คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #5: ภาพถ่ายแบบ RAW จะคงคุณภาพไว้เช่นเดิมหลังจากรีทัชหรือไม่
การรีทัชภาพ หมายถึง การปรับแต่งรูปภาพภายหลังจากที่ถ่ายภาพเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อถ่ายภาพในรูปแบบ JPEG การรีทัชอาจทำให้คุณภาพของภาพลดต่ำลงได้ แต่หากเป็นภาพในรูปแบบ RAW จะทำให้เกิดผลลัพธ์แบบเดียวกันหรือไม่ ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ผมอธิบายไว้ในบทความนี้กัน (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการปรับค่าความสว่าง
ภาพก่อนกระบวนการปรับแต่งภาพ RAW
ภาพหลังกระบวนการปรับแต่งภาพ RAW
กระบวนการปรับแต่งภาพ RAW ทำงานผ่านโปรแกรมซอฟต์แวร์ Digital Photo Professional ของ Canon โดยการตั้งค่าความสว่างที่ EV-0.17 และเปลี่ยนรูปแบบของภาพจาก อัตโนมัติ เป็น ภาพวิว อย่างไรก็ดี ควรใช้ความระวังเป็นพิเศษในการปรับค่าความสว่าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ภาพเกิดความเสียหาย
RAW คือรูปแบบภาพที่สะดวกต่อการนำไปผ่านกระบวนการปรับแต่งภาพเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่าได้หลายส่วนหลังการถ่ายภาพ ในขณะที่ข้อมูลในรูปแบบ JPEG นั้นมีข้อจำกัดในเรื่องการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าอยู่มาก ดังนั้น หากคุณคำนึงถึงเรื่องความบกพร่องของภาพที่อาจเกิดขึ้น คุณไม่ควรนำข้อมูล JPEG มาผ่านกระบวนการปรับแต่งภาพ
อย่างไรก็ตาม การใช้กระบวนการปรับแต่งภาพ RAW มากจนเกินไปก็อาจทำให้คุณภาพของภาพด้อยลงได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราไม่ควรมองข้ามผลลัพธ์ที่เกิดจากการปรับค่าความสว่างด้วยการใช้การชดเชยแสงและ Tone Curve
โดยหลักแล้ว กล้อง DSLR ช่วยให้ปริมาณแสงเข้าสู่เซนเซอร์ภาพอย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาพมีความสว่างและการไล่ระดับสีในระดับที่พอเหมาะตามที่ต้องการ ดังนั้น หากนำภาพที่มืดจนเกินไปไปผ่านการรีทัชตามที่ได้อธิบายข้างต้นแล้ว ข้อมูลของภาพอาจเสียหายได้ แม้ว่าจะคืนความสว่างให้กับภาพถ่ายได้ แต่ภาพที่ออกมาจะมีจุดสีไม่สวยเรียบเนียน นั่นเป็นเพราะข้อมูลภาพต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่มืดไม่ได้รับการบันทึกอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นการบันทึกเสียง หากมีการบันทึกเสียงต้นฉบับในระดับเสียงที่เบาจนเกินไป แม้ว่าุคุณจะเพิ่มระดับเสียงที่ใช้ในการเล่นมากเท่าใด คุณภาพเสียงที่ได้ก็ยังไม่ดีนัก ซึ่งคล้ายกับปรากฏการณ์ของเสียงที่เราไม่สามารถได้ยินอย่างชัดเจนหากไม่ได้บันทึกเสียงที่ระดับความดันเสียงที่เหมาะสม เนื่องจากระหว่างการบันทึกเสียงจะมีเสียงรบกวนแทรกเข้ามาด้วย ภาพถ่ายดิจิตอลก็เช่นกัน สิ่งสำคัญคือต้องตั้งค่าการเปิดรับแสงให้เหมาะสมกับช่วงความสามารถในการเก็บรายละเอียดของแสง (ช่วงไดนามิกเรนจ์)
ความแตกต่างระหว่างรูปแบบ RAW และรูปแบบ JPEG
การถ่ายภาพโดยใช้รูปแบบ RAW และรูปแบบ JPEG มีทั้งข้อดีและข้อเสีย รูปแบบ RAW เหมาะกับฉากที่ต้องใช้เวลาเตรียมการและการถ่ายภาพอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในขณะที่รูปแบบ JPEG จะนิยมใช้สำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง แต่แทนที่เราจะเลือกใช้ภาพรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทางที่ดีควรเลือกใช้ทั้งสองรูปแบบผสมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฉากและตัวแบบในการถ่ายภาพ
นอกจากนี้ อัลกอริธึมในการประมวลผลภาพของข้อมูลทั้งสองรูปแบบยังมีความแตกต่างกัน จึงควรระวังว่าภาพ JPEG ที่สร้างขึ้นจากรูปแบบ RAW นั้นจะไม่เหมือนกับภาพ JPEG ที่ถ่ายจากกล้องโดยตรงเสียทีเดียว
ประเภทของข้อมูล: RAW
ข้อดี
- ความจุข้อมูล เช่น สีและการไล่สีมีปริมาณมาก
- แม้แต่ไฟล์เก่ายังสามารถนำมาผ่านกระบวนการปรับแต่งภาพโดยใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ใหม่ล่าสุดได้
- ให้คุณได้ภาพที่ตกแต่งอย่างสวยงามตามต้องการ
ข้อเสีย
- จำเป็นต้องใช้กระบวนการปรับแต่งภาพ
- จำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะในการปรับแต่งภาพ
- ไฟล์ที่บันทึกมีขนาดใหญ่
- จำนวนภาพที่ถ่ายได้สูงสุดลดลง
ประเภทของข้อมูล: JPEG
ข้อดี
- มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย และสามารถเปิดดูได้จากทุกสภาพแวดล้อมการใช้งาน
- ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการปรับแต่งภาพ
- ไฟล์ที่บันทึกมีขนาดเล็ก
- สามารถถ่ายภาพได้จำนวนมาก
ข้อเสีย
- ความจุข้อมูลสีและการไล่สีมีปริมาณน้อย
- คุณภาพของภาพลดลงหลังจากผ่านกระบวนการปรับแต่งภาพ เช่น เมื่อนำภาพไปผ่านการรีทัช
- การอำพรางข้อผิดพลาดต่างๆ ในภาพถ่ายทำได้ยาก
Ryosuke Takahashi
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation