เลนส์ L ใหม่ที่มีทางยาวโฟกัส 16 - 35 มม. และรูรับแสงกว้างสุด f/4 เข้ามาเป็นหนึ่งในกลุ่มเลนส์ EF และยังเป็นเลนส์มุมกว้างตัวแรกสำหรับกล้องฟูลเฟรมที่มีคุณสมบัติ IS คุณจึงบอกได้จากสเปคกล้องว่าเลนส์นี้ทรงพลังแค่ไหน บทความต่อไปนี้เป็นรายงานจากประสบการณ์ของผมในการใช้เลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM ระหว่างทริปถ่ายภาพทิวทัศน์ครั้งล่าสุด (เรื่องโดย: Shirou Hagihara)
หน้า: 1 2
เลนส์ซูม IS มุมกว้างสำหรับกล้องฟูลเฟรมตัวแรก
ในกลุ่มเลนส์ซูมมุมกว้างสำหรับกล้องฟูลเฟรมของ Canon มีเลนส์อยู่ด้วยกัน 2 รุ่น รุ่นหนึ่งคือเลนส์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ ซึ่งมีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 และอีกรุ่นที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 รุ่น f/4 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบา และราคาสมเหตุสมผลกว่ารุ่นขนาด f/2.8 จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับช่างภาพทิวทัศน์อย่างผม ที่จริงแล้ว ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้เลนส์ EF17-40mm f/4L USM ซึ่งมีมาก่อน
แต่ตอนนี้ เลนส์แบบ f/4 ใหม่ รุ่น EF16-35mm f/4L IS USM ได้เข้ามาร่วมในครอบครัวเลนส์กลุ่มนี้แล้ว เลนส์นี้มีทางยาวโฟกัสเท่ากันกับแบบ f/2.8 (EF16-35mm f/2.8L II USM) ซึ่งมีช่วงทางยาวตั้งแต่ 16 มม. ที่ระยะมุมกว้าง จนถึง 35 มม. ที่ระยะเทเลโฟโต้ มีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในฝั่งมุมกว้างหากดูเทียบกับเลนส์ EF17-40mm f/4L USM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์นั้น ยิ่งมุมกว้างก็ยิ่งได้เปรียบ บางคนอาจคิดว่า 1 มม. ไม่สลักสำคัญอะไร แต่แท้จริงแล้ว ระยะเพียงเสี้ยวนี้สร้างความแตกต่างอย่างมาก สำหรับผม มุมรับภาพที่กว้างขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงที่น่าอ้าแขนรับเป็นที่สุด
และอีกคุณสมบัติพิเศษของเลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM คือ การเป็นเลนส์ซูมมุมกว้างสำหรับกล้องฟูลเฟรมตัวแรกที่มีระบบ Image Stabilizer (IS) ในตัว แม้ว่าการถ่ายภาพมุมกว้างไม่ต้องการการแก้ไขด้วยระบบ IS มากเท่าการถ่ายภาพเทเลโฟโต้ แต่ยืนยันได้เลยว่า คุณสมบัตินี้จะเป็นประโยชน์เมื่อคุณถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย เช่น ในป่า ก่อนดวงอาทิตย์ตก หรือหลังดวงอาทิตย์ขึ้น
EF16-35mm f/4L IS USM
โครงสร้างเลนส์: 16 ชิ้นเลนส์ใน 12 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด: ประมาณ 0.28 เมตร
กำลังขยายสูงสุด: ประมาณ 0.23 เท่า
ขนาดฟิลเตอร์: φ77 มม.
