การตัดสินใจในการเกลี่ยสี: ดอกไม้สีน้ำเงินในทุ่งหญ้าสีเขียวชุ่มฉ่ำที่เต็มไปด้วยโบเก้
การเกลี่ยสีเป็นวิธีหนึ่งในการปรับแต่งภาพให้สวยงามเพื่อสะท้อนถึงอารมณ์และบรรยากาศที่คุณต้องการถ่ายทอดออกมาได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน วิธีนี้อาจต้องใช้การลองผิดลองถูกหลายครั้งก่อนจะได้ผลลัพธ์อย่างที่คุณต้องการ แต่คุณใช้เวลาน้อยลงได้โดยการเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ว่าคุณควรทำสิ่งใด! Yukie Wago จะพาเราไปดูวิธีการแต่ละขั้นตอนที่เธอใช้ในการเกลี่ยสีภาพมาโครเทเลโฟโต้อันน่าทึ่งของดอกไม้ที่มีโบเก้อันนุ่มนวลซึ่งถูกจัดวางไว้อย่างตั้งใจในแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์ ภาพทุกภาพอาจแตกต่างกันไป แต่การได้เรียนรู้เกี่ยวกับรายละเอียดที่เธอให้ความสนใจนั้นน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง! (เรื่องโดย: Yukie Wago, Digital Camera Magazine)
EOS 6D/ EF300mm f/2.8L USM/ FL: 300 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/800 วินาที, EV -0.7)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
พืช: เกรปไฮยาซินธ์
ระหว่างการถ่ายภาพ: ถ่ายภาพให้ปรับแต่งง่ายขึ้น
ระหว่างการถ่ายภาพ: ถ่ายภาพให้ปรับแต่งง่ายขึ้น
อาจมีบางครั้งที่เราถ่ายภาพก่อนและคิดถึงการปรับแต่งในภายหลัง แต่หากคุณถ่ายภาพด้วยแนวคิดกว้างๆ สักเล็กน้อยว่าต้องการให้ภาพสุดท้ายที่ได้มีลักษณะเป็นอย่างไร การทำงานของคุณจะง่ายขึ้นและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ดูอีกตัวอย่างของวิธีนี้ได้ที่บทความ: การจัดแสงธรรมชาติ: ภาพดอกไม้แบบมาโครเทเลโฟโต้ในแสงยามเย็น)
ภาพนี้เป็นภาพของดอกเกรปไฮยาซินธ์ซึ่งบานในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ภาพสุดท้ายที่ฉันจินตนาการไว้จะ...
- เน้นที่สีน้ำเงินของดอกไม้
- มีโบเก้ชุ่มฉ่ำที่เห็นได้ชัดเจน
และแน่นอนว่าฉันจะใส่เอกลักษณ์ของตัวเองลงไปด้วย ซึ่งก็คือการล้อมรอบตัวแบบหลักด้วยโบเก้งดงามชวนฝันที่ถ่ายด้วยรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์เทเลโฟโต้ ซึ่งในภาพนี้คือเลนส์ EF300mmf/2.8L USM
ภาพก่อนการปรับแต่ง
3 สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญขณะถ่ายภาพ
A: ทำให้โบเก้เด่นชัดที่สุดในทุกองค์ประกอบของแบ็คกราวด์ยกเว้นตัวแบบหลัก
วิธีนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ได้ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของฉันเท่านั้น แต่โบเก้ที่สวยงามและนุ่มนวลยังช่วยให้รอยต่อระหว่างสีดูกลมกลืนด้วย
B: หลีกเลี่ยงแสงสว่างโพลน
แสงสว่างโพลนไม่ช่วยในการเกลี่ยสีมากนัก และจะเป็นจุดสว่างจ้าที่แตกต่างจากส่วนอื่นของภาพ
C: ทำให้โทนสีดูสม่ำเสมอขึ้นโดยการจำกัดสีในเฟรมภาพ
หากต้องการให้สีหนึ่งโดดเด่น คุณจะต้องทำให้ทุกสีในเฟรมภาพดูเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้กลมกลืนไปกับสีที่คุณเลือก วิธีนี้จะทำได้ง่ายขึ้นถ้ามีสีน้อยๆ ยิ่งมีจำนวนสีมากเท่าใดในเฟรม ยิ่งมีโอกาสที่บางสิ่งในภาพจะดูแปลกในขณะปรับแต่ง
ในตัวอย่างด้านบน ฉันปรับสีในภาพเพื่อให้เป็นโทนสีเดียวกันทั้งหมด วิธีนี้จะทำได้ง่ายขึ้นถ้ามีสีน้อยๆ
ในขั้นตอนถัดไป ฉันจะอธิบายวิธีการที่ใช้ในการเกลี่ยสีภาพ ฉันปรับแต่งภาพใน Adobe Lightroom แต่คุณสามารถใช้เครื่องมือที่คล้ายกันในซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพอื่นๆ ได้เช่นกัน
ขั้นตอนที่ 1: ลบความเพี้ยนของสีเหลืองออกไป
ขั้นตอนที่ 1: ปรับโทนสีโดยการลบความเพี้ยนของสีเหลืองออกไป
ก่อน
โทนสีเหลืองจางๆ ทำให้ภาพดูหม่นหมอง
หลัง
หลังปรับแต่งแล้ว ภาพจะมีเพียง 2 โทนสีคือเขียวและน้ำเงิน
i) อุณหภูมิสี: เย็นลง
เพื่อลดความเพี้ยนของสีเหลืองและทำให้ทั้งภาพดูเป็นสีน้ำเงินมากขึ้น ฉันจึงปรับอุณหภูมิสีให้เย็นลง
ii) การปรับเทียบ: ลดเฉดสีของแม่สีน้ำเงินลง
ในการสร้างภาพถ่ายแบบดิจิตอล สีสันต่างๆ จะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการผสมผสานกันระหว่างสีแดง เขียว และน้ำเงินภายในแต่ละพิกเซล เครื่องมือปรับเทียบจะทำงานในระดับพื้นฐานนี้โดยปรับการผสมสีสันเหล่านั้น
ในเมนูนี้ที่ช่อง “แม่สีน้ำเงิน” ฉันเลื่อนแถบเฉดสีไปทางซ้าย ซึ่งจะเป็นการลดสีม่วงในภาพและเพิ่มสีน้ำเงินให้มากขึ้น
สิ่งสำคัญ: อย่าเลื่อนแถบปรับเทียบมากจนเกินไป!
ในขั้นตอนนี้ เราต้องการแน่ใจว่าทุกสีในภาพจะเป็นโทนสีน้ำเงินเท่านั้น การปรับค่าเล็กน้อยเพื่อลบความเพี้ยนของสีเหลืองออกไปน่าจะเพียงพอแล้ว หากปรับมากเกินจะส่งผลต่อขั้นตอนถัดไป
หลังปรับแต่งในขั้นตอนที่ 1 พื้นที่ส่วนที่มีความเพี้ยนของสีเหลืองจะดูเป็นสีน้ำเงินมากขึ้น ซึ่งนับว่าดูดีกว่าเดิมแล้ว แต่ยังไม่ใช่สีที่ฉันต้องการ!
ขั้นตอนที่ 2: ปรับ HSL โดยปรับสีเขียวและน้ำเงินให้มีเฉดตามที่ต้องการ
i) การปรับเฉดสี
ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญที่สุดแต่ทำได้ยากในการเกลี่ยสีคือการปรับสีให้ได้เฉดตามที่ต้องการ หากคุณปรับมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีอย่างกะทันหันได้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของภาพ
อันดับแรก ฉันเพิ่มระดับเฉดสีเขียวเพื่อให้สีเขียวของใบไม้ดูเป็นสีน้ำเงินมากขึ้น ถัดมา เพื่อให้สีน้ำเงินดูเด่นชัดมากขึ้น ฉันจึงเพิ่มระดับของเฉดสีเขียวน้ำทะเลและสีน้ำเงินด้วย
การปรับแต่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ความเพี้ยนของสีเหลืองที่ยังเหลืออยู่หายไปจนหมดเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มโทนสีน้ำเงินให้สีเขียวด้วย ภาพจึงมีลักษณะโดยรวมที่คมชัดและชุ่มฉ่ำดังที่ฉันต้องการ
ก่อน
หลัง
เคล็ดลับระดับมือโปร: ทำแค่ไหนถึงเรียกว่ามากเกินไป หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนสีอย่างกะทันหัน
ขณะปรับเฉดสี คุณควรระวังพื้นที่ในส่วนที่มีสองสีหรือมากกว่า หากคุณปรับค่ามากเกินไป จะเกิดการเปลี่ยนสีอย่างกะทันหัน ซึ่งทำให้สีที่ไม่ได้มีอยู่เดิมปรากฏขึ้น คุณควรปรับค่าทีละน้อยอย่างช้าๆ