EF35mm f/1.4L II USM – เลนส์เดี่ยวเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่รุ่นเรือธงของ Canon ด้วยคุณภาพของภาพที่ชัดเจนปราศจากความคลาด และวงกลมโบเก้อันสวยงามที่ค่ารูรับแสงกว้างสุด เลนส์นี้จะช่วยขยายขอบเขตให้แก่ภาพถ่ายของคุณ ด้านล่างคือรีวิวภาพโดยช่างภาพมืออาชีพซึ่งกล่าวถึงความสามารถที่แท้จริงของเลนส์นี้ (เรื่องโดย: Ikuko Tsurumaki)
เลนส์ BR ตัวใหม่ที่สามารถกำจัดสีเบลอได้อย่างทรงพลัง
เลนส์ EF35mm f/1.4L II USM ซึ่งเป็นเลนส์เดี่ยวเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่รุ่นสำคัญของ Canon ออกวางจำหน่ายในปี 2015 และนี่เป็นการปรับรุ่นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังจากเปิดตัวเลนส์ EF35mm f/1.4L USM ซึ่งเป็นเลนส์ที่มีชื่อเสียงในด้านคุณภาพของภาพสูงและเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่สวยงามในปี 1998
สำหรับเลนส์ EF35mm f/1.4L II USM นี้ Canon ได้เปิดตัวชิ้นเลนส์ BR ใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยี Blue Spectrum Refractive Optics (BR) ชิ้นเลนส์นี้เป็นวัสดุนำแสงจากธรรมชาติที่สามารถหักเหความยาวคลื่นสั้นของแสงสีน้ำเงินได้อย่างดีเยี่ยมซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในอดีต เมื่อนำมาใช้ร่วมกับเลนส์เว้าและเลนส์นูนจึงช่วยลดความคลาดสีลงได้มาก และในขณะเดียวกันก็สามารถขจัดสีเบลอที่มักจะปรากฏบนเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ได้อย่างทั่วถึง
ดังแสดงในภาพถ่ายฮาวายด้านล่าง เลนส์นี้ให้ประสิทธิภาพการถ่ายทอดสูงแม้ขณะใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4 ภาพทั้งภาพที่ออกมามีความคมชัด รวมถึงบริเวณขอบภาพซึ่งโดยปกติแล้วมักถ่ายได้ไม่ค่อยชัดเจนนัก ในขณะเดียวกัน เอฟเฟ็กต์เฮโลที่แนวเส้น Sagittal ก็ลดลงมาก จึงทำให้สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ได้ที่ค่ารูรับแสงกว้างสุด ในอดีต บางคนอาจเลือกปรับค่ารูรับแสงให้แคบลงหนึ่งหรือสองสต็อปเพื่อรักษาคุณภาพของภาพถ่าย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับเลนส์ใหม่นี้อีกต่อไป และคุณยังสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องอย่างอิสระได้ตลอดช่วงค่ารูรับแสง ฉันชอบมากที่เลนส์นี้ทำให้ฉันถ่ายทอดอารมณ์ด้วยเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เป็นลักษณะของเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการนำการเคลือบแบบพิเศษที่เรียกว่า SubWavelength Structure Coating (SWC) มาใช้ ทำให้ถ่ายภาพได้สวยงามโดยมีแสงแฟลร์และแสงหลอกต่ำสุด ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับฉากที่คุณต้องการใช้แสงย้อนจากด้านหลังหรือเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ขณะพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก
การเพิ่มประสิทธิภาพอื่นๆ หากเทียบกับเลนส์ EF35mm f/1.4L USM ได้แก่ ระยะโฟกัสใกล้สุด ซึ่งสั้นลงจาก 0.3 ม. เป็น 0.28 ม. ในเลนส์ EF35mm f/1.4L II USM และกำลังขยายสูงสุดที่เพิ่มขึ้นจาก 0.18 เท่า เป็น 0.21 เท่า ด้วยจำนวนม่านรูรับแสงทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นจากแปดเป็นเก้า ขณะนี้จึงสามารถถ่ายภาพที่มีโบเก้ที่กลมขึ้นได้จากแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นจุดจากด้านหลัง โครงสร้างแบบกันฝุ่นและละอองน้ำ รวมทั้งการเคลือบฟลูออไรต์ทำให้คุณสามารถถ่ายภาพได้อย่างไร้กังวลแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการถ่ายภาพ คุณสมบัติอื่นที่น่าดึงดูดใจสำหรับทั้งช่างภาพมืออาชีพและผู้สนใจถ่ายภาพที่มีประสบการณ์ ได้แก่ ความสามารถในการใช้งานอันยอดเยี่ยมของเลนส์และการเคลือบคล้ายหนังซึ่งช่วยเพิ่มความรู้สึกหรูหราให้กับเลนส์
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L II USM/ Aperture-priority AE (f/1.4. 1/2,500 วินาที EV+0.3)/ ISO 100/ WB: Daylight
กล่องรับจดหมายเหล่านี้เรียงกันเป็นแถวสวยงาม ชวนให้นึกถึงอเมริกา เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่สวยงามและนุ่มนวลในฉากหลังช่วยทำให้ตัวแบบโดดเด่นขึ้น
หัวข้อ 01: เลนส์ BR
BR Optics
คุณสมบัติของ BR optics คือความสามารถในการหักเหแสงสีน้ำเงิน (ความยาวคลื่นสั้น) ได้มาก เมื่อใช้ร่วมกับเลนส์นูนและเลนส์เว้าจะทำให้สามารถรวมแสงได้ที่จุดเดียว จึงลดความคลาดสี (สีเบลอ) ได้ ชิ้นเลนส์ BR ถูกวางไว้ที่ตำแหน่งกึ่งกลางของโครงสร้างเลนส์ EF35mm f/1.4L II USM
เลนส์แก้วธรรมดา
โครงสร้างที่มีเพียงเลนส์เว้าและเลนส์นูนไม่สามารถแก้ไขความยาวคลื่นสั้นของแสงสีน้ำเงินได้ ผลลัพธ์ก็คือ แสงจะตกที่ตำแหน่งต่างกัน จึงทำให้เกิดสีเบลอขึ้นในภาพ
เลนส์ BR
เลนส์ BR (ชิ้นเลนส์ออพติคอล BR) หักเหแสงสีน้ำเงินได้มาก จึงทำให้ความยาวคลื่นที่แตกต่างกันของแสงสีที่มองเห็นได้มาตกกระทบที่จุดเดียว
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L II USM/ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/100 วินาที EV ±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
มีร้านค้าชื่อดังมากมายบนถนน Kalakaua ถนนเส้นหลักของย่าน Waikiki ในฮาวาย เงาสะท้อนบนหน้าต่างของร้านค้าก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความเป็นเขตร้อนของเกาะแห่งนี้
หัวข้อ 02: คุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมทุกขณะด้วยค่ารูรับแสงกว้างสุด
แม้ภาพนี้จะถ่ายในสภาพย้อนแสง แต่แสงแฟลร์และแสงหลอกกลับถูกลดให้เหลือน้อยที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเทคโนโลยี SWC เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4 ยังดูนุ่มนวลและสวยงามอีกด้วย ดังที่เห็นได้จากภาพตัวอย่างอื่นๆ ซึ่งถ่ายที่ค่ารูรับแสง f/1.4 เลนส์นี้ทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงตลอดจากค่ารูรับแสงสูงสุด
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L II USM/ Aperture-priority AE (f/4, 1/50 วินาที EV-1.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่มีบรรยากาศเป็นธรรมชาติตามแบบฉบับฮาวาย คู่รักนั่งอยู่ริมหน้าต่างในขณะที่รออาหาร ในภาพนี้ มุมรับภาพขนาด 35 มม. ทำให้สื่อความรู้สึกผ่อนคลายของสถานที่ได้อย่างแท้จริง
หัวข้อ 03: การเปรียบเทียบขนาด
แม้เส้นผ่านศูนย์กลางยาวสุดนั้นมีขนาดเกือบเท่าเดิม แต่ก็ได้มีการเพิ่มความยาวและน้ำหนักของเลนส์ EF35mm f/1.4L II USM ตัวใหม่ประมาณ 20 มม. และ 180 กรัม ตามลำดับ หากเทียบกับเลนส์ EF35mm f/1.4L USM การนำชิ้นเลนส์ BR เข้ามาใช้ ทำให้โครงสร้างของเลนส์เปลี่ยนจาก 11 ชิ้นในเก้ากลุ่ม เป็น 14 ชิ้นใน 11 กลุ่ม นอกจากนี้ จำนวนม่านรูรับแสงในขณะนี้ก็เพิ่มเป็นเก้า (ไดอะแฟรมรูรับแสงทรงกลม) จากเดิมที่มีแปด และในขณะเดียวกัน ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพที่เห็นได้ชัดอีกหลายอย่างในสเป็คของเลนส์ใหม่นี้ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยี SWC เพื่อป้องกันแสงแฟลร์และแสงหลอก โครงสร้างที่ป้องกันฝุ่นและหยดน้ำ และการเคลือบฟลูออไรต์
(ใหม่) EF35mm f/1.4L II USM / (เก่า) EF35mm f/1.4L USM
φ80.4mm (เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 72 มม.) / φ79 มม. (เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 72 มม.)
ความยาว: 105.5 มม. น้ำหนัก: ประมาณ 760 กรัม / ความยาว: 86 มม. น้ำหนัก: ประมาณ 580 กรัม
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L II USM/ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/500 วินาที EV+0.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
เอ้กเบเนดิกต์ อาหารเช้ายอดนิยมในฮาวาย การจัดแต่งจานนั้นมีความประณีตและทำให้อาหารดูน่ารับประทาน ภาพนี้ ฉันถ่ายในระยะใกล้มากโดยใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุด
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L II USM/ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/2,500 วินาที EV-0.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
แสตมป์ที่มีรูปม้า ด้วยระยะโฟกัสใกล้สุดที่ถูกทำให้สั้นลงเหลือ 28 ซม. ตอนนี้ฉันจึงสามารถเข้าใกล้วัตถุได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้เกิดผลทางอารมณ์ได้ดีกว่าในภาพที่ออกมา แม้ว่าตัวแบบจะมีขนาดเล็ก
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/2.8L II USM/ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/2,500 วินาที EV+0.7)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ทางเดินที่แคบและยาวซึ่งนำไปสู่บ้านสีขาวหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง กรอบหน้าต่างถูกทาด้วยสีสันสะดุดตา ฉันปรับค่ารูรับแสงลงมาสองสต็อปที่ f/2.8 เพื่อเบลอทางเดินที่อยู่ด้านหน้า
EOS 5D Mark III/ EF35mm f/1.4L II USM/ Aperture-priority AE (f/1.4, 1/5,000 วินาที EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เพื่อตรวจสอบปริมาณแสงและคุณภาพที่ขอบรูป ฉันจึงถ่ายภาพท้องฟ้าที่ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4 แม้จะมีขอบมืดเล็กน้อย แต่ความละเอียดที่ปรากฏก็ถือว่ามีคุณภาพดี
แผนภาพโครงสร้างเลนส์
ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมที่ผ่านการเจียรและขัดผิว
ชิ้นเลนส์ UD
ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมขึ้นรูปด้วยแก้ว
A: SWC / B: ชิ้นเลนส์ BR
EF35mm f/1.4L II USM
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
Ikuko Tsurumaki
เกิดที่โตเกียวในปี 1972 Tsurumaki เริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพในระหว่างที่ทำงานในบริษัทโฆษณา และผันตัวมาเป็นช่างภาพหลังจากผ่านการเป็นผู้ช่วยช่างภาพระยะหนึ่ง ปัจจุบัน เธอมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การถ่ายภาพนิตยสาร การเขียนบทความ และกำกับการถ่ายภาพการบรรยายและสัมมนาต่างๆ
http://www.ikukotsurumaki.com/
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation