คำแนะนำแบบทีละขั้นตอน: ทำอย่างไรเพื่อเบลอก้อนเมฆให้ได้ความรู้สึกเหนือจริงเมื่อถ่ายภาพอาคาร
เมื่อถ่ายภาพอาคาร ควรถ่ายให้ติดก้อนเมฆด้วยหากมีเมฆอยู่บนท้องฟ้า การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อเบลอก้อนเมฆจะช่วยขับเน้นความเคลื่อนไหวของก้อนเมฆให้ปรากฏในภาพของคุณ ในบทความต่อไปนี้ ผมจะอธิบายขั้นตอนอย่างละเอียดสำหรับการถ่ายภาพดังกล่าว ตั้งแต่การวางองค์ประกอบไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย (เรื่องโดย: Teppei Kohno)
ขั้นตอนที่ 1: ยืนอยู่ในทิศทางของแสงและถ่ายทั้งตัวอาคารและตัวแบบที่อยู่ในฉากหลัง
เมื่อถ่ายภาพอาคารในวันที่มีแสงแดด คุณสามารถใช้ประโยชน์จากแสงทางตรงเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดของทั้งตัวแบบและฉากหลัง เมื่อลองถ่ายครั้งแรก ผมพยายามจัดองค์ประกอบโดยให้มีทั้งหอคอยและโดม แต่กลับมีองค์ประกอบที่ไม่ต้องการ เช่น ผู้คน เข้ามาอยู่ในภาพด้วย เนื่องจากผมยืนอยู่ห่างจากตัวแบบพอสมควร ครั้งที่สองผมจึงเปลี่ยนมาถ่ายในแนวตั้งและยกกล้องขึ้นเล็กน้อยเพื่อถ่ายภาพมุมต่ำ
ขั้นตอนที่ 2: จัดวางองค์ประกอบและเบลอการเคลื่อนไหวของก้อนเมฆด้วยการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
ในภาพนี้ ผมเลือกตำแหน่งที่สามารถมองเห็นทั้งโดมและหอคอยได้จากมุมเดียวกัน และลองสร้างเอฟเฟ็กต์เบลอตรงก้อนเมฆด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ อย่างไรก็ตาม การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำในเวลากลางวันทำให้ท้องฟ้าดูสว่างจ้าเกินไป
การตั้งค่าที่ผมใช้คือ: ISO 100 ค่ารูรับแสง: f/22 ความเร็วชัตเตอร์: 10 วินาที
ขั้นตอนที่ 3: ใช้ฟิลเตอร์ ND เพื่อเบลอก้อนเมฆโดยใช้การเปิดรับแสงที่เหมาะสม
ผมใช้ฟิลเตอร์ ND (ND400) เพื่อลดปริมาณแสงในภาพนี้ การตั้งค่าที่ผมใช้คือ ISO 100 ค่ารูรับแสง: f/20 ความเร็วชัตเตอร์: 60 วินาที ทำให้ผมสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ที่งดงามให้กับการเคลื่อนไหวของก้อนเมฆได้
ขั้นตอนที่ 4: ปรับสมดุลแสงขาวเพื่อเน้นทั้งตัวอาคารและก้อนเมฆ
โหมด Bulb (f/22, 60 วินาที)/ FL: 20 มม. /ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ WB (อุณหภูมิสี): 6000K/ ฟิลเตอร์ ND: ND400 อุปกรณ์เสริมที่ใช้: ขาตั้งกล้อง รีโมท
และขั้นสุดท้าย ผมลดระดับการเปิดรับแสงลงเล็กน้อยและปรับโทนสีเหลืองขึ้นเพื่อเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกให้กับตัวอาคารและก้อนเมฆ คุณสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะกับความเร็วของก้อนเมฆที่กำลังเคลื่อนไหว
เปลี่ยนการเคลื่อนไหวของก้อนเมฆให้กลายเป็นจุดเด่นต่อสายตา
ในการถ่ายภาพอาคาร คุณสามารถเปลี่ยนวิธีแสดงตัวแบบได้โดยการปรับเปลี่ยน เช่น เปลี่ยนตำแหน่งของคุณ ในขณะเดียวกัน การรวมเอาองค์ประกอบอื่นเข้ามาอยู่ในภาพก็จะช่วยให้คุณขยายขอบเขตการแสดงออกทางภาพถ่ายของคุณได้กว้างขึ้น วิธีที่นิยมคือการหันความสนใจของผู้ชมไปที่ก้อนเมฆบนท้องฟ้า
ซึ่งทำได้โดยเริ่มจากจัดองค์ประกอบภาพด้วยขาตั้งกล้อง จากนั้นถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดคือมากกว่า 30 วินาที การสร้างเอฟเฟ็กต์เบลอที่ก้อนเมฆจะช่วยเพิ่มความรู้สึกเหนือจริงให้แก่ตัวอาคาร นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ฟิลเตอร์ ND เพื่อถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำตามที่คุณต้องการได้ด้วย
สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาอีกข้อหนึ่งคือสัดส่วนของท้องฟ้า คุณสามารถสร้างความรู้สึกโล่งกว้างในภาพได้โดยการใช้มุมต่ำเพื่อให้ได้องค์ประกอบของท้องฟ้าในสัดส่วนที่ใหญ่
Teppei Kohno
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย
http://fantastic-teppy.chips.jp