ภาพที่ชวนระลึกถึงบรรยากาศยามเย็น – ถ่ายทอดบรรยากาศยามเย็นด้วยแสงและเงา
เมื่อพูดถึงคำว่า "ยามเย็น" ภาพของเงาที่ทอดยาวจากดวงอาทิตย์สีส้มกำลังลับขอบฟ้าในช่วงปลายฤดูร้อนก็เข้ามาในความคิด คุณสามารถถ่ายภาพยามเย็นที่งดงามน่าทึ่งได้ หากมีตัวแบบเหมาะๆ และใช้แสงเป็น (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara)
หน้า: 1 2
เคล็บลับการถ่ายภาพดวงอาทิตย์สีทอง
อุณหภูมิร้อนๆ ในช่วงซัมเมอร์มักตามมาด้วยท้องฟ้าที่บ่อยครั้งมีหมอกมากเกินกว่าจะมีโอกาสได้ชื่นชมดวงอาทิตย์สาดแสงสีทองอำพัน ถึงอย่างนั้น คุณยังสามารถขับเน้นภาพดวงอาทิตย์สีทองได้ด้วยการปรับตั้งค่ากล้อง เช่น การสร้างฟิลเตอร์สีส้มขณะถ่ายภาพ
ภาพนี้ถ่ายในโหมด Aperture-Priority AE ที่ ISO 100 ค่ารูรับแสง f/8 และสมดุลแสงขาว (WB) ตั้งค่าไว้ที่ “แสงในร่ม” สีส้มคือจุดสำคัญในการสร้างภาพของดวงอาทิตย์ตกให้ดูงดงามมีพลัง สีส้มแบบนี้เกิดขึ้นจากการตั้งค่าสมดุลแสงขาวไปที่ “แสงในร่ม” แม้ว่าบรรยากาศจริงของภาพด้านล่างนี้ไม่เป็นสีส้ม แต่อารมณ์ภาพเปลี่ยนไปได้ด้วยการปรับตั้งค่าสมดุลแสงขาว นอกจากนี้ โดยปกติแล้วแสงย้อนที่แรงมักจะต้องชดเชยแสงเพิ่ม แต่ในภาพนี้ เราต้องการเน้นแนวตึกสูงที่เรียงราย โดยตั้งค่าการเปิดรับแสงเป็น -0.3EV เพื่อสร้างความโดดเด่นให้เอฟเฟ็กต์ซิลูเอตต์ เพื่อให้เห็นความเป็นซิลูเอตต์ได้เด่นชัด ให้เปลี่ยนรูปแบบภาพเป็น “ทิวทัศน์” ซึ่งเป็นโหมดที่ให้ความอิ่มสีสูง และเพิ่มความเปรียบต่าง ด้วยรูปแบบภาพทิวทัศน์ คุณจะสามารถถ่ายภาพแสงอาทิตย์สีทองในเมืองที่เต็มด้วยหมอกควันให้โดดเด่นได้ เทคนิคนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการถ่ายภาพบริเวณที่ใกล้น้ำ
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture priority AE (1/800 วินาที,f/8, −0.3EV)/ ISO 100/ WB: แสงในร่ม
ภาพถ่ายบรรยากาศดวงอาทิตย์สีทองก่อนลับขอบฟ้าในเมือง กลุ่มอาคารสูงที่เรียงรายติดกันโดยมีตึกซึ่งเป็นแลนด์มาร์กอยู่ตรงกลางถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบซิลูเอตต์ที่จัดวางองค์ประกอบไว้อย่างดี
จุดสำคัญ
เลือก “ทิวทัศน์” เป็นรูปแบบภาพเพื่อทำให้แสงสีส้มมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
เลือกรูปแบบภาพ “ทิวทัศน์” การแยกสีจะสร้างความแตกต่างและสีส้มจะดูสดใสมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น เพิ่มความเปรียบต่างในการตั้งค่ารายละเอียดเพื่อสร้างภาพที่โดดเด่นยิ่งกว่า
รูปแบบภาพมาตรฐานและแสงแดดทำให้อารมณ์ภาพดวงอาทิตย์ตกดูจืดชืดไม่มีพลัง
มาตรฐาน, แสงแดด
ถ้าคุณตั้งค่ารูปแบบภาพเป็น “มาตรฐาน” และสมดุลแสงขาวเป็น “แสงแดด” คุณจะพบว่าอารมณ์ภาพที่ปรากฏแตกต่างไปอย่างมาก รูปแบบภาพสองรูปแบบนี้ จะทำให้ภาพถ่ายดูแตกต่างไปจากภาพถ่ายบรรยากาศยามเย็นทั่วๆ ไป
ภาพดวงอาทิตย์ตกจะไม่โดดเด่น หากไม่มีการชดเชยแสง
ไม่มีการชดเชยแสง
เมื่อไม่ทำการชดเชยแสง จะมองเห็นรายละเอียดของตึกชัดขึ้น ทำให้ภาพไร้ชีวิต และแสงสีส้มของดวงอาทิตย์ยามเย็นจะไม่ถูกขับเน้นออกมา
ถ่ายทอดความมืดที่กำลังเข้ามาแทนที่
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 55 มม./ Aperture-Priority AE (1/1,000 วินาที, f/8, −0.7EV)/ ISO 250/ WB: แสงในร่ม
ผมปรับความเปรียบต่างให้สูงขึ้นเล็กน้อยระหว่างมองหาตำแหน่งที่เห็นเงาจากเสาสะพานทอดเพื่อที่จะเพิ่มความโดดเด่นให้กับเสา
จุดสำคัญ
ดูตำแหน่งของคุณกับตัวแบบให้แน่ใจว่าเงาของคุณจะไม่ปรากฏในภาพ
เมื่อถ่ายภาพตัวแบบที่มีแสงเงาทอดยาว จงใส่ใจเลือกมุมถ่ายภาพอย่างรอบคอบเพื่อที่เงาของคุณเองจะไม่ติดเข้าไปในภาพด้วย ตรวจสอบตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ตัวแบบ และจุดถ่ายภาพ
เพิ่มความเปรียบต่างเพื่อขับเงาให้เข้มขึ้น
ถ้าเงาจางกว่าที่ตั้งใจ ให้เพิ่มความเปรียบต่างในการตั้งค่ารายละเอียดรูปแบบภาพ
หาแสงสะท้อนจากแหล่งแสงมุมเฉียง
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL:23 มม./ Aperture priority AE (1/200 วินาที, f/22, −2EV)/ ISO 160/ WB: แสงในร่ม
ภาพวิวของโลกลึกลับที่ส่วนบนและส่วนล่างมีลักษณะเป็นสมมาตรเกิดขึ้นจากการเข้าไปใกล้ผิวน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ วันที่ฟ้าโปร่งเหมาะสำหรับการถ่ายรัศมีของแสงมากที่สุด
ถ่ายทอดแสงเปล่งประกายของดวงอาทิตย์ที่กำลังตก
ช่วงเวลายามเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังคล้อยต่ำลงจะเกิดแสงสะท้อนเปล่งประกายวิบวับบนผิวน้ำและบนกระจกของอาคารให้เราเก็บภาพสวยๆ ได้อย่างง่ายดาย เส้นแสงรัศมีเกิดขึ้นจากแสงประกายที่สะท้อนจากผิวน้ำ ถ่ายทอดความระยิบระยับวับวาวของแสงยามเย็น ขณะที่ถ่ายภาพ ให้กล้องอยู่ใกล้กับพื้นและลดขนาดรูรับแสงลงเป็น f/22 เพื่อถ่ายภาพจากริมผิวน้ำ
จุดสำคัญ
ถ่ายแสงประกายที่สะท้อนอยู่เหนือผิวน้ำ
แสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ที่กำลังตกดินอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจนหากคุณไม่ขยับเข้ามาถ่ายใกล้ๆ ผิวน้ำ นอกจากนี้ ควรถ่ายในโหมด Live View เพื่อป้องกันดวงตาของคุณจากแสงแดด
ลดขนาดรูรับแสงลงเป็น f/22 เพื่อถ่ายทอดประกายรัศมีของแสงในภาพวิวยามค่ำคืน
f/22
f/4
เพื่อสร้างสรรค์ภาพรัศมีของแสงจากแสงสะท้อนในลักษณะนี้ ให้ลดขนาดรูรับแสงลงเป็น f/22 เพราะแสงจะไม่ปรากฏรูปร่างเป็นรัศมีให้เห็นที่ค่ารูรับแสง f/4 เนื่องจากความคมชัดของแสงสะท้อนขึ้นอยู่กับมุมการถ่ายภาพ ดังนั้น ให้คุณปรับมุมถ่ายภาพอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ได้มุมที่ดีที่สุดก่อนที่จะถ่าย
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง Studio9 อีกด้วย