การจัดองค์ประกอบภาพมีผลต่ออารมณ์ภาพอย่างมาก องค์ประกอบที่นำมาจัดองค์ประกอบภาพโดยทั่วไปประกอบด้วยตำแหน่งของตัวแบบในภาพ ตำแหน่งการถ่ายภาพ (สูงหรือต่ำ) และมุมกล้อง ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้หลักพื้นฐานในการจัดองค์ประกอบภาพด้วยกัน (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
หน้า: 1 2
รูปแบบการจัดองค์ประกอบภาพพื้นฐาน
เมื่อเรามองภาพถ่าย สิ่งแรกที่สัมผัสคือความรู้สึกประทับใจโดยรวมที่เราได้รับจากภาพนั้นๆ หากไม่มีตัวแบบที่เป็นจุดดึงความสนใจอย่างเจาะจง เราก็อาจหยั่งความรู้สึกบางอย่างจากบรรยากาศรวมๆ ของภาพถ่าย วิธีที่คุณจัดวางตัวแบบจะเป็นตัวกำหนดบรรยากาศที่สื่อออกมาผ่านภาพว่าดูอึดอัดหรือผ่อนคลาย องค์ประกอบภาพประกอบด้วยตำแหน่งที่จัดวางตัวแบบ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากตัวแบบด้วย
ขั้นแรกในการเรียนรู้พื้นฐานการจัดองค์ประกอบคือการกำหนดตำแหน่งของตัวแบบ เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพพื้นฐานที่มักใช้กันคือ องค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง ซึ่งจะจัดวางตัวแบบให้อยู่ที่กึ่งกลางของภาพ การจัดองค์ประกอบภาพประเภทอื่นๆ ได้แก่ การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุม ซึ่งตัวแบบจะถูกจัดวางตามเส้นแนวทแยงมุมเพื่อดึงความสนใจจากสายตาคนดู องค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งรูปตัว S สำหรับการสร้างความโดดเด่นให้กับภาพถ่ายถนนหนทางหรือสายน้ำที่ลดเลี้ยว และกฎสามส่วนที่จะแบ่งภาพ (ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน) ออกเป็นสามส่วน โดยจะวางตัวแบบไว้ที่จุดตัดของเส้นแนวตั้งและแนวนอน
เป็นประโยชน์สำหรับภาพถ่ายบุคคลและภาพอื่นๆ ทุกประเภท เลย์เอาต์ขั้นพื้นฐานนี้จะจัดตำแหน่งของตัวแบบให้อยู่ที่กึ่งกลางภาพ
สำหรับเทคนิคนี้ ตัวแบบจะวางในแนวทแยงมุม มักใช้ในภาพถ่ายทิวทัศน์ และใช้ได้ดีกับตัวแบบ อาทิ สันเขา การวางตำแหน่งสันเขาในแนวทแยงมุมช่วยสร้างอารมณ์ภาพที่หนักแน่น
องค์ประกอบภาพแบบเส้นโค้งรูปตัว S มักพบในภาพถ่ายทิวทัศน์ คุณสามารถสร้างอารมณ์ภาพที่มีพลังโดยการจัดให้มีองค์ประกอบรูปตัว S อยู่ในภาพ เช่น แม่น้ำที่อยู่ห่างออกไป
กฎสามส่วนจะแบ่งส่วนภาพในแนวตั้งและแนวนอนออกเป็นสามส่วน ทำให้มีส่วนที่เท่าๆ กัน 9 ส่วน ตัวแบบหลักจะจัดวางอยู่ที่จุดตัดของเส้นแบ่งเหล่านี้ กฎสามส่วนเป็นหนึ่งในเทคนิคที่มีการใช้งานบ่อยที่สุด และใช้ได้ดีสำหรับการสร้างองค์ประกอบภาพที่ให้ความรู้สึกมั่นคง
ตัวอย่างการใช้กฎสามส่วน
Program AE (f/10, 1/320 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ในตัวอย่างนี้ ภาพถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยตัวแบบวางอยู่ที่จุดตัดเส้นแนวนอนและแนวขวาง หากไม่มีโขดหินในระยะโฟร์กราวด์ บริเวณด้านล่างขวาของภาพอาจเป็นพื้นที่ว่างและกว้าง ซึ่งทำให้ภาพขาดความมั่นคง ในที่นี้มีโขดหินอยู่ด้านหน้าจึงช่วยให้องค์ประกอบภาพมีความสมดุลเหมาะสม
ตัวอย่างการจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุม
Aperture-priority AE (f/10, 1/100 วินาที, EV -0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ในภาพนี้ล้อเหล็กถูกจัดวางเรียงตามแนวทแยงมุม เน้นย้ำมิติความลึกและสร้างบรรยากาศที่น่าสนใจ หากถ่ายภาพจากทางด้านหน้าโดยตรง ภาพอาจขาดความน่าสนใจ ตำแหน่งการถ่ายภาพส่งผลอย่างมากกับความรู้สึกที่คนดูจะได้รับจากภาพ
มุมการถ่ายภาพและสิ่งที่มองเห็น
นอกเหนือจากวิธีการจัดวางตัวแบบแล้ว มุมการถ่ายภาพยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อองค์ประกอบภาพอย่างมาก แม้ว่าเราถ่ายภาพจากตำแหน่งเดียวกัน แต่ภาพอาจออกมาต่างกันอย่างลิบลับขึ้นอยู่กับมุมกล้องที่ใช้ ภาพด้านล่างนี้จะอธิบายถึงภาพที่เปลี่ยนไปเมื่อถือกล้องในระดับความสูงแตกต่างกัน ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนมุมการถ่ายภาพส่งผลกับตัวแบบและแบ็คกราวด์ที่ปรากฏอย่างไร
- มุมสูง
- ระดับสายตา
- มุมต่ำ
เมื่อช่างภาพยืนเล็งกล้องตรงไปที่ตัวแบบ มุมการถ่ายภาพลักษณะนี้เรียกว่า ระดับสายตา หากช่างภาพเล็งไปที่ตัวแบบที่อยู่ต่ำกว่า เรียกว่า มุมสูง ขณะเดียวกันจะกลายเป็นมุมต่ำหากช่างภาพเงยกล้องเพื่อเล็งภาพตัวแบบ
ใช้ได้ดีสำหรับการถ่ายภาพสภาพแวดล้อมโดยรวม ภาพมุมสูงให้การถ่ายทอดภาพที่ตรงไปตรงมาโดยมีเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเพียงเล็กน้อย
จากสิ่งที่มองเห็นจากมุมกล้องลักษณะนี้ มุมต่ำจะให้ภาพที่ส่งอารมณ์ได้ชัดเจนกว่า
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย