ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวใน EOS สำหรับผู้ใช้งานกล้อง EOS 5D Mark IV (ตอนที่ 2)
ระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหว สภาวะการถ่ายภาพจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เช่น อาจมีวัตถุเข้ามาในองค์ประกอบภาพ ฯลฯ ต่อไปนี้เป็นการตั้งค่า อุปกรณ์เสริม และสิ่งที่ควรจดจำรวม 7 ประการ ที่จะช่วยให้คุณรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจเมื่อคุณถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วยกล้อง EOS 5D Mark IV (เรื่องโดย: Nobuyoshi Kodera, นางแบบ: Sayaka Aramachi (OSCAR PROMOTION CO., LTD.))
7 จุดสำคัญที่ต้องตรวจสอบก่อนถ่ายภาพเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกด้วยกล้อง EOS 5D Mark IV
1. เตรียมการ์ดหน่วยความจำที่ตรงตามข้อกำหนด
ตรวจสอบอัตราบิตที่การ์ดหน่วยความจำสามารถรองรับได้ อัตราบิต หมายถึง ปริมาณข้อมูลที่บันทึกไปยังการ์ดหน่วยความจำในแต่ละวินาทีที่คุณถ่ายภาพเคลื่อนไหว โดยทั่วไป ยิ่งอัตราบิตสูงขึ้นเท่าใด คุณภาพของวิดีโอจะดียิ่งขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี การ์ดหน่วยความจำจะต้องมีความเร็วในการเขียนที่สูงขึ้นเพื่อบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่นเช่นกัน มิเช่นนั้นแล้ว คุณอาจได้เฟรมภาพที่มีคุณภาพลดลงได้
ในการบันทึกภาพเคลื่อนไหวระดับ 4K คุณจะต้องใช้อัตราบิตสูงประมาณ 500 Mbps โดยทั่วไป กล้องถ่ายวิดีโอส่วนตัวที่รองรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวระดับ 4K มักมีอัตราบิตระหว่าง 60 Mbps ถึง 100 Mbps ดังนั้น ในกรณีของกล้อง EOS 5D Mark IV จึงไม่ยากที่จะบอกว่าอัตราบิตประมาณ 500 Mbps นั้นสูงเพียงใด
อย่างไรก็ดี โปรดอย่าลืมว่ากล้องรุ่นนี้ไม่สามารถใช้ได้กับ UHS-II และ CFast ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดสำหรับการ์ด SD และ CF ตามลำดับ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ประเภทของการ์ดหน่วยความจำที่ตรงตามข้อกำหนดด้านความเร็วข้างต้นนั้นมีค่อนข้างจำกัด
■ SD card
4K/ UHS-I: 90 MB/วินาที หรือเร็วกว่า
Full HD/ UHS-I Speed Class 3 และสูงกว่า (60p, 50p/ALL-I), SD Speed Class 10 และสูงกว่า (60p, 50p/IPB)
■ CF card
4K/ UDMA 7: 100 MB/วินาที ขึ้นไป
Full HD/ UDMA 7: 60 MB/วินาที ขึ้นไป (60p, 50p/ALL-I), 30 MB/วินาที ขึ้นไป (60p, 50p/IPB)
แนะนำการ์ด CF ความเร็วสูง 128 GB ขึ้นไป สำหรับภาพเคลื่อนไหว 4K
การ์ด CF ที่ได้มาตรฐาน UDMA7 ซึ่งสามารถเขียนด้วยความเร็ว 100 MB/วินาที หรือสูงกว่า ให้ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลที่สูงขึ้น จึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว 4K แม้ว่าการ์ด CF จะมีราคาสูงกว่าการ์ด SD แต่เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการถ่ายภาพทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งด้วยความเร็วสูงได้แล้ว นับว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
2. คำนึงถึงการจัดโครงสร้างให้กับภาพเคลื่อนไหว
หากคุณกำลังถ่ายภาพเคลื่อนไหว แม้ว่าจะเป็นภาพเคลื่อนไหวที่สั้นๆ ก็ตาม การจะถ่ายภาพฉากทั้งหมดให้ครบตามที่ต้องการในครั้งเดียวเป็นเรื่องยากพอควร คุณจำเป็นต้องรวมหลายๆ ฉากเข้าด้วยกัน เพื่อสื่อให้ผู้ชมเห็นถึงโลกทัศน์ที่คุณพยายามจะถ่ายทอดผ่านภาพเคลื่อนไหว เมื่อคุณจัดแสดงนิทรรศการภาพนิ่ง คุณอาจคิดหาวิธีจัดวางเลย์เอาต์ เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพไปตามลำดับที่คุณต้องการใช่หรือไม่ แนวคิดแบบเดียวกันนี้สามารถนำมาปรับใช้กับโครงสร้างของภาพเคลื่อนไหวได้เช่นกัน นอกจากนี้ จะไม่มีองค์ประกอบเพียงพอสำหรับสร้างภาพเคลื่อนไหวหากคุณบันทึกภาพเฉพาะฉากที่คุณต้องการถ่ายเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การรวมฉากเสริมต่างๆ เข้าไป เพื่อช่วยเชื่อมต่อเรื่องราวทั้งหมดเข้าด้วยกัน
5 ถึง 6 วินาที x 6 ฉาก = 30 วินาที
3. ไมโครโฟนเสริมคืออุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับการบันทึกเสียงคุณภาพสูง
อันที่จริง ไมโครโฟนในตัวของกล้อง EOS 5D Mark IV นับว่าเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพในสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่ต้องการเสียงคุณภาพสูง เช่น เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงระดับหนึ่ง ณ สถานที่ถ่ายภาพ แต่หากต้องการบันทึกเสียงให้ได้คุณภาพที่เหมาะกับภาพเคลื่อนไหว ไมโครโฟนเสริมเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถตรวจสอบระบบเสียงระหว่างที่ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้โดยใช้ช่องต่อหูฟังในกล้อง
ไมโครโฟนของ Canon มาพร้อมกับคุณสมบัติ อาทิ ตัวลดเสียงที่ช่วยควบคุมเสียงเพี้ยนโดยอัตโนมัติ รวมถึงคุณสมบัติกรองเสียงลมเพื่อลดเสียงรบกวนจากลม คุณจึงสามารถกำหนดการตั้งค่าตามสภาพแวดล้อมในการถ่ายภาพ
ขอแนะนำให้ใช้ไมโครโฟนเสริมที่สามารถติดตั้งเข้ากับฐานเสียบแฟลชได้
Directional Stereo Microphone DM-E1
คุณสมบัติของไมโครโฟนรุ่นนี้คือให้การควบคุมทิศทางโดยใช้โหมดใดโหมดหนึ่งจากสามโหมด นอกจากจะใช้โหมด Shotgun ซึ่งสามารถบันทึกเสียงจากโซนที่แคบได้โดยตรงจากบริเวณด้านหน้าแล้ว ยังสามารถบันทึกเสียงในโหมด Stereo (90°/120°) ได้อีกด้วย
สำหรับการใช้งานกลางแจ้ง
สำหรับการใช้งานในอาคาร
Directional Stereo Microphone DM-E1 มาพร้อมกับอุปกรณ์กันเสียงรบกวน ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดเสียงรบกวนจากลมในระหว่างถ่ายภาพเคลื่อนไหว จึงขอแนะนำให้ใช้งานเมื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหวกลางแจ้ง สำหรับการถ่ายภาพในอาคาร เสียงที่ได้อาจไม่ชัดเจนในบางกรณี ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือใช้ไมโครโฟนโดยไม่ใช้อุปกรณ์กันเสียงรบกวน
4. หลีกเลี่ยงการซูมขณะบันทึกภาพเคลื่อนไหว
เมื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหว ผู้ใช้หลายคนอาจรู้สึกอยากซูมเข้าไปที่ตัวแบบ อย่างไรก็ดี เลนส์ซูมที่ใช้งานกับกล้อง DSLR มักออกแบบมาให้ใช้กับการซูมด้วยมือมากกว่า และเพื่อให้การซูมได้ผลดีตามต้องการ ผู้ใช้จำเป็นต้องเคลื่อนไหวอย่างมั่นคง ต่อเนื่อง และสุขุมรอบคอบ ซึ่งเป็นเรื่องยาก ดังนั้น หากคุณต้องการซูมเข้าหรือออกโดยใช้เลนส์ EF การถ่ายภาพเคลื่อนไหวแยกหลายๆ ภาพ จากนั้นนำมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันในขั้นตอนการปรับแต่งน่าจะให้ผลภาพที่ดีที่สุด
เมื่อคุณถ่ายภาพในระยะใกล้ ควรบันทึกภาพเป็นคลิปวิดีโอแยกต่างหาก
ให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบภาพ หากคุณต้องการใช้ 4K Frame Grab
อัตราส่วนภาพ 1.90:1 สำหรับภาพเคลื่อนไหวระดับ 4K จะค่อนข้างกว้าง หากคุณต้องการครอปภาพเคลื่อนไหวเป็นภาพนิ่งโดยใช้อัตราส่วนภาพ 3:2 หรือ 4:3 คุณจำเป็นต้องให้ความสนใจกับการจัดองค์ประกอบภาพ และเลือกองค์ประกอบภาพที่เหมาะสมขณะถ่ายภาพเคลื่อนไหว
พึงระลึกไว้ว่าเมื่อองค์ประกอบภาพครอบคลุมพื้นที่เฟรมทั้งหมดในอัตราส่วนภาพตามความยาวในแนวนอน บางส่วนของภาพจะถูกตัดออกไปเมื่อคุณครอบภาพในอัตราส่วน 3:2 หรือ 4:3
5. ใช้ขาตั้งกล้องวิดีโอเพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับภาพเคลื่อนไหว
โดยพื้นฐานแล้ว ลักษณะหัวขาตั้งสำหรับการถ่ายภาพวิดีโอจะแตกต่างจากหัวขาตั้งสำหรับการถ่ายภาพ หัวขาตั้งสำหรับการถ่ายวิดีโอจะมาพร้อมกับกลไกที่ช่วยให้ส่วนหัวของขาตั้งสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก เพื่อให้กล้องสามารถเอียงหรือแพนในแนวตั้งหรือแนวนอนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำได้เมื่อใช้ขาตั้งกล้องสำหรับถ่ายภาพ นอกจากนี้ ภาพเคลื่อนไหวยังแตกต่างจากภาพนิ่ง โดยบางครั้งองค์ประกอบภาพที่วางอยู่ในแนวนอนอาจคลาดเคลื่อนไปโดยตั้งใจ เราจึงไม่ค่อยนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้ในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ดังนั้น ขาตั้งกล้องวิดีโอจึงออกแบบมาเพื่อช่วยให้บันทึกภาพวิดีโอในแนวนอนได้ง่าย สำหรับภาพเคลื่อนไหว 4K การมีขาตั้งกล้องวิดีโอไว้เป็นอุปกรณ์เสริมนับว่าดีอย่างยิ่ง
การปรับเอียงกล้องจากล่างขึ้นบนด้วยขาตั้งกล้องวิดีโอ
การเอียงกล้องจะเป็นประโยชน์ในหลายๆ ฉาก เช่น เมื่อคุณถ่ายภาพตัวแบบตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า หรือเมื่อคุณแหงนมองขึ้นไปที่ตึกสูงระฟ้าหรือต้นไม้สูง การใช้ขาตั้งกล้องวิดีโอจึงช่วยให้ถ่ายภาพได้อย่างสะดวก
การเลื่อนกล้องไปทางซ้ายหรือขวา
Dolly คือเทคนิคการเคลื่อนกล้องไปทางด้านข้างขณะถ่ายภาพ สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยเทคนิค Dolly คือระยะห่างระหว่างกล้องและตัวแบบจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นอกเหนือจากการเคลื่อนที่ไปทางด้านข้างแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวสำหรับการถ่ายภาพ Dolly ได้อีกหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านหลังและด้านหน้า รวมถึงขึ้นและลง
ขอแนะนำชุดขาตั้งกล้องวิดีโอที่มาพร้อมตัวเลื่อนสำหรับถ่ายภาพ Dolly
ชุดขาตั้งกล้องวิดีโอที่มาพร้อมตัวเลื่อนเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพ Dolly ในระยะหลัง ราคาของชุดดังกล่าวมีราคาถูกกว่าเดิมมาก
6. กำหนดค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
ในหลายกรณี ความเร็วชัตเตอร์ที่นำมาใช้กับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวจะมีค่าเทียบหรือประมาณสองเท่าของอัตราเฟรม อีกนัยหนึ่งคือ สำหรับภาพเคลื่อนไหว 4K ความเร็วชัตเตอร์อาจอยู่ที่ 1/30 หรือ 1/60 วินาที แม้ว่าความเคลื่อนไหวภายในเฟรมภาพเฟรมเดียวอาจทำให้ภาพออกมาเบลอเนื่องมาจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แต่อันที่จริงแล้ววิธีนี้จะช่วยให้การเคลื่อนที่ในภาพเคลื่อนไหวดูต่อเนื่อง เมื่อตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำประมาณ 1/30 หรือ 1/60 วินาที อาจทำให้ยากต่อการเปิดรูรับแสงเมื่อต้องถ่ายภาพตอนกลางวันหรือในฉากอื่นๆ ที่ต้องใช้ปริมาณแสงมาก เพื่อลดระยะชัดของภาพ คุณสามารถใช้ฟิลเตอร์ Neutral Density (ND) เพื่อควบคุมปริมาณแสงได้
* ความแตกต่างเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ระหว่างการถ่ายภาพนิ่งกับภาพเคลื่อนไหวในการกำหนดค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
■ เมื่อถ่ายภาพนิ่ง
- รูรับแสง: เลือกค่ารูรับแสงที่ช่วยให้คุณได้ระยะชัดของภาพที่เหมาะสมในการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านภาพ
- ความเร็วชัตเตอร์:
1. เลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ทำให้กล้องสั่นไหวหรือตัวแบบเบลอ
2. ลดความเร็วชัตเตอร์อย่างจงใจ หากคุณต้องการเพิ่มเอฟเฟ็กต์ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
■ เมื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหว
- รูรับแสง: เลือกค่ารูรับแสงที่ช่วยให้คุณได้ระยะชัดของภาพที่เหมาะสมในการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านภาพ
- ความเร็วชัตเตอร์: เลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เทียบเท่าหรือประมาณสองเท่าของอัตราเฟรม
แนะนำให้ใช้ฟิลเตอร์ ND สำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวในฉากที่สว่าง
เนื่องจากความเร็วชัตเตอร์มีให้เลือกจำกัดในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ดังนั้น จึงสามารถใช้ฟิลเตอร์ ND ควบคุมปริมาณแสง เพื่อให้คุณตั้งค่ารูรับแสงได้ยืนหยุ่นมากขึ้น ลองใช้ค่า 1/16 หากคุณมีฟิลเตอร์ ND เพียงตัวเดียว จากนั้นค่อยเพิ่มค่าเป็น 1/4 หรือ 1/64 ตามความต้องการในการถ่ายภาพของคุณ
ใช้ความไวแสง ISO สูง เพื่อปรับระดับความสว่างที่จำเป็นเมื่อถ่ายภาพในฉากที่มีแสงน้อย
ในระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหวในฉากที่มีแสงน้อย ความไวแสง ISO จะเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ระดับความสว่างที่จำเป็นในการถ่ายภาพ นอกจากนี้ พึงระลึกว่าอาจเกิดแสงที่สั่นไหวขึ้นได้หากแหล่งกำเนิดแสงซิงค์ข้อมูลกับความถี่ของแหล่งจ่ายไฟ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ตามเขตภูมิภาคที่คุณถ่ายภาพด้วย
ภาพดูเรียบเนียนขึ้นเมื่อความเร็วชัตเตอร์ไม่เร็วเกินไป
เมื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหว 4K ด้วยกล้อง EOS 5D Mark IV อัตราเฟรมที่ใช้บันทึกไม่ควรเกิน 30 fps การเพิ่มความเร็วชัตเตอร์โดยไม่จำเป็นนั้นไม่ทำให้เกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวก็จริง แต่จะส่งผลให้ชุดเฟรมขาดความต่อเนื่องแบบภาพเคลื่อนไหว เพื่อสร้างคลิปวิดีโอที่มีการเคลื่อนไหวที่ราบรื่น เราจำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงไม่เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้สูงจนเกินไป
เมื่อถ่ายภาพนิ่งของตัวแบบที่กำลังเดินอยู่ในระยะใกล้ ภาพที่ออกมาอาจเบลอเล็กน้อย เมื่อการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/60 วินาทีไม่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี เมื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหว การมีเฟรมภาพที่มีภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวจะช่วยให้คลิปวิดีโอออกมาสวยเนียนมากขึ้น
7. ใช้โหมด AF 3 แบบให้เกิดประโยชน์
EOS 5D Mark IV มาพร้อมกับโหมด AF สามแบบ สำหรับช่างภาพวิดีโอที่รับงานในโอกาสพิเศษต่างๆ ที่ไม่สามารถทดลองถ่ายภาพได้ เช่น การแข่งขันกีฬา โหมดการตรวจจับใบหน้า + การติดตาม AF จะเป็นประโยชน์มาก ขณะที่สำหรับตัวแบบหรือทิวทัศน์ที่สามารถถ่ายภาพซ้ำได้ ขอแนะนำอย่างยิ่งให้ทดลองใช้ FlexiZone – AF จุดเดียว เพราะช่วยให้สามารถปรับโฟกัสและความเร็วในการตอบสนองของ AF ได้ โหมดทั้งสามแบบของ AF นั้นมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน และควรทำความคุ้นเคยกับโหมดต่างๆ ก่อนเริ่มต้นถ่ายภาพ
การตรวจจับใบหน้า + การติดตาม AF
โหมดนี้เป็นประโยชน์โดยเฉพาะในฉากที่ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับกล้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ อาทิ เมื่อตัวแบบกำลังเคลื่อนที่เข้าหากล้อง หากในองค์ประกอบภาพมีบุคคลไม่เกินสามคน กล้องจะสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องพร้อมกับรักษาโฟกัสไว้ที่ตัวแบบได้
FlexiZone – AF หลายจุด
โหมดนี้ช่วยป้องกันไม่ให้โฟกัสเลื่อนไปอยู่ตัวแบบที่ไม่ต้องการในองค์ประกอบภาพ ขณะที่คุณถ่ายตัวแบบที่กินพื้นที่กว้าง เช่น กลุ่มคน อย่างไรก็ดี โหมดนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมหากคุณต้องการขยับกล้องไปด้วยขณะถ่ายภาพ
FlexiZone – AF จุดเดียว
หาก AF ตอบสนองโดยไม่ได้ตั้งใจขณะที่รถยนต์หรือผู้คนเดินผ่านกล้อง ภาพเคลื่อนไหวที่ได้อาจดูไม่เป็นธรรมชาติ ในกรณีนี้ ควรใช้ FlexiZone – AF จุดเดียวเพื่อตั้งโฟกัส พร้อมกับปรับความไวในการติดตามตัวแบบของ Movie Servo AF ในเมนูการตั้งค่าเพื่อล็อคโฟกัสไว้ที่ตัวแบบ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Kodera มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 10 ปีในฐานะผู้กำกับเทคนิคสำหรับรายการโทรทัศน์ โฆษณา และวิดีโอโปรโมทสินค้า เขายังเป็นนักเขียนหลากหลายแนวตั้งแต่ด้านเสียงและวิดีโอไปจนถึงเนื้อหาต่างๆ โดยมีคติประจำใจว่า ทำเนื้อหาที่ซับซ้อนให้เรียบง่าย และทำเนื้อหาที่เรียบง่ายให้น่าอ่าน