1) ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูง
การถ่ายตัวแบบที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงต้องอาศัยความเร็วชัตเตอร์สูง ซึ่งปกติอยู่ที่ 1000 ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดกีฬา
คุณอาจต้องเพิ่มค่า ISO เล็กน้อยเพื่อชดเชยแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ได้อยู่ในสนามกีฬาที่มีไฟส่อง ทั้งนี้ การใช้แฟลชจะไม่ได้รับอนุญาตในการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ
2) ถ่ายภาพในโหมด JPEG
น่าแปลกใจว่าบางครั้ง ความเร็วสำคัญยิ่งกว่าคุณภาพแบบ RAW แม้ว่าคุณภาพจะไม่ดีเท่า แต่โอกาสในการถ่ายภาพในจังหวะเหมาะๆ นั้นสูงกว่ามาก และคุณสามารถบันทึกภาพได้มากขึ้นในการ์ดหน่วยความจำ คุณจะถ่ายภาพจำนวนมากในระหว่างการแข่งขันกีฬา
3) สองดีกว่าหนึ่ง
ถ้าคุณจริงจังกับการถ่ายภาพกีฬา กล้องตัวที่สองเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่เพียงแต่จะมีเลนส์ต่างกันสองตัวที่พร้อมถ่ายได้ทุกช่วงเวลา แต่คุณยังมีกล้องสำรองในกรณีที่กล้องตัวใดตัวหนึ่งเสีย แบตเตอรี่หมด หรือหน่วยความจำเต็มในช่วงเวลาสำคัญ
4) ความรู้คือพลัง – รู้จักกล้อง รู้จักกีฬา
ช่างถ่ายภาพกีฬาที่มีประสิทธิภาพต้องรู้จักกล้องของตัวเอง รวมทั้งรู้จักปุ่มที่สามารถกำหนดได้ล่วงหน้าจนขึ้นใจ คุณจะไม่มีเวลาพอให้วุ่นกับการตั้งค่า เมื่อนักกีฬาเริ่มแสดงผลงานที่ดีที่สุดอย่างกะทันหันในระหว่างการแข่งขัน
ความรู้เกี่ยวกับกีฬาก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การรู้ว่าช่วงเวลาที่สำคัญและน่าตื่นเต้นสามารถเกิดขึ้นเมื่อใดช่วยให้ช่างถ่ายภาพกีฬาคอยสังเกตและเข้าไปอยู่ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม
5) ใช้เทคโนโลยี
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการประมวลผลของกล้องช่วยให้สามารถตั้งค่า ISO สูงๆ โดยมีจุดรบกวนน้อยที่สุด เมื่อใช้เลนส์เทเลโฟโต้ล้ำสมัยที่มีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัวร่วมกับระบบป้องกันการสั่นไหวในกล้องก็สามารถสร้างผลงานภาพถ่ายอันน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีกิจกรรมความเคลื่อนไหวที่รวดเร็วเกิดขึ้นมากมาย
ขอแนะนำให้ใช้กล้องที่สามารถถ่ายภาพได้อย่างน้อย 6 เฟรมต่อวินาทีด้วยเช่นกัน ช่วงเวลาที่คุณจะเก็บภาพนั้นจะเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างแท้จริง ดังนั้น ควรเตรียมพร้อมเสมอ
ภาพถ่ายทั้งหมดโดย Stanley Cheah
Isaiah Tan โปรไฟล์ผู้เขียน ช่างภาพวิดีโอมืออาชีพผู้รักในการถ่ายภาพ Isaiah มีบริษัทวิดีโอโปรดักชั่นและยังเปิดบาร์ขนาดย่อมในสิงคโปร์ ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ด้วย เขาสนุกกับการทดลองเทคนิคการถ่ายภาพที่หลากหลาย และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และค้นหาสิ่งใหม่ๆ รอบตัวอยู่เสมอ |
|
Stanley Cheah โปรไฟล์ช่างภาพ ความหลงใหลในการถ่ายภาพของ Stanley เริ่มต้นจากการชื่นชมภาพทิวทัศน์ที่สวยงามในโปสการ์ด “ผมอยากถ่ายภาพให้ได้แบบนั้น” เขานึกถึงความหลัง ในปี 1992 เขาซื้อ SLR Minolta X7 กล้องแมนนวลแบบเต็มรูปแบบตัวแรกของตัวเองเพื่อเรียนถ่ายภาพ แต่จนกระทั่ง 15 ปีต่อมาเท่านั้นที่เขาเริ่มเอาจริงเอาจังและเข้าเรียนวิชาต่างๆ ที่ Photography Society of Singapore ในปี 2007 ปัจจุบัน Stanley เดินทางไปสถานที่แปลกใหม่น้อยลงเนื่องจากติดภารกิจการทำงาน โดยมุ่งความสนใจไปที่การแข่งขันกีฬาและงานกิจกรรมศิลปะในสิงคโปร์มากกว่า |