แฟลชภายนอก (หรือที่รู้จักกันในชื่อแฟลชเสริม /แฟลช Hot-shoe) เป็นอุปกรณ์เสริมยอดนิยมสำหรับผู้ใช้กล้องที่ต้องการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพถ่ายได้หลากหลายยิ่งขึ้น การทำความเข้าใจแฟลช Speedlite มากขึ้นจะช่วยให้คุณใช้ประโยชน์จากแฟลชได้อย่างเต็มที่ ในบทความนี้ เราจะเจาะลึกหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญของแฟลช Speedlite นั่นคือ E-TTL II หรือที่เรียกกันว่าแฟลชอัตโนมัติ E-TTL (Evaluative Through-The-Lens) (เรื่องโดย Yasuhiko Kani)
การวัดแสงแฟลช E-TTL: ฟังก์ชั่นที่ทำหน้าที่วัดกำลังแสงแฟลช ซึ่งจำเป็นสำหรับการเปิดรับแสงที่เหมาะสม
ในบทความ เริ่มถ่ายภาพโดยใช้แฟลชได้ใน 9 ขั้นตอน เราได้เรียนรู้ว่ามีแฟลชสองโหมดที่คุณสามารถใช้งานได้นั่นคือ โหมด E-TTL (Evaluative Through-The-Lens) หรือโหมดแฟลชกำหนดเอง
โหมด E-TTL หรือที่เรียกกันว่าแฟลชอัตโนมัติ E-TTL เป็นโหมดที่กล้องใช้ข้อมูลที่ได้รับผ่านเลนส์ ("TTL") ในการคำนวณหาปริมาณแสงที่แฟลชต้องปล่อยออกมา เพื่อให้ได้ความสว่างที่เหมาะสม จากนั้น กล้องจะตั้งค่ากำลังแสงแฟลชให้สอดคล้องกันโดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบนี้เรียกว่าระบบการวัดแสงแฟลช
ผู้ผลิตกล้องต่างใช้ระบบการวัดแสงแฟลช TTL ในรุ่นที่แตกต่างกันไป E-TTL ใช้กับกล้อง EOS ของ Canon โดยเฉพาะ กล้อง EOS ของ Canon รุ่นใหม่ๆ ทุกรุ่นจะใช้ E-TTL II
การทำงานของระบบการวัดแสงแฟลช E-TTL II
คำอธิบายพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อถ่ายภาพในโหมด E-TTL:
1. เมื่อลั่นชัตเตอร์ พรีแฟลชจะยิงออกไปก่อนถ่ายภาพจริง
2. แสงจากพรีแฟลชนี้สะท้อนจากตัวแบบผ่านเข้าไปในเลนส์ (TTL: Through The Lens) และไปถึงตัววัดแสงในตัวกล้อง
3. ตัววัดแสงในตัวกล้องประเมินปริมาณแสง และใช้ปริมาณแสงกำหนดกำลังแสงแฟลช
4. กล้องยิงแฟลชโดยใช้กำลังแสงแฟลชเท่ากับที่กำหนดไว้ในข้อ 3
แม้ขั้นตอนพื้นฐานจะเป็นไปตามที่อธิบายข้างต้น แต่ในความเป็นจริง E-TTL II ยังใช้ข้อมูลอื่นๆ เช่น ระยะห่างระหว่างเลนส์กับตัวแบบ เพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำขึ้น วิธีนี้มีอัตราความสำเร็จที่สูงมาก เราจึงอยากแนะนำให้ผู้เริ่มต้นถ่ายภาพโดยใช้แฟลชเริ่มต้นด้วยโหมด E-TTL
ผลการทำงานของ E-TTL
เพื่อให้เข้าใจผลการทำงานของระบบการวัดแสงแฟลช E-TTL II เราลองมาดูตัวอย่างการถ่ายภาพในโหมด E-TTL ทั้งสามตัวอย่างนี้กัน
ภาพตัวอย่างนี้ถ่ายโดยใช้การตั้งค่าแบบเดียวกัน (f/4, 1/60 วินาที, ISO 800) แต่ได้รับแสงจากทิศทางของแสงที่แตกต่างกัน เรากำหนดแบ็คกราวด์ให้เป็นสีเทา 18% เพื่อลดความเสี่ยงที่กล้องจะ "ถูกหลอก" โดยแบ็คกราวด์ที่มืดมากหรือสว่างมาก (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุได้ใน พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #4: การชดเชยแสง)
ตัวอย่างที่ 1
แฟลชโดยตรงในตัวกล้อง
เงามืดที่เด่นชัดจะทอดไปทางด้านหลังตัวแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพบเห็นบ่อยในภาพที่ถ่ายโดยใช้แฟลชโดยตรงในตัวกล้อง
ตัวอย่างที่ 2
แฟลชโดยอ้อมจากการยิงแฟลชสะท้อนเพดาน
การยิงแฟลชสะท้อนช่วยกระจายแสงและทำให้แสงนุ่มนวลขึ้น อีกทั้งเงาจะอ่อนลงและมีความเปรียบต่างน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตัวอย่างที่ 1 ภาพทั้งภาพจึงได้รับแสงอย่างทั่วถึงและดูเป็นธรรมชาติ
ตัวอย่างที่ 3
แฟลชโดยตรงนอกตัวกล้อง (แสงด้านข้าง)
เงาจะมีลักษณะคล้ายกับตัวอย่างที่ 1 คือ มืด เด่นชัด และมีความเปรียบต่างสูง แสงด้านข้างทำให้เกิดเงาในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งจะทำให้เงาดูชัดเจนยิ่งขึ้น
ข้อมูลการถ่ายภาพ (ทั้ง 3 ภาพ): EOS 7D/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 65 มม. (เทียบเท่า 104 มม.)/ Program AE (f/4, 1/60 วินาที)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
สังเกตว่า แม้มุมการให้แสงต่างๆ ทำให้ได้เงาที่มีรูปแบบแตกต่างกันในภาพทั้งสามภาพ แต่ก็ยังคงรักษาความสว่างให้อยู่ในระดับเดียวกันได้ทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเช่นกันเมื่อคุณนำฮิสโตแกรมของภาพทั้งหมดมาเปรียบเทียบกัน
ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบการวัดแสงแฟลชอัตโนมัติ E-TTL II สามารถกำหนดกำลังแสงแฟลชที่เหมาะสมสำหรับฉากแต่ละฉากได้ แม้ว่าจะมีการปรับทิศทางแฟลชในมุมต่างๆ กัน
เคล็ดลับการใช้งาน
1. การเปลี่ยนจุด AF ที่ใช้งานอยู่และโหมดวัดแสงจะเปลี่ยนความสว่างของภาพถ่าย
E-TTL II ใช้ข้อมูลระยะห่างระหว่างเลนส์กับตัวแบบเพื่อประเมินกำลังแสงแฟลชที่เหมาะสม โดย E-TTL II จะระบุตัวแบบด้วยการใช้จุด AF
ในขณะเดียวกัน ดังที่เราเรียนรู้ในบทความ พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #7: การวัดแสง โหมดวัดแสงยังส่งผลต่อวิธีที่กล้องวัดความสว่างของฉาก (จึงส่งผลต่อการปรับกำลังแสงแฟลชให้เหมาะกับฉากเช่นกัน)
ดังนั้น ในการถ่ายฉากเดียวกันโดยใช้จุด AF ที่แตกต่างกัน วิธีโฟกัสอัตโนมัติหรือโหมดวัดแสงจะทำให้ความสว่างของภาพถ่ายแตกต่างกัน
2. ใช้ล็อค FE เพื่อรักษากำลังแสงแฟลชเดิมไว้
เมื่อคุณเปลี่ยนองค์ประกอบของภาพถ่าย เช่น เปลี่ยนการวางแนวกล้อง จะทำให้กล้องประเมินความสว่างของฉากแตกต่างกันไป ระดับแสงแฟลชจึงเปลี่ยนไปเช่นกัน
หากคุณต้องการใช้ระดับแสงแฟลชเท่าเดิม แต่เปลี่ยนองค์ประกอบภาพ ขอแนะนำให้ใช้ล็อคระดับแสงแฟลช (FE)
ล็อค FE ทำงานโดยจดจำระดับแสงที่พรีแฟลชของ E-TTL II วัดค่าไว้ จากนั้นจึง "ล็อค" ค่าการวัดแสงนั้นในชั่วระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้คุณสามารถถ่ายภาพโดยใช้กำลังแสงแฟลชเท่าเดิมได้ แม้จะเปลี่ยนองค์ประกอบภาพไปก็ตาม
การล็อคค่าที่วัดได้นี้ยังเหมาะสำหรับพื้นที่เล็กๆ ด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ:
1. หลังจากวัดแสงแฟลชแล้ว พยายามอย่าขยับกล้องให้ห่างจากตำแหน่งเดิมมากจนเกินไป เพราะหากระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวแบบเปลี่ยนไป กำลังแสงแฟลชที่ล็อคไว้อาจไม่เหมาะอีกต่อไป
2. คุณสามารถกำหนดให้ปุ่มอื่นๆ ทำการล็อค FE ได้
หลังจากจับโฟกัสที่ตัวแบบและกดปุ่มล็อค FE แล้ว กล้องจะยิงพรีแฟลช และกำลังแสงแฟลชจะถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำ
หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแฟลช Speedlite คุณอาจต้องการอ่านบทความต่อไปนี้
การเลือกแฟลชเสริม (1): กำลังแสงแฟลช
การเลือกแฟลชเสริม (2): แฟลชสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง
เลือกแฟลช Canon Speedlite อย่างไร
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1970 และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิฮอนที่ซึ่ง Kani ได้เรียนกับช่างภาพ Shin Yamagishi ก่อนเริ่มต้นทำงานอิสระ ปัจจุบันเขาถ่ายภาพพอร์ตเทรตเป็นหลัก และยังมีส่วนร่วมในงานอื่นๆ อีกมากมายในนิตยสาร อัลบั้มภาพถ่าย ปกซีดี โฆษณา และภาพยนตร์