[เทคนิคการใช้ไฟ 2 ดวง] วิธีง่ายๆ ในการจัดแสงให้วัตถุที่โค้งมนและสะท้อนแสง
พลาสติกที่เงาวับและวัตถุสะท้อนแสงอื่นๆ อาจเป็นความท้าทายในการถ่ายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณพยายามควบคุมวิธีการรับแสงของวัตถุเหล่านั้น อ่านต่อเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับวิธีการจัดแสงให้วัตถุโดยใช้แฟลชนอกตัวกล้อง (บทช่วยสอนและภาพโดย: Chee Boon Pin)
EOS R/ EF50mm f/1.2L USM ที่ f/4, 1/60 วินาที, ISO 100
แฟลช: 2 x Speedlite EL-1 (นอกตัวกล้อง) ที่ 1/64
1) ประเมินตัวแบบ
2) การจัดแสง
3) ขั้นตอน (ขั้นที่ 1-3)
4) รู้จักกับอุปกรณ์ของคุณ
ก่อนการถ่ายภาพ: ประเมินตัวแบบ
ตัวแบบต่างๆ มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันซึ่งจะส่งผลต่อวิธีการถ่ายภาพของคุณ ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมพิจารณา:
- ผิวของตัวแบบโปร่งใส โปร่งแสง ด้าน หรือสะท้อนแสงได้เช่นเดียวกับกระจกหรือไม่
- รูปทรงของตัวแบบเป็นอย่างไร แบน กลม เว้า หรือนูน
- คุณต้องการใช้มุมแบบใด หรือต้องการเน้นส่วน/รายละเอียดใดของตัวแบบ
- ขนาดของตัวแบบเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่คุณใช้ในการถ่ายภาพ
- คุณต้องการใช้แบ็คกราวด์แบบใดสำหรับตัวแบบ
นี่คือตัวแบบของเราในบทความนี้ ซึ่งถ่ายด้วยแฟลชจากด้านหน้าโดยตรง
ตัวแบบมีพื้นผิวที่เป็นเงาและโค้งมน พื้นผิวเช่นนี้ยากต่อการถ่ายภาพเนื่องจากสะท้อนสิ่งที่อยู่โดยรอบได้ง่ายและยังทำให้แสงหักเหอีกด้วย ซึ่งอันที่จริง คุณจะเห็นว่าการใช้แฟลชติดกล้องโดยตรงไม่ทำให้ตัวแบบดูดีเท่าใดนัก เนื่องจากแฟลชถูกสะท้อนให้เห็นเป็นจุดแสงอย่างชัดเจนบนตัวแบบ
การจัดแสง
สิ่งที่คุณต้องใช้
แฟลชนอกตัวกล้อง 2 ดวง (หรือแฟลช 1 ดวง, ไฟ LED 1 ดวง)
A: ไฟสำหรับแบ็คกราวด์
B: ไฟสำคัญ (ไฟหลัก)
C: ตัวส่งสัญญาณแฟลช Speedlite ST-E3-RT เพื่อให้คุณสามารถยิงแฟลชนอกตัวกล้องได้
(หรือ: แฟลชที่รองรับฟังก์ชันตัวส่งสัญญาณ*)
D: แบ็คกราวด์สีขาว
E: ผ้ากระจายแสงสำหรับกระจายแสงด้านบน ในตำแหน่งเหนือตัวแบบโดยตรง
- อาจใช้ผ้าสีขาวล้วนแทนได้ ผ้านี้จะช่วยให้แสงกระจายออกไปได้กว้างขึ้น และยังช่วยป้องกันไม่ให้รายละเอียดบนเพดานสะท้อนลงมาบนตัวแบบ
*ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟังก์ชันตัวส่ง/รับสัญญาณได้ที่ “รู้จักกับอุปกรณ์ของคุณ”
ขั้นตอนที่ 1: จัดแสงสำหรับแบ็คกราวด์
หลังติดตั้งผ้ากระจายแสงเหนือตัวแบบเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่ผมเตรียมคือจัดไฟสำหรับแบ็คกราวด์ ไฟดวงนี้ควรส่องไปที่แบ็คกราวด์ด้านหลังตัวแบบ
เนื่องจากรูปร่างของตัวแบบ (กลม/โค้งมน) จึงสะท้อนแสง/พื้นที่ที่อยู่โดยรอบได้ง่าย แสงจากแบ็คกราวด์จะ “ล้น” ลงไปบนตัวแบบ ทำให้กลายเป็นแสงตรงส่วนขอบ ผมรู้สึกว่าแสงเช่นนี้ช่วยเสริมให้ตัวแบบดูดีขึ้นเนื่องจากทำให้มีปริมาตร
ขั้นตอนที่ 2: เพิ่มไฟหลัก
ขั้นต่อไป ผมเพิ่มไฟด้านบนซึ่งทำหน้าที่เป็นไฟดวงหลัก ผ้ากระจายแสงทำให้แสงจากไฟหลักนุ่มนวลขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมไม่ได้ใช้อุปกรณ์ปรับแสงใดๆ กับแฟลชเปล่า เงาใต้ตัวแบบมีขอบที่นุ่มนวลและไม่เกิดเป็นเงาที่สะดุดตาจนเกินไป
ผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย:
เอฟเฟ็กต์นี้เกิดขึ้นได้ด้วยแฟลชทั้งสองดวงที่ค่าประมาณ 1/64 ของแฟลช Speedlite EL-1
ปรับมุมรับแสง
พยายามทำความเข้าใจว่าแสงตกกระทบลงบนตัวแบบและสะท้อนเข้ามายังกล้องของคุณในจุดใดหรืออย่างไร หากคุณต้องการให้แสงจากไฟหลักนุ่มนวลขึ้น ให้เลื่อนไฟออกมาจากเงาสะท้อน หรือคุณอาจลองใช้วิธีการสะท้อนแสงแฟลชจากเพดาน หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงสะท้อนได้ ให้เรียนรู้วิธีการใช้แสงสะท้อนเพื่อช่วยในการขับเน้นรูปร่างของตัวแบบ
หรือ: หากคุณมีแฟลชนอกตัวกล้องเพียงดวงเดียวและอีกดวงหนึ่งเป็นไฟแบบต่อเนื่อง…
ให้ใช้แฟลชเป็นไฟดวงหลัก และใช้ไฟต่อเนื่องเป็นไฟสำหรับแบ็คกราวด์ เนื่องจากไฟหลักของคุณจำเป็นต้องมีกำลังมากกว่า และช่วยให้สามารถปรับหัวแฟลชได้ตามต้องการ หากแหล่งกำเนิดแสงจากไฟต่อเนื่องไม่สว่างพอ ให้ใช้ชัตเตอร์ความเร็วต่ำเพื่อให้แบ็คกราวด์สว่างขึ้น
ขั้นตอนที่ 3: ปิดไฟที่อยู่โดยรอบ
ไฟที่อยู่รอบๆ อาจทำให้เกิดเงาสะท้อนหรือแสงที่มีสี/อุณหภูมิแตกต่างกันซึ่งคุณไม่ต้องการบนตัวแบบหรือแบ็คกราวด์ เมื่อคุณจัดแสงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ปิดไฟทุกดวงในห้อง หรือให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งรวมถึงแสงจากหน้าต่างด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องปิดผ้าม่านด้วย!
หากไม่สามารถลดแสงโดยรอบลงได้เท่าที่ต้องการ คุณอาจเพิ่มความมืดได้โดยการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์
เคล็ดลับ:
1. ใช้ไฟส่องแบบช่วย
แฟลช Speedlite ของ Canon มีไฟส่องแบบที่ช่วยให้คุณมองเห็นตัวแบบและเข้าใจเอฟเฟ็กต์หรือทิศทางของแสงบนตัวแบบหรือแบ็คกราวด์ ใช้ฟังก์ชันนี้เพื่อช่วยในการถ่ายภาพ!
เกร็ดน่ารู้: สำหรับแฟลชระดับสูงอย่าง Speedlite EL-1 คุณสามารถปรับได้แม้กระทั่งอุณหภูมิสีและความเข้มของแสงไฟส่องแบบ
2. หากคุณใช้แฟลช Speedlite บนฐานเสียบแฟลชเป็นตัวส่งสัญญาณ อย่าลืมปิดการยิงแฟลชของตัวส่งสัญญาณ
โดยค่าเริ่มต้น การยิงแฟลชของตัวส่งสัญญาณมักจะเปิดอยู่และตัวส่งสัญญาณจะยิงแฟลชในกลุ่ม A แต่ในที่นี้ เราไม่ต้องการให้แฟลช Speedlite บนฐานเสียบยิงแฟลช จึงต้องตั้งค่าการยิงแฟลชของตัวส่งสัญญาณไว้ที่ “ปิด” โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในคู่มือการใช้งานแฟลช Speedlite ของคุณ
อุปกรณ์ที่ใช้: รู้จักกับอุปกรณ์ของคุณ
ต้องใช้อุปกรณ์ใดบ้างในการยิงแฟลชนอกตัวกล้อง
นอกจากแฟลช Speedlite ที่คุณต้องการให้ยิงแฟลชนอกตัวกล้องแล้ว (เรียกว่าตัวรับสัญญาณหรือแฟลชสเลฟ) คุณยังต้องใช้แฟลชที่เป็นตัวส่งสัญญาณด้วย (เรียกอีกอย่างว่าแฟลชสั่งงานหรือแฟลชมาสเตอร์/แฟลชควบคุม) แฟลชส่งสัญญาณคือแฟลชหรือตัวส่งสัญญาณที่ติดอยู่บนตัวกล้องซึ่งสามารถสั่งให้แฟลชนอกตัวกล้องยิงแฟลชได้
ตัวส่งสัญญาณแฟลช Speedlite ST-E3-RT มีแผงหน้าจอ LCD ที่ช่วยให้คุณสามารถกำหนดค่าและควบคุมแฟลชนอกตัวกล้องได้จากระยะไกล ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกเมื่อแฟลชรับสัญญาณไม่อยู่ในระยะใกล้ เช่นเดียวกับไฟดวงหลักที่ใช้ในการถ่ายภาพครั้งนี้
โหมดการส่งสัญญาณแบบไร้สาย: วิทยุและแบบออพติคอล
มีสองวิธีหลักๆ ที่แฟลชรับส่งสัญญาณของ Canon ใช้ในการสื่อสารแบบไร้สาย นั่นคือการส่งสัญญาณแบบออพติคอลและสัญญาณวิทยุ
การส่งสัญญาณแบบออพติคอล คือวิธีการส่งสัญญาณไร้สายแบบดั้งเดิม วิธีนี้จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อในแนวสายตาระหว่างตัวส่งและตัวรับ ซึ่งหมายความว่าเซนเซอร์แบบออพติคอลของแฟลชจำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากัน และสิ่งกีดขวาง (รวมถึงแหล่งกำเนิดแสงที่สว่างจ้า) อาจส่งผลต่อการสื่อสารได้
การส่งสัญญาณวิทยุ เป็นวิธีการสื่อสารที่ใหม่กว่าและน่าเชื่อถือกว่า เนื่องจากทำให้ตัวส่งและตัวรับสามารถสื่อสารกันได้แม้จะไม่มีแนวสายตา และยังให้ช่วงการสื่อสารที่กว้างกว่าด้วย (ประมาณ 30 ม.) เมื่อเทียบกับการส่งสัญญาณแบบออพติคอล
ฟังก์ชันที่แฟลช Speedlite รุ่นใหม่รองรับ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
คู่มือผู้ซื้อฉบับย่อ: Speedlite 600EX II-RT
คู่มือผู้ซื้อฉบับย่อ: Speedlite 430EX III-RT
การตั้งค่าใดที่ควรระมัดระวังขณะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อยิงแฟลชแบบไร้สาย
- ช่องและ ID ของวิทยุไร้สาย
ช่องและ ID ของวิทยุไร้สายช่วยให้คุณแน่ใจว่าช่างภาพสองคนที่ยิงแฟลชในสถานที่เดียวกันจะไม่ยิงแฟลชใส่อุปกรณ์ของช่างภาพอีกคนโดยไม่ได้ตั้งใจ ตรวจดูให้แน่ใจว่าตัวรับและส่งสัญญาณของคุณถูกตั้งค่าไว้ที่ช่องเดียวกันและใช้ ID ตรงกัน หากไม่เป็นเช่นนั้น อุปกรณ์จะไม่สามารถสื่อสารกันได้
- ดูให้แน่ใจว่าไฟ LINK เป็นสีเขียว
ไฟนี้เป็นตัวแสดงว่าตัวรับส่งสัญญาณของคุณกำลังสื่อสารกันอยู่ หากไฟเป็นสีแดง อาจเป็นเพราะช่อง/ID ของวิทยุไร้สายไม่ถูกต้อง
- การตั้งค่าระดับสูงอื่นๆ: ปรับการควบคุมกลุ่มการยิงแฟลชและดูว่าผลเป็นอย่างไร
โปรเจกต์นี้ใช้การยิงแฟลชรับสัญญาณทั้งสองตัวด้วยโหมดและกำลังแฟลชเดียวกัน อย่างไรก็ตาม คุณสามารถแยกแฟลชรับและส่งสัญญาณให้อยู่คนละกลุ่มการยิงแฟลชโดยใช้โหมดและการตั้งค่ากำลังแสงที่แตกต่างกันได้ในโหมด “Gr” เมื่อคุณมีความคุ้นเคยกับการถ่ายภาพด้วยแฟลชนอกตัวกล้องมากขึ้นแล้ว คุณอาจอยากลองใช้การตั้งค่าเหล่านี้และดูว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร
อ่านบทช่วยสอนเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยแฟลชนอกตัวกล้องเพิ่มเติมได้ที่:
วิธีถ่ายภาพหยดฝนเพื่อสร้างสรรค์พอร์ตเทรตที่เหนือจริง
2 เทคนิคจัดแสงด้วยไฟดวงเดียวง่ายๆ สำหรับภาพพอร์ตเทรตงานแต่งงานกลางวัน/กลางคืนที่สวยงาม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแฟลช Speedlite และพื้นฐานการถ่ายภาพโดยใช้แฟลชได้ที่:
เริ่มถ่ายภาพโดยใช้แฟลชได้ใน 9 ขั้นตอน!
3 คุณสมบัติของแฟลช Speedlite ที่คุณอาจไม่ทราบ
การวัดแสงแฟลช E-TTL II คืออะไร
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
Boon Pin เริ่มถ่ายภาพเป็นครั้งแรกเพื่อบันทึกงานอดิเรกและการท่องเที่ยวของเขา เขามักออกเดินทางอยู่เสมอเพื่อสร้างสรรค์ภาพถ่ายให้ดียิ่งขึ้น เขาต้องการถ่ายภาพที่สามารถสื่อถึงความรู้สึกและพลังในช่วงเวลานั้นให้ผู้ชมรับรู้ผ่านภาพถ่ายของเขาได้ นอกจากจะถ่ายภาพตัวแบบด้านการท่องเที่ยวให้กับนิตยสารบนเที่ยวบินแล้ว เขายังถ่ายภาพในการแข่งขันกีฬาและงานอีเวนต์ทางวัฒนธรรมด้วย ซึ่งพลังและความตื่นเต้นที่สามารถส่งต่อถึงกันคือสิ่งที่เขาหลงใหล นอกเวลางาน เขาช่วยจัดทำเนื้อหาให้กับทีมปั่นจักรยานในท้องถิ่นและถ่ายภาพในการแข่งขันเมื่อมีเวลาว่าง เขาบันทึกการผจญภัยในการถ่ายภาพ/ปั่นจักรยานของเขาภายใต้โปรเจกต์ “Be Ride Back” และในปัจจุบัน เขากำลังรอให้สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่ต่างประเทศได้อีกครั้งเพื่อออกผจญภัยในต่างแดนต่อไป
เว็บไซต์: http://www.cheebp.com/
Instagram: http://www.instagram.com/cheebp/