การตั้งค่ากล้องเพื่อจับภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในการถ่ายภาพทิวทัศน์
หากคุณมีองค์ประกอบที่กำลังเคลื่อนไหวและ/หรือไม่สามารถคาดคะเนการเคลื่อนไหวได้อยู่ในองค์ประกอบภาพของคุณมากขึ้นดังเช่นในกรณีศึกษานี้ ซึ่งรวมถึงรุ้งกินน้ำที่ปรากฏขึ้นชั่วขณะ นกที่กำลังโผบิน และทะเลที่มีคลื่น คุณอาจเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับช่วงเวลาในการลั่นชัตเตอร์มากขึ้นกว่าที่เคย เคล็ดลับการตั้งค่ากล้องเหล่านี้จะช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลกับองค์ประกอบอื่น และจดจ่ออยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพ! (เรื่องโดย Minefuyu Yamashita)
EOS 5D Mark II/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 20 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/160 วินาที, EV+0.7) / ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ผมบังเอิญพบรุ้งกินน้ำนี้ที่ชายฝั่งทะเลโอกินาวา ผมต้องการถ่ายภาพนกที่กำลังโผบินบนท้องฟ้าผืนเดียวกันนี้ในชั่วขณะที่นกกำลังสยายปีกอย่างสวยงาม
รุ้งกินน้ำ นก และคลื่น: การประเมินฉาก
ภาพนี้ถ่ายในช่วงฤดูร้อนเมื่อเวลา 4 โมงเย็นโดยประมาณที่ชายหาดแห่งหนึ่งบนเกาะโอกินาวา หลังจากที่ฝนตกลงมาอย่างกะทันหัน ในเวลาไม่นานรุ้งกินน้ำก็ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า
ก่อนหน้านี้ผมสังเกตเห็นแล้วว่านกนางนวลมักบินโฉบไปมาบนท้องฟ้าเหนือท้องทะเล ตอนนี้ผมจึงจินตนาการถึงภาพภาพหนึ่งที่มีนกนางนวลบินสูงขึ้นไปในท้องฟ้าที่ประดับด้วยรุ้งกินน้ำโดยมีท้องทะเลอยู่เบื้องล่าง
แต่ความท้าทายในการถ่ายภาพดังกล่าวอยู่ที่ช่วงเวลาในการลั่นชัตเตอร์เป็นหลักด้วยเหตุผลสองข้อด้วยกันคือ 1. รุ้งกินน้ำอาจหายไปได้ตลอดเวลา และ 2. ในภาพมีองค์ประกอบที่กำลังเคลื่อนไหวสองอย่าง คือ นก และคลื่น ดังนั้น ผมจึงต้องเก็บภาพองค์ประกอบทั้งสองให้ได้ในจังหวะที่เหมาะสม สถานการณ์นี้ค่อนข้างคล้ายกับ บทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพเครื่องบินที่กำลังบินผ่านรุ้งกินน้ำ ก่อนหน้านี้ เว้นแต่ในครั้งนี้มีองค์ประกอบภาพที่ปรากฏขึ้นชั่วขณะหรือกำลังเคลื่อนไหวมากขึ้นกว่าเดิม
ต่อไปนี้คือการตั้งค่าทางยาวโฟกัส รูรับแสง และค่าชดเชยแสงที่ผมกำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อไปจะเหลือเพียงแค่การลั่นชัตเตอร์เท่านั้น
จุดที่ 1: ทางยาวโฟกัสที่ถ่ายทอดองค์ประกอบแวดล้อมได้อย่างสมดุล - 20 มม.
องค์ประกอบภาพที่ผมคาดหมายไว้คือภาพรุ้งกินน้ำที่มีขนาดไม่ใหญ่และไม่ใช่ภาพโคลสอัพ แต่ผมต้องการสื่ออารมณ์ขององค์ประกอบภาพเพียงอย่างเดียวในฉากทิวทัศน์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยรวมก้อนหินที่มีรูปร่างโดดเด่นแปลกตาและคลื่นที่กำลังซัดเข้าหาชายฝั่งเอาไว้ในภาพ ซึ่งจำเป็นต้องใช้มุมที่กว้างขึ้น ดังนั้น ผมจึงตั้งทางยาวโฟกัสไว้ที่ 20 มม. ทั้งนี้ ต้องระลึกว่าหากผมใช้มุมรับภาพที่กว้างเกินไป ก็จะยิ่งทำให้มองไม่เห็นรุ้งกินน้ำมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ผมยังต้องมั่นใจว่าได้รวมเอาท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลไว้ในภาพเพื่อขับเน้นความรู้สึกของนกที่กำลังโผบินอย่างอิสระและเงียบเชียบอีกด้วย (นี่คือเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพของ เส้นนำสายตา)
จุดที่ 2: การตั้งค่ารูรับแสงที่ช่วยถ่ายทอดรายละเอียดของรุ้งกินน้ำได้อย่างชัดเจน - f/8
ผมเลือกที่จะตั้งค่ารูรับแสงที่ค่อนข้าง "ลึก" ที่ค่า f/8 เพื่อถ่ายทอดรายละเอียดของรุ้งกินน้ำ ผมอยากใช้ค่ารูรับแสงที่แคบลง แต่นั่นก็อาจทำให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลงด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ภาพของนกและคลื่นในทะเลออกมาเบลอได้
เนื่องจากเลนส์มุมกว้างที่ผมใช้อยู่นั้นมีระยะชัดที่ค่อนข้างลึกอยู่แล้ว ผมจึงตัดสินใจว่าค่า f/8 นั้นเพียงพอ และหยุดความไวแสง ISO ไว้ที่ ISO 200
จุดที่ 3: การตั้งค่าชดเชยแสงที่ให้ความสำคัญกับฉากเป็นอันดับแรก - EV+0.7
เมื่ออยู่ในสถานที่ที่สว่าง เช่น ชายหาด ระบบการวัดแสงของกล้องจะตรวจหาการเปิดรับแสงที่ดีที่สุด ซึ่งบ่อยครั้งจะทำให้ภาพออกมาดูมืดกว่าที่คุณต้องการ เริ่มแรกผมใช้การชดเชยแสงที่ EV+0.3 เพื่อให้ได้ระดับความสว่างใกล้เคียงกับฉากจริงมากยิ่งขึ้น แต่ส่วนเงาในก้อนหินยังคงดูค่อนข้างมืดทึบ ผมจึงเพิ่มการชดเชยแสงเป็น EV+0.7
ค่านี้ทำให้สีสันของรุ้งกินน้ำดูอ่อนลงเล็กน้อย แต่ผมตัดสินใจแล้วว่าสีสันในระดับนี้สามารถยอมรับได้ เพราะผมเน้นที่การถ่ายทอดภาพริมทะเลโดยรวมที่มีความสวยสดงดงามเป็นอันดับแรก
เคล็ดลับ: เมื่อดวงอาทิตย์ลอยขึ้นสูงบนท้องฟ้า รุ้งกินน้ำจะอยู่ในระดับต่ำ
การที่คุณสามารถคาดเดาตำแหน่งของรุ้งกินน้ำได้จะช่วยในการจัดองค์ประกอบของภาพของคุณ เพียงแค่จินตนาการถึงเส้นตรงที่เชื่อมต่อคุณกับดวงอาทิตย์เท่านั้น เพราะโดยปกติรุ้งกินน้ำอาจปรากฏขึ้นห่างจากด้านล่างของเส้นดังกล่าวประมาณ 40 - 42 องศา
ผมถ่ายภาพในบทความนี้ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้น รุ้งกินน้ำจึงปรากฏขึ้นในตำแหน่งที่ต่ำกว่า หากดวงอาทิตย์คล้อยต่ำลง รุ้งกินน้ำอาจปรากฏในตำแหน่งที่สูงขึ้น
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
EF16-35mm f/2.8L II USM
เกิดที่จังหวัดไอชิในปี 1979 หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในงานด้านต่างๆ เช่น การออกแบบภายในและกราฟิกดีไซน์แล้ว Yamashita ได้ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในปี 2011 ผลงานของเขาได้ถูกนำไปพิมพ์ในปฏิทินมากมาย
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation