เลนส์ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM ขับเคลื่อนด้วย Nano USM ใหม่ล่าสุด จึงอาจถือได้ว่าอยู่ในกลุ่มเลนส์ซูมพิเศษรุ่นใหม่ แต่เลนส์นี้พัฒนาไปอย่างไรบ้างในแง่ของความสะดวกในการใช้งานในสถานการณ์จริง มาร่วมติดตามการรีวิวเลนส์ที่ใช้กับกล้อง EOS 80D ยอดนิยมนี้กัน (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
ข้อดีหลัก
- ระบบโฟกัสอัตโนมัติความเร็วสูงและการโฟกัสที่ราบรื่น AF ขับเคลื่อนด้วย Nano USM
- ช่วยสื่ออารมณ์ของภาพได้หลากหลาย ใช้งานร่วมกับ Power Zoom Adapter PZ-E1 ของ Canon ได้
ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้ด้วยเลนส์เพียงตัวเดียว
EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM เป็นเลนส์ซูมพิเศษรุ่นใหม่ที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ในบรรดาเทคโนโลยีทั้งหมด เทคโนโลยีที่สำคัญคือ USM (มอเตอร์อัลตร้าโซนิค) รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับ Nano USM ใหม่ซึ่งให้พลังการเคลื่อนที่ที่ต่างออกไปเมื่อเปรียบเทียบกับ Ring และ Micro USM
Nano USM แตกต่างจาก USM รุ่นอื่นๆ เนื่องจากชิ้นเซรามิกเพียโซอิเล็กทริกของ Nano USM จะไม่ใช้แรงสั่นสะเทือนอัลตร้าโซนิคเพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนที่ในลักษณะหมุน แต่จะแปลงแรงสั่นสะเทือนเหล่านี้ให้เป็นการเคลื่อนไหวแบบเลื่อนในแนวตรง เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนชิ้นเลนส์ออพติคอลที่เชื่อมต่อกับแถบเลื่อนโดยตรง ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากลักษณะเฉพาะดังกล่าว จึงทำให้ ความเร็วสูงสุดในการโฟกัสอัตโนมัติที่ทางฝั่งเทเลโฟโต้พัฒนาขึ้นถึง 4.3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS STM นอกจากนี้ยังทำให้การโฟกัสราบรื่นและการขับเคลื่อนเงียบเชียบ อันเป็นข้อกำหนดที่ขาดไม่ได้เลยในการถ่ายภาพวิดีโอ
วิดีโอที่แสดงโครงสร้างของ Nano USM
มุมมองด้านในของท่อเลนส์ คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Nano USM
องค์ประกอบเลนส์ของชิ้นเลนส์ออพติคอลยังดำเนินรอยตามองค์ประกอบเลนส์ของ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS STM ที่ได้รับคำชื่นชม เนื่องจากครอบคลุมมุมรับภาพที่ใกล้เคียงกับมุมรับภาพที่เทียบเท่ากับทางยาวโฟกัสในช่วง 29 - 216 มม. และตอบสนองความต้องการในด้านประสิทธิภาพของเลนส์ซูมพิเศษในระดับสูงตามที่ต้องการ เมื่อถ่ายภาพนิ่ง ระบบ IS (ระบบป้องกันภาพสั่นไหว) ช่วยแก้ไขการสั่นไหวเท่ากับความเร็วชัตเตอร์ 4 สต็อป ขณะที่ระบบ Dynamic IS จะช่วยปรับแก้การสั่นไหวในระหว่างการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้ถ่ายภาพได้นิ่งโดยชดเชยการเกิดกล้องสั่นมาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์
การต่อ Power Zoom Adapter PZ-E1 ไว้ที่ด้านล่างของเลนส์ไม่เพียงทำให้การซูมโดยใช้การขับเคลื่อนไฟฟ้าทำได้อย่างราบรื่นเท่านั้น แต่ยังสามารถควบคุมการทำงานจากระยะไกลผ่านทาง Wi-Fi ได้อีกด้วย ด้วยประสิทธิภาพการทำงานในระดับสูงและความยืดหยุ่นในการใช้งาน เลนส์ูซูมพิเศษใหม่นี้จึงช่วยให้คุณสามารถสื่อความเป็นตัวคุณในรูปแบบใหม่ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดผ่านการถ่ายภาพนิ่งหรือการถ่ายภาพวิดีโอ
18 มม.
EOS 80D/ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM/ FL: 18 มม. (เทียบเท่ากับ 29 มม.)/ Aperture-Priority AE (f/8, 2.5 วินาที, EV-0.3)/ISO 100/ WB: แสงแดด
เมื่อใช้ Power Zoom Adapter PZ-E1 และความเร็วชัตเตอร์ต่ำที่ 2.5 วินาที ผมสามารถซูมแบบเปิดรับแสงไปที่แสงเหล่านี้ซึ่งจำลองแบบของต้นไม้ได้ อีกทั้งผมยังถ่ายภาพลายเส้นต่างๆ ออกมาได้อย่างน่าทึ่งโดยไม่ทำให้เส้นแสงเป็นคลื่น ขณะที่ผมซูมด้วยเลนส์โดยใช้ความเร็วที่สม่ำเสมอ (ภาพโดย: Ryosuke Takahashi)
135 มม.
EOS 80D/ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM/ FL: 135 มม. (เทียบเท่ากับ 216 มม.)/ Aperture-Priority AE (f/5.6, 1/320 วินาที, EV±0)/ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้างสุดจะเกิดภาพโบเก้ในระดับที่เหมาะสมขึ้นในแบ็คกราวด์ ทำให้สามารถถ่ายทอดฉากต่างๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น แม้ว่าโบเก้ที่ได้จะไม่เหมือนกับโบเก้ของเลนส์ระดับ f/2.8 แต่อาจมากเพียงพอที่จะสื่อถึงความรู้สึกของบรรยากาศรอบๆ ตัวได้ (ภาพโดย: Ryosuke Takahashi)
ลองดูภาพต่อไปนี้กัน
เลนส์ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM ช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพตัวแบบเดียวกันจากมุมรับภาพที่หลากหลาย
18 มม.
35 มม.
50 มม.
85 มม.
135 มม.
ดังที่คุณเห็นจากภาพเหล่านี้ มุมรับภาพเปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อซูมเลนส์ตั้งแต่ 18 มม. ถึง 135 มม. มุมรับภาพแนวทแยงเปลี่ยนจาก 74°20' เป็น 11°30' อีกทั้ง ความแตกต่างของช่วงเทเลโฟโต้ยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อคุณพิจารณาว่าระยะสุดฝั่งเทเลโฟโต้ของเลนส์ซูมมาตรฐานสำหรับเซนเซอร์ขนาด APS-C ควรอยู่ที่ประมาณ 55 มม.
EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS USM
(เทียบเท่า 29 - 216 มม. เมื่อใช้กับกล้อง EOS 80D)
โครงสร้างของเลนส์: 12 กลุ่ม 16 ชิ้นเลนส์
ระยะการถ่ายภาพใกล้สุด: 0.39 ม.
ถ่ายภาพได้สูงสุด: 0.28 เท่า
อัตราส่วนฟิลเตอร์: φ67 มม.
เส้นผ่านศูนย์กลาง x ความยาวสูงสุด: ประมาณ φ77.4×96 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 515 กรัม
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนภาพโครงสร้างเลนส์
A: ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
B: ชิ้นเลนส์ UD
C: ระบบป้องกันภาพสั่นไหว
เลนส์ฮูด: EW-73D (ขายแยกต่างหาก)
Power Zoom Adapter PZ-E1
Ryosuke Takahashi
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation