หากถามว่าอะไรคือตัวแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับช่างภาพทิวทัศน์ Jiro Tateno ตอบว่าสิ่งแรกที่เขานึกถึงคือกลุ่มเมฆตระการตา เช่น น้ำตกเมฆเหล่านี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในบางสภาวะเท่านั้น ต่อไปนี้เขาจะมาแบ่งปันเคล็ดลับในการเพิ่มโอกาสให้คุณได้พบเจอและถ่ายภาพน้ำตกเมฆให้สวยสมใจ (เรื่องโดย Jiro Tateno, Digital Camera Magazine)
EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 63 มม./ Manual exposure (f/11, 1/15 วินาที)/ ISO 100/ WB: 4,900K
สถานที่: ช่องเขาชิโอริ จังหวัดนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น
วันที่และเวลาถ่ายภาพ: 27 กันยายน เวลา 5:15 น.
น้ำตกเมฆ: ภาพทะเลหมอกถ่ายที่ระยะ 50 มม.
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า น้ำตกเมฆหรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ทาคิกุโมะ” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เมฆดูเหมือนกำลังไหลลงมาตามไหล่เขา ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบางสภาวะเท่านั้น จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะได้พบเจอ และคุณจะไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกกดดันว่าต้องถ่ายภาพให้ดูสวย! แต่เมื่อคุณทำได้ ความรู้สึกถึงความสำเร็จจะเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้เลย
เคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการถ่ายภาพ แม้ว่าผมใช้ภาพถ่ายจากช่องเขาชิโอริเป็นตัวอย่าง แต่น่าจะใช้ได้กับสถานที่อื่นๆ ส่วนใหญ่ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อให้เกิดน้ำตกเมฆด้วย
1. เวลา: ช่วงเช้าตรู่อันเงียบสงบหลังจากอุณหภูมิลดลงอย่างมากในเวลากลางคืน
น้ำตกเมฆเป็นเหมือนเวอร์ชันพิเศษของปรากฏการณ์ “ทะเลหมอก” สภาวะที่น้ำตกเมฆมีโอกาสปรากฏขึ้นนั้นไม่ต่างจากสภาวะที่เอื้อให้เกิดทะเลหมอก นั่นคือ
- การเย็นตัวของอากาศจากการแผ่รังสีความร้อนสูง (คำอธิบายด้านล่าง)
- ช่วงเช้าตรู่
- ท้องฟ้าแจ่มใส
- ความชื้นสูง
แต่ถึงแม้ว่าสภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นและคุณเห็นทะเลหมอกสวยน่าอัศจรรย์ ก็รับประกันไม่ได้ว่าน้ำตกเมฆจะเกิดขึ้นด้วย! ดังนั้น นอกจากสภาพอากาศที่เหมาะเจาะในเวลาเดียวกันแล้ว คุณยังต้องอาศัยโชคเช่นกัน
ผมถ่ายภาพหลักที่ช่องเขาชิโอริ ซึ่งเป็นที่ที่น้ำตกเมฆมีโอกาสปรากฏขึ้นตอนเช้าตรู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงมากกว่า ภาพนี้ถ่ายเมื่อปลายเดือนกันยายน เวลา 5:15 น.
การเย็นตัวของอากาศจากการแผ่รังสีความร้อนมีไม่เพียงพอ
สถานที่เดียวกันแต่เป็นวันอื่น เมื่อการเย็นตัวของอากาศจากการแผ่รังสีความร้อนอยู่ในระดับต่ำ ทะเลหมอกจะบางเบากว่าปกติและมองเห็นน้ำตกเมฆได้ไม่ชัดนัก
ข้อควรรู้: การเย็นตัวของอากาศจากการแผ่รังสีความร้อนและทะเลหมอก
การเย็นตัวของอากาศจากการแผ่รังสีความร้อน (Radiative cooling) หมายถึง กระบวนการที่ความร้อนที่สะสมบนพื้นผิวโลกในช่วงกลางวันหลุดลอดไปสู่ชั้นบรรยากาศในเวลากลางคืน ทำให้อากาศรอบพื้นผิวโลกเย็นลง ทะเลหมอกจะเกิดขึ้นเมื่อมีอากาศเย็นสะสมมากพอในสถานที่บางแห่ง เช่น ภูเขา
อากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นและอากาศเย็นจะลดตัวลงต่ำ การไม่มีกระแสลมหรือเมฆจะเอื้อให้เกิดการเย็นตัวของอากาศจากการแผ่รังสีความร้อน เพราะอากาศร้อนจากพื้นดินสามารถเล็ดลอดออกไปได้ง่ายขึ้นโดยไม่ปะปนกับอากาศเย็นใกล้พื้นดิน
2. ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เพื่อถ่ายภาพให้ดูน่าประทับใจ
A: รอให้ทะเลหมอกไหลล้นออกมา
B: ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เพื่อจับภาพน้ำตกเมฆที่ “ไหลบ่า”
“น้ำตกเมฆ” จะเกิดขึ้นเมื่อทะเลหมอกในภูมิประเทศอย่างช่องเขาและหุบเขา เกิดหนาตัวขึ้นมากหรือลอยตัวขึ้นสูงมากจนเอ่อล้นท่วมยอดเขาโดยรอบ กลุ่มเมฆเหล่านี้จะเคลื่อนตัวตลอด และอาจเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าที่คุณคาดไว้!
การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เป็นวิธีที่เหมาะมากสำหรับเก็บภาพความมีชีวิตชีวาในฉากให้กลายเป็นภาพถ่ายสวยตระการตา ซึ่งไม่ต่างจากวิธีที่คุณใช้ถ่ายภาพน้ำตกหรือสายน้ำไหลในลำธาร ผมถ่ายภาพหลักที่ 1/15 วินาที
เคล็ดลับระดับมือโปรข้อที่ 1: หาความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมที่สุด อย่าให้ภาพสว่างเกินไป!
ความเร็วชัตเตอร์ที่นานกว่า 1 วินาทีอาจทำให้รายละเอียดของเมฆถูกกลืนหายไปและมองเห็นการเคลื่อนที่ของเมฆได้ไม่ชัดนัก เว้นแต่ว่าคุณจะใช้ฟิลเตอร์ ND
เปิดรับแสงมากเกินไปที่ 15 วินาที
รายละเอียดของเมฆถูกกลืนหาย
(ความเร็วชัตเตอร์: 15 วินาที)
รายละเอียดของเมฆยังคงอยู่
(ความเร็วชัตเตอร์: 1/15 วินาที)
เมื่อพ้นระดับหนึ่งไปแล้ว รายละเอียดของส่วนที่สว่างโพลนจะไม่สามารถกู้คืนได้ แม้ว่าคุณจะถ่ายภาพในรูปแบบ RAW ดังนั้น ควรใช้ฮิสโตแกรมและ Zebra Display ช่วยตรวจดูว่าคุณเปิดรับแสงมากเกินไปหรือไม่
เคล็ดลับระดับมือโปรข้อที่ 2: ใช้ฟิลเตอร์ ND เมื่อภาพเริ่มสว่างขึ้น
ผมมักจะพกฟิลเตอร์ ND 2 อันติดตัว ได้แก่
- ฟิลเตอร์ ND400 ซึ่งช่วยให้ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงถึง 9 สต็อป
- ฟิลเตอร์ ND16 ซึ่งช่วยให้ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงถึง 4 สต็อป
ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น คุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเปิดรับแสงมากนัก อันที่จริง คุณอาจจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ อยู่แล้วหากสภาพแสงสลัวพอ จึงเป็นเรื่องของการตัดสินใจว่าควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำแค่ไหนเพื่อแสดงการเคลื่อนที่ของเมฆอย่างเพียงพอ!
แต่จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเวลาพระอาทิตย์กำลังขึ้น เพราะแม้แต่ 1/15 หรือ 1/8 วินาทีก็อาจทำให้ภาพได้รับแสงมากเกินไป การใช้ฟิลเตอร์ ND จะช่วยให้คุณถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้แม้ในตอนกลางวัน
เคล็ดลับระดับมือโปรข้อที่ 3: ลั่นชัตเตอร์จากระยะไกล
เมื่อถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำหรือเปิดรับแสงนาน การกดปุ่มชัตเตอร์อาจทำให้เกิดปัญหาภาพเบลอจากการสั่นของกล้อง ผมมักจะใช้รีโมทคอนโทรลเพื่อลั่นชัตเตอร์ และยังพบว่าวิธีนี้มีประโยชน์ในการถ่ายภาพบนพื้นที่ไม่มั่นคงเวลาที่ผมไม่อยากจับอุปกรณ์ถ่ายภาพที่จัดไว้
เครื่องมือที่ผมเลือกใช้คือรีโมทคอนโทรลไร้สาย BR-E1 ซึ่งเชื่อมต่อกับกล้องผ่าน Bluetooth
นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพ Live View จากระยะไกลหรือฟังก์ชั่นรีโมทคอนโทรล Bluetooth ในแอพ Camera Connect สำหรับสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน
3. การถ่ายภาพโคลสอัพของน้ำตกเมฆ
หากคุณไปถึงที่ได้เร็วพอ คุณจะสามารถถ่ายภาพฉากนี้ในแบบต่างๆ กันซึ่งค่อยๆ ปรากฏให้เห็นตั้งแต่เวลาโพล้เพล้ จนถึงรุ่งสาง กระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น ต่อไปนี้เป็นเกร็ดความรู้ส่วนหนึ่งที่น่าจะช่วยให้คุณวางแผนลำดับขั้นตอนการถ่ายภาพ (และเลนส์ที่ควรใช้)
คุณจะไม่ค่อยเห็นน้ำตกเมฆก่อนรุ่งสาง เพราะโดยปกติจะเริ่มด้วยทะเลหมอกเท่านั้น ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพมุมกว้างของทิวทัศน์ทั้งหมดที่ปกคลุมไปด้วยเมฆ
ภาพทะเลหมอกถ่ายที่ระยะ 50 มม.
รุ่งสาง ทะเลหมอกยังไม่ “ไหลล้นออกมา” มากนัก ผมจึงถ่ายภาพรวมๆ
หากสภาพอากาศเข้าที่เข้าทาง กลุ่มเมฆในหุบเขาจะสะสมจนเอ่อล้นไปทั่วภูเขารอบๆ ราวกับเป็นน้ำตก ปรากฏการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นหลังพระอาทิตย์ขึ้นได้ไม่นาน ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะแก่การถ่ายภาพโคลสอัพขณะที่หมู่เมฆไหลลงต่อเนื่องกันเป็นหลั่นๆ แต่ปรากฏการณ์นี้จะอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้น อย่าใช้เวลามากเกินไป! เมื่อมีเมฆปกคลุมมากขึ้น “แอ่ง” ที่มีน้ำตกเมฆไหลเข้าไปจะเต็มและกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของทะเลหมอกที่หนาแน่นมากขึ้น
ภาพโคลสอัพของน้ำตกเมฆที่ระยะ 500 มม.
ภาพที่บังเอิญถ่ายได้หลังจากพระอาทิตย์ขึ้นพอดี ซึ่งแสงอาทิตย์สีทองทำให้น้ำตกเมฆดูเปล่งประกาย เป็นภาพชวนมองที่ถ่ายออกมาแล้วรู้สึกอิ่มใจ
เกี่ยวกับสถานที่: ช่องเขาชิโอริ จังหวัดนีงาตะ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น: 枝折峠 (ชิโอริ โทเกะ)
ที่อยู่: รอบๆ ฮาอิโนะมาตะไปจนถึงกินซันไดระ เมืองอุโอนุมะ จังหวัดนีงาตะ
การเดินทาง: ใช้เวลาขับรถ 60 นาทีจากทางขึ้นลง Koide IC บนทางด่วน Kan-etsu ผ่านทางหลวงหมายเลข 352 หมายเหตุ: เส้นทางดังกล่าวแคบและคดเคี้ยว มีรถบัสรับส่งให้บริการในบางวันในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่:
- มีจุดถ่ายภาพอยู่ไม่กี่จุด ผมถ่ายภาพหลักที่ “จุดชมวิวน้ำตกเมฆและทะเลหมอกที่ 1”
- จุดชมวิวนี้สามารถเข้าได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ทางหลวงหมายเลข 352 จะปิดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
- คุณมีโอกาสสูงสุดที่จะได้เห็นน้ำตกเมฆหากไปเที่ยวในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน
เว็บไซต์: การท่องเที่ยวเมืองอุโอนุมะ (ภาษาญี่ปุ่น) (มีภาษาอื่นๆ ให้อ่านผ่านทางการแปลอัตโนมัติ)
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1975 ตั้งแต่ราวปี 1990 เขาสัมผัสธรรมชาติผ่านทางการตกปลา และเริ่มถ่ายภาพ เขาเดินทางถ่ายภาพไปทั่วประเทศในหัวข้อ "ความงดงามของธรรมชาติ” ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เขาเป็นผู้จัดส่งภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่ในนิตยสาร หนังสือ โปสเตอร์ ปฏิทิน และอื่นๆ อีกมากมาย เขาจัดงานนิทรรศการภาพถ่าย "Okinawa" ขึ้นในปี 2010 และจัดนิทรรศการภาพถ่าย "Northern Lights - Journey of Light/ Iceland" ในปี 2017