้ว่าจะมีแสงแดดแรงกล้า ภาพที่ออกมาจะมีความเปรียบต่างที่คมชัดและสมดุล
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 28 มม. (เทียบเท่ากับ 42 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/400 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ผมถ่ายภาพเงาของผู้คนที่กำลังเดินไปมาบนท้องถนนซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วพริบตา เลนส์รุ่นนี้มีประโยชน์ตรงที่ถ่ายภาพได้รวดเร็ว เพราะมีระบบ AF ที่ฉับไวสำหรับเก็บภาพในทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชั่วขณะ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการถ่ายภาพแนวสตรีท
เคล็ดลับการใช้งาน #1: ทางยาวโฟกัสที่ต่างกัน 3 มม. สำคัญไฉน! การแสดงความกว้างใหญ่ของฉากโดยใช้ระยะมุมกว้าง
ซีรีย์ EF-M ยังมีเลนส์ซูมมาตรฐานรุ่นอื่นๆ อีก เช่น EF-M18-55mm f/3.5-5.6 IS STM ความแตกต่างเพียง 3 มม. ที่ระยะมุมกว้างสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก ซึ่งต่างจากสิ่งที่หลายคนอาจเชื่อกัน อันที่จริง ความแตกต่าง 3 มม. นี้ คือระยะประมาณ 5 มม. เมื่อคุณแปลงเป็นค่าที่เทียบเท่ากับฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม. ซึ่งหมายความว่าระยะที่สามารถแสดงได้นั้นยังมีความเปรียบต่างอยู่อย่างมาก ยิ่งทางยาวโฟกัสที่ระยะมุมกว้างสั้นมากเท่าใด เลนส์จะมีประสิทธิภาพหรือถ่ายทอดภาพในบริเวณกว้างได้มากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังมีเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งโดยปกติเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่มักสัมพันธ์กับเลนส์มุมกว้าง และทำให้ได้อารมณ์ภาพที่แปลกใหม่
มุมภาพกว้างขึ้นมากเมื่อเทียบกับการถ่ายภาพที่ 18 มม.
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 15 มม. (เทียบเท่า 24 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/160 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ผมถ่ายภาพที่ 15 มม. ด้วยการถ่ายภาพมุมต่ำใกล้กับพื้นดินมากๆ ผมพยายามเข้าไปใกล้หอคอยให้มากที่สุดจนเกิดเป็นมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคุณสมบัติมุมกว้าง และผมยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ภาพของหอคอยที่สูงเสียดฟ้าได้อีกด้วย
(ซ้าย)
ถ่ายที่ 15 มม.
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 15 มม. (เทียบเท่า 24 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/320 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายที่ระยะ 15 มม. เช่นเดียวกัน แต่ถ่ายในระดับสายตา หอคอยจึงไม่มีมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงที่ชัดเจนน้อยกว่า และไม่ส่งผลทางอารมณ์เท่าที่ควร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมุมกล้องในการถ่ายทอดตัวแบบ
(ขวา)
ถ่ายที่ 18 มม.
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 18 มม. (เทียบเท่ากับ 29 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/125 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายที่จุดเดียวกันในระยะ 18 มม. ซึ่งตัดทิวทัศน์ส่วนบนของหอคอยออกไปโดยสิ้นเชิง คุณจะเห็นว่ามีความแตกต่างมากเพียงใด เมื่อนำภาพบริเวณที่ถ่ายมาเปรียบเทียบกัน
เคล็ดลับการใช้งาน #2: ใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลางเพื่อทำให้ตัวแบบโดดเด่น
นอกเหนือจากการโฟกัสที่ตัวแบบแล้ว คุณยังสามารถเน้นตัวแบบให้โดดเด่นยิ่งขึ้นได้โดยการเพิ่มระยะห่างของเปอร์สเป็คทีฟระหว่างตัวแบบกับสภาพแวดล้อมรอบข้างให้ดูเกินจริง สำหรับฉากที่มีมิติความลึก ยิ่งใช้มุมกว้างมากขึ้นเท่าใด ภาพที่ออกมาจะยิ่งดูเหมือนบรรจบที่จุดเดียวกันมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การวางตัวแบบไว้ใกล้กับจุดรวมสายตาจึงดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ง่าย และเมื่อนำเทคนิคนี้มาใช้ร่วมกับการจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง จะยิ่งเน้นเอฟเฟ็กต์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก
(ซ้าย)
ถ่ายที่ 15 มม.
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 15 มม. (เทียบเท่า 24 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/60 วินาที, EV±0)/ ISO 320/ WB: อัตโนมัติ
ผมถ่ายภาพบันไดเลื่อนที่ดูยาวและขยายออกไปด้วยระยะมุมกว้าง 15 มม. เนื่องจากพื้นที่ทั้งสี่ด้านของภาพบรรจบกันที่จุดกึ่งกลางภาพอย่างชัดเจน สายตาของผู้ชมจึงมุ่งไปที่บริเวณทางออกโดยธรรมชาติ
(ขวา)
ถ่ายที่ 18 มม.
EOS M5/ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 18 มม. (เทียบเท่ากับ 29 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/60 วินาที, EV±0)/ ISO 250/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายที่จุดเดียวกันในระยะ 18 มม. แม้ว่าตัวแบบจะดูมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่เอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงในพื้นที่รอบๆ กลับดูเล็กลง จึงดึงดูดสายตาของผู้ชมได้ยากขึ้น
มอเตอร์ที่ทำงานเงียบเชียบเหมาะสำหรับการบันทึกวิดีโอ
สำหรับเลนส์ EF-M15-45mm f/3.5-6.3 IS STM เมื่อ AF ทำงาน เสียงกลไกจะเงียบเชียบมากจนแทบไม่ได้ยิน เว้นแต่คุณจะแนบหูติดกับเลนส์เท่านั้น จึงเป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับการบันทึกวิดีโอ แม้ว่าโครงสร้างรอบนอกถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบามากๆ และส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก แต่การออกแบบพื้นผิวให้นูนบริเวณวงแหวนซูมและวงแหวนโฟกัสช่วยให้คุณใช้งานเลนส์ได้ง่าย เมื่อใช้งานร่วมกับกล้อง EOS M5 ที่กะทัดรัดและมีน้ำหนักเบาจึงช่วยให้สะดวกต่อการพกพา และทำให้เลนส์รุ่นนี้เป็นตัวเลือกแรกของใครหลายคน ผมขอแนะนำให้คุณซื้อเลนส์ฮูดแยกต่างหาก หากคุณต้องการพกพาขณะออกไปถ่ายภาพ
Lens Hood EW-53
ข้อมูลจำเพาะ
A: เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
B: ชุดทำงานระบบ IS
เทียบเท่ากับทางยาวโฟกัส 35 มม.: 24-72 มม.
โครงสร้างเลนส์: 10 ชิ้นเลนส์ใน 9 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด: 0.25 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.25 เท่า
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: φ49 มม.
ขนาด: ประมาณ φ60.9 × 44.5 มม. (สูงสุด)
น้ำหนัก: ประมาณ 130 กรัม
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย