ภาพทิวทัศน์ในฤดูร้อนที่สวยงามน่าทึ่ง: จุดชมวิวในญี่ปุ่นและเคล็ดลับของช่างภาพมืออาชีพ (2)
สี่ฤดู สี่สไตล์ในญี่ปุ่นให้ประสบการณ์ถ่ายภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจตลอดทั้งปีสำหรับบรรดาช่างภาพ ในตอนที่ 2 เราจะแนะนำลักษณะภูมิประเทศในธรรมชาติสองแบบที่สวยงามเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน พร้อมทั้งเผยเคล็ดลับการถ่ายภาพจากช่างภาพมืออาชีพเกี่ยวกับการถ่ายทอดฉากเหล่านี้ในสภาพแสงที่เหมาะที่สุด (เรื่องโดย: Michiko Kaneko, Fumio Tomita)
1: บ่อน้ำสีฟ้า (ฮอกไกโด)
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (f/18, 1/10 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Michiko Kaneko
สถานที่: ชิโรงาเนะ เมืองบิเอะ เขตคะมิคะวะ จังหวัดฮอกไกโด/ ช่วงที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพ: ต้นเดือนกรกฎาคม/ เวลาถ่ายภาพ: 15.30 น.
บ่อสีเขียวมรกตที่สวยงามแบบธรรมชาติ 100%
ตอนที่ผมเดินทางมาถึงบ่อน้ำสีฟ้า ทิวเขาในแบ็คกราวด์ยังมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากถูกปกคลุมไปด้วยเมฆ อย่างไรก็ดี ผมต้องการให้ทิวเขาอยู่ด้านหลังของต้นไม้เพื่อสร้างจุดเด่น จึงรออยู่ราวสองชั่วโมงเพื่อให้เมฆเปิดออกก่อนที่จะถ่ายภาพต่อไป ผมตัดสินใจให้บ่อน้ำสีเขียวมรกตเป็นตัวแบบหลัก และสร้างความเปรียบต่างระหว่างบ่อน้ำกับต้นไม้และท้องฟ้า และเพื่อถ่ายทอดความกว้างใหญ่ไพศาลโดยรวมของภาพ จึงตัดสินใจใช้ทางยาวโฟกัสที่ 35 มม. และถ่ายภาพในแนวนอน จากนั้น ผมลดค่ารูรับแสงเป็น f/18 เพื่อถ่ายทอดต้นไม้และภูเขาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น "แสงแดด" เพื่อถ่ายทอดสีเขียวมรกตที่ชวนลึกลับราวกับเป็นโลกอีกใบหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่เบื้องหน้า
ภาพเสีย: การใช้การถ่ายภาพในแนวตั้งทำให้องค์ประกอบภาพดูกว้างน้อยลง
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 40 มม./ Aperture-priority AE (f/18, 1/10 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
การถ่ายภาพในแนวตั้งทำให้องค์ประกอบภาพแคบลง และตัวแบบดูไม่น่าประทับใจนัก นอกจากนี้ ยังเห็นได้ไม่ชัดเจนว่าบ่อน้ำคือตัวแบบหลักที่เป็นเป้าหมาย
2: ชายฝั่งอิมะโงระ คะซุมิ (จังหวัดเฮียวโงะ)
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/22, 1.3 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Fumio Tomita
สถานที่: คะมิโช เขตมิกะตะ จังหวัดเฮียวโงะ/ ช่วงที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพ: ปลายเดือนกรกฎาคม/ เวลาถ่ายภาพ: 19:00 น.
การก่อตัวของหินที่แปลกตาน่าประทับใจซึ่งย้อมเป็นสีแดงในยามพระอาทิตย์ตกดิน
หน้าผาหินที่ยื่นออกไปเหนือทะเลญี่ปุ่นนี้รับแสงอาทิตย์ยามอัสดงอย่างเต็มที่ และปกคลุมไปด้วยแสงสีแดงสวยแจ่ม คลื่นลมระหว่างผาหินเซนโจจิกิค่อนข้างสงบ ผมจึงใช้ทางยาวโฟกัส 24 มม. และหามุมที่ขับเน้นเงาสะท้อนให้โดดเด่น นอกจากนี้ ผมจัดตำแหน่งหินที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ไว้ในเฟรมภาพให้มากที่สุดเพื่อเน้นถึงขนาดอันกว้างใหญ่อีกด้วย
เทคนิค: ถ่ายภาพผาหินในส่วนโฟร์กราวด์ของเฟรมภาพเพื่อสื่อถึงขนาดอันกว้างใหญ่
ภาพด้านล่างถ่ายในขณะที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในเวลาใกล้เคียงกันกับภาพถ่ายด้านบน แต่เนื่องจากภาพนี้ถ่ายก่อนจึงไม่มีโทนสีแดงมากนัก แต่มีสีเหลืองเป็นสีหลักแทน แม้จะเป็นเช่นนั้น ภาพยังสามารถสื่อถึงแนวคิดของพระอาทิตย์ตกดินได้เป็นอย่างดี ผมถ่ายภาพจากตำแหน่งที่ผาหินเซนโจจิกิไม่ได้อยู่ในส่วนโฟร์กราวด์ของเฟรมภาพ และจัดองค์ประกอบภาพอย่างมีสมมาตรโดยใช้วัตถุจริงและภาพสะท้อนของวัตถุ การจัดเฟรมภาพดังกล่าวช่วยเชื่อมโยงภาพสะท้อนกับวัตถุจริง จึงสามารถถ่ายทอดความสูงของผาหินได้เช่นกัน
หากต้องการทราบเคล็ดลับและไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพสะท้อนบนผิวน้ำแบบสมมาตร โปรดดูที่:
พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ! "การจัดองค์ประกอบภาพแบบกึ่งกลาง" และ "การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร"
เคล็ดลับในการถ่ายภาพสะท้อนบนผิวน้ำ: เพลิดเพลินกับแอ่งน้ำ!
การถ่ายภาพต้นซากุระในญี่ปุ่น: จุดชมวิวและเคล็ดลับของช่างภาพมืออาชีพ (3)
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/22, 1/8 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Fumio Tomita
1: บ่อน้ำสีฟ้า (ฮอกไกโด)
2: ชายฝั่งอิมะโงระ คะซุมิ (จังหวัดเฮียวโงะ)
ภูมิภาคที่แสดงเป็นสีน้ำเงินได้กล่าวถึงไว้ในบทความด้านล่าง:
ภาพทิวทัศน์ในฤดูร้อนที่สวยงามน่าทึ่ง: จุดชมวิวในญี่ปุ่นและเคล็ดลับของช่างภาพมืออาชีพ (1)
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่กรุงโตเกียว หลังจบการศึกษาจาก Tokyo College of Photography เขาได้เรียนถ่ายภาพจากช่างภาพภูเขา ก่อนจะผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ เขาเชี่ยวชาญการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่น
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมือง Sendai จังหวัด Miyagi เธอเริ่มสนใจการถ่ายภาพหลังจากบังเอิญได้เห็นภาพถ่ายที่ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจใน Okunikko ในปี 1987 เธอศึกษาการถ่ายภาพจาก Shotaro Akiyama ช่างภาพผู้มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะเปิดสตูดิโอของตัวเองและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ด้วยความหลงใหลในสีสันอันงดงามของธรรมชาติ เธอจึงเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นด้วยรถยนต์ของเธอ เพื่อเก็บภาพทิวทัศน์แสนสงบในฤดูต่างๆ รวมทั้งภาพที่มีทั้งรถไฟและทิวทัศน์ด้วย เธอเป็นสมาชิกของ Japan Professional Photographers Society (JPS) และ Japan Society for Arts and History of Photography (JSAHP)