ขนาด: ประมาณ φ82.6×112.8 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 615 กรัม
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับเลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM
เลนส์นี้ใช้การออกแบบออพติคอลที่รวมเอาชิ้นเลนส์ UD สองชิ้นและชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมสามชิ้นไว้ด้วยกัน โดยมีชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมหล่อแก้วสองด้านเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่เป็นชิ้นแรก ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดความบิดเบี้ยวและความคลาดเคลื่อนต่างๆ ของภาพ พื้นผิวของชิ้นเลนส์แรกสุดและท้ายสุดมีการเคลือบฟลูออไรต์หนึ่งชั้นเพื่อให้ขจัดฝุ่นผงออกได้ง่าย ทุกความพยายามเหล่านี้ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพภาพถ่ายระดับสูง เลนส์รุ่นนี้ได้ทำให้ความคาดหวังของช่างภาพที่มีต่อการถ่ายภาพทิวทัศน์สูงขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของสถานที่และแสง ในบทความนี้ ผมถ่ายภาพโดยใช้เลนส์รุ่นนี้เอง
แม้ว่าเลนส์ที่ผมเคยใช้ถ่ายภาพเป็นรุ่นทดลอง ถึงอย่างนั้นศักยภาพก็ยังเกินความคาดหมายของผม ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายวัตถุที่มีรายละเอียดประณีตหรือจะมีดวงอาทิตย์อยู่ในภาพ ผลที่ออกมาล้วนแต่น่าพอใจทั้งสิ้น ฟิลเตอร์ขนาด φ77 มม. ทำให้การจับคู่กับเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์อื่นทำได้ง่าย หากความสว่างและเอฟเฟ็กต์โบเก้ของรูรับแสงขนาด f/2.8 ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการโดยเฉพาะ ผมรู้สึกว่าเลนส์นี้มีข้อได้เปรียบที่ดีกว่าสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์
เลนส์ซูม IS มุมกว้างตัวแรกสำหรับกล้องฟูลเฟรม
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (1/8 วินาที, f/11, ±0EV)/ ISO 800/ WB: แสงแดด
ดอกแอรัมสีขาว (White arum) ที่เริ่มผลิดอกในพื้นดินชุ่มชื้น สภาพการถ่ายไม่อำนวย เนื่องจากไม่สามารถติดตั้งขาตั้งกล้องให้มั่นคงได้ และเราเริ่มต้นถ่ายในช่วงเย็น แต่ฟังก์ชั่น IS ที่ทรงพลังนี้ทำให้ผมถ่ายภาพได้โดยไม่เบลอแม้จะถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้าถึง 1/8 วินาที
การออกแบบใหม่สำหรับคุณภาพภาพถ่ายที่ยกระดับสูงขึ้น
เลนส์นี้ออกแบบโดยมีชิ้นเลนส์ 16 เลนส์ใน 12 กลุ่มซึ่งมากมายเกินพอ เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมหล่อแก้วสองด้านถูกนำมาใช้ในกลุ่มเลนส์แรก ซึ่งเลนส์ชิ้นแรกมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่สำหรับการแก้ไขความบิดเบี้ยวที่ฝั่งมุมกว้างอย่างได้ผลดียิ่ง นอกจากนี้ ยังมีชิ้นเลนส์ UD สองชิ้นอยู่ในกลุ่มเลนส์กลุ่มที่ 4 เพื่อแก้ไขความคลาดสีจากการขยายภาพ ซึ่งทำให้คงคุณภาพภาพถ่ายให้สูงทั่วทั้งภาพ ไม่เพียงเท่านั้น ชื้นเลนส์แรกสุดและท้ายสุดยังมีการเคลือบฟลูออไรต์เพื่อป้องกันฝุ่นและสิ่งสกปรกไม่ให้เกาะติดผิวเลนส์ นี่เป็นคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการเพื่อให้สามารถถ่ายภาพด้วยเลนส์ที่คงความสะอาดอยู่เสมอ
โครงสร้างเลนส์
สีน้ำเงิน: เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
สีม่วง: เลนส์ UD
สีแดง: ชุดทำงานระบบ IS
เส้นกราฟ MTF
16 มม.
ระยะห่างจากกึ่งกลางภาพ (มม.)
35 มม.
ระยะห่างจากกึ่งกลางภาพ (มม.)
S: แนวเส้น Saggittal
M: แนวเส้น Meridional
การเคลื่อนไหวที่รวดเร็วและแม่นยำของ Ring USM
เลนส์นี้ติดตั้ง Ring USM ที่ช่วยให้สามารถโฟกัสด้วยความเร็วสูง ซึ่งทำงานควบคู่กับคุณสมบัติ IS เพื่อให้การถ่ายภาพแบบถือด้วยมือทำได้ง่ายขึ้น ยิ่งกว่านั้น ความถูกต้องในการโฟกัสก็ยังยอดเยี่ยมอย่างที่ไม่มีภาพใดเลยที่ถ่ายโดยใช้โฟกัสอัตโนมัติจะหลุดโฟกัส ด้วยเลนส์นี้ คุณจะสามารถถ่ายภาพมาโครมุมกว้างที่น่าพึงพอใจได้เช่นกัน
เบากว่าเลนส์ f/2.8 ที่มีอยู่ 25 กรัม
เรามาดูขนาดภายนอกและน้ำหนักด้วยกันผ่านการเปรียบเทียบเลนส์ซูมมุมกว้างสำหรับกล้องฟูลเฟรมของ Canon ทั้ง 3 รุ่นในแต่ละด้าน เลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM (ซ้ายสุด) ซึ่งเป็นเลนส์รุ่นใหม่ในกลุ่มนี้ ดูจะหนากว่าแบบ f/2.8 แต่กลับเบากว่า 25 กรัม เลนส์ทั้งหมดนี้ใช้ระบบการโฟกัสภายใน ดังนั้น ความยาวของกระบอกเลนส์จึงไม่เปลี่ยนขณะซูม
เอฟเฟ็กต์โบเก้และการถ่ายทอดที่คมชัดด้วยรูรับแสงขนาด f/4
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 35 มม./ Aperture-priority AE (1/30 วินาที f/4, +2EV)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
เราพบเฟิร์นขึ้นบนหินข้างลำธาร ผมจึงถ่ายภาพให้เห็นถึงความสว่างสดใสของป่าที่อยู่เบื้องหลังโดยการหมอบราบลงกับพื้น เพื่อถ่ายทอดบรรยากาศของป่าให้สว่างขึ้น ผมใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่สร้างความน่าสนใจให้กับภาพถ่าย ขณะเดียวกัน ความคมชัดของส่วนที่โฟกัสก็ทำได้อย่างน่าประทับใจ
ภาพมาโครมุมกว้างจากระยะใกล้ประมาณ 28 ซม.
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (1/1,600 วินาที, f/4.5, ±0EV)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ต้นอ่อนของต้นบัตเทอร์เบอร์ (Butterbur) ที่กำลังแย้มบาน เพื่อรักษาสัดส่วนภาพเอาไว้ ผมปรับเลนส์ไปที่ฝั่งมุมกว้างและเลื่อนไปยังระยะโฟกัสใกล้สุดเพื่อสร้างภาพถ่ายที่เข้ากับเอฟเฟ็กต์โคลสอัพเป็นอย่างดีที่ประมาณ 28 ซม. และมุมรับภาพกว้างที่ทางยาวโฟกัส 16 มม.
* บทความนี้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงจากผลิตภัณฑ์รุ่นทดลอง ข้อมูลบางอย่างเช่นลักษณะของผลิตภัณฑ์และคุณภาพของภาพอาจแตกต่างจากผลิตภัณฑ์จริงบ้างเล็กน้อย
Shirou Hagihara
เกิดในปี 1959 ที่เมืองยามานาชิ หลังจากจบการศึกษาจาก Nihon University Hagihara มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นนิตยสารถ่ายภาพ “fukei shashin” ที่เขาทำงานเป็นบรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์ ต่อมาเขาลาออกและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ปัจจุบัน Hagihara ทำงานอยู่ในวงการถ่ายภาพและเขียนผลงานที่เน้นการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ เขาเป็นสมาชิกของ Society of Scientific Photography (SSP)