f/2.8: เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการจับภาพสีหน้า
ใบหน้าของคนเรามีลักษณะเป็น 3 มิติ เมื่อถ่ายภาพพอร์ตเทรตแบบโคลสอัพจากมุมเฉียง หากใช้รูรับแสงที่กว้างเกินไป ส่วนสำคัญต่างๆ ของใบหน้าอาจอยู่นอกระยะชัดตื้น ซึ่งทำให้เห็นสีหน้าได้ไม่ชัดเจน มาเรียนรู้กันว่าทำไมช่างภาพมากมายจึงแนะนำให้ใช้ค่า f/2.8 เป็นพื้นฐานในสถานการณ์เช่นนี้ (เรื่องโดย Teppei Kohno)
จับตาดูโบเก้เมื่อคุณถ่ายภาพพอร์ตเทรตแบบโคลสอัพจากมุมเฉียง!
การถ่ายภาพพอร์ตเทรตโดยใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์เป็นเรื่องสนุกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีเลนส์ไวแสงซึ่งมีรูรับแสงกว้างมาก (เช่น f/1.8 หรือกว้างกว่า) เป็นเรื่องน่าทึ่งมากที่การสร้างโบเก้ที่นุ่มนวลในส่วนแบ็คกราวด์ช่วยให้ตัวแบบของคุณโดดเด่นยิ่งขึ้นได้ แม้จะตัดกับแบ็คกราวด์ที่ดูยุ่งเหยิง
แต่ทราบหรือไม่ว่า ในการถ่ายภาพบางสถานการณ์ การใช้รูรับแสงกว้างสุดอาจลดความโดดเด่นของภาพถ่ายพอร์ตเทรตได้
ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณกำลังถ่ายภาพลำตัวหรือใบหน้าและตัวแบบของคุณหันหน้าเข้าหากล้องจากมุมเฉียง
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
รูรับแสงกว้างส่งผลต่อภาพถ่ายพอร์ตเทรตแบบโคลสอัพอย่างไร
ยิ่งใช้รูรับแสงกว้าง ระยะชัดจะยิ่งตื้นขึ้น
การจัดใบหน้าของตัวแบบให้ทำมุมเฉียงกับกล้องจะสร้างมิติความลึก ซึ่งหมายความว่า หากตั้งค่ารูรับแสงให้กว้างขึ้น จะมีส่วนต่างๆ ของใบหน้ามากขึ้นที่อยู่นอกระยะชัดตื้นและหลุดโฟกัส จึงอาจทำให้ยากที่จะมองเห็นสีหน้าของตัวแบบได้ชัดเจน
คุณจะต้องใช้รูรับแสงที่:
- แคบพอที่จะทำให้รูปหน้าส่วนใหญ่ของตัวแบบอยู่ในโฟกัสอย่างชัดเจน
- กว้างพอที่จะสร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เด่นชัดในส่วนแบ็คกราวด์
ในสถานการณ์นี้ ค่าพื้นฐานที่ควรลองใช้คือ f/2.8 วิธีนี้จะทำให้พื้นที่ในโฟกัสครอบคลุมไปจนถึงจมูก ปาก และดวงตาที่อยู่ห่างออกไปจากกล้อง ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะจับภาพสีหน้าให้มีรายละเอียดที่คมชัดยิ่งขึ้น
ถ่ายที่ค่า f/2.8
FL: 85 มม./ f/2.8/ 1/25 วินาที/ ISO 400
ดวงตา จมูก และปากอยู่ในโฟกัสที่เหมาะสม เห็นสีหน้าได้ค่อนข้างชัดเจน
ถ่ายที่ค่า f/1.2
FL: 85 มม./ f/1.2/ 1/125 วินาที/ ISO 400
ภาพนี้ดูคมชัดน้อยกว่า ซึ่งเห็นได้ชัดเป็นพิเศษที่ดวงตาข้างที่อยู่ด้านหลังและริมฝีปาก ทำให้สีหน้าดูแตกต่างไป
เก็บรายละเอียดดียิ่งขึ้น: การใช้ f/2.8 ให้ได้ผลดี
ฉาก 1: หากภาพถ่ายของคุณออกมาขาวโพลน…
ในสถานที่ที่มีแสงดี เช่น กลางแจ้งที่มีแสงแดดจัด ค่า f/2.8 อาจทำให้แสงเข้าสู่เลนส์มากเกินไป จนทำให้ภาพสว่างโพลน ลองถ่ายภาพในที่ที่มีร่มเงามากขึ้น หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น หากคุณจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลงเพื่อถ่ายภาพเชิงสร้างสรรค์ คุณอาจต้องติดฟิลเตอร์ ND เข้ากับเลนส์เพื่อจำกัดปริมาณแสงที่เข้ามาในเลนส์
หากต้องการยกระดับการถ่ายภาพให้ดียิ่งขึ้น ลองใช้แฟลชเสริมและเทคนิคซิงค์ความเร็วสูง เรียนรู้วิธีได้ใน:
ทำอย่างไรจึงจะถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่มีโบเก้ในส่วนแบ็คกราวด์ในสภาวะย้อนแสง
ฉาก 2: หากคุณต้องการโบเก้ที่เด่นชัดขึ้น…
หลังจากดูภาพแล้ว หากคุณคิดว่าอยากให้โบเก้เด่นชัดขึ้น ลองถ่ายภาพด้วยค่า f ที่น้อยลง เช่น f/2.5 หรือ f/2 ก็ได้ ค่า f ระดับนี้จะลดพื้นที่โฟกัสของภาพ (กล่าวคือ ให้ระยะชัดที่ตื้นขึ้น) อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนี้ก็มีความเสี่ยงตรงที่ส่วนที่อยู่นอกโฟกัสแค่เพียงนิดเดียวก็อาจกลายเป็นอยู่นอกโฟกัสทั้งหมด ควรจับถือกล้องให้มั่นคง ปรับความเร็วชัตเตอร์และ/หรือความไวแสง ISO ตามที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพสว่างเกินไป
เทคนิคพิเศษ: โฟกัสดวงตาที่อยู่บริเวณด้านหน้า
เมื่อตัวแบบของคุณหันหน้าเข้าหากล้องจากมุมเฉียง อย่าลืมโฟกัสดวงตาที่อยู่ด้านหน้า เนื่องจากจะทำให้ถ่ายภาพสีหน้าของตัวแบบออกมาได้สวย แม้ว่าดวงตาข้างที่อยู่ด้านหลังจะเบลอเล็กน้อย
เคล็ดลับ: หากกล้องของคุณมี Eye Detection AF อย่าลืมเปิดใช้งานด้วย คุณสมบัตินี้จะตรวจจับและโฟกัสดวงตาที่อยู่ใกล้กับกล้องมากกว่าโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้คุณถ่ายภาพได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
โฟกัสที่ดวงตาด้านหน้า
FL: 50 มม./ f/1.8/ 1/125 วินาที/ ISO 250
ภาพถ่ายโดยรวมอยู่ในโฟกัสและดูมีชีวิตชีวา แม้แบ็คกราวด์จะเบลอเล็กน้อย
โฟกัสที่ดวงตาด้านหลัง
FL: 50 มม./ f/1.8/ 1/125 วินาที/ ISO 250
ความเบลอในบริเวณด้านหน้าเห็นเด่นชัด และทำให้ภาพโดยรวมดูนุ่มนวล
---
หากคุณไม่แน่ใจว่าควรเปลี่ยนการตั้งค่ารูรับแสงอย่างไร คลิกที่นี่เพื่อดูคำแนะนำทีละขั้นตอน
---
f/2.8 เป็นหนึ่งในการตั้งค่ารูรับแสงสามแบบที่ช่างภาพพอร์ตเทรตนิยมใช้ อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งค่าอีกสองแบบได้ใน:
การถ่ายภาพพอร์ตเทรต: การตั้งค่ารูรับแสง 3 รูปแบบที่ช่างภาพมืออาชีพชื่นชอบ
หากกำลังจะไปเที่ยว หรือออกไปถ่ายภาพใครสักคนตลอดวัน คุณสามารถลองทำตาม 5 ไอเดียเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่แค่มีเลนส์คิทก็ทำได้แล้ว!
5 เทคนิคการถ่ายภาพพอร์ตเทรตสำหรับทั้งตอนกลางวันและกลางคืน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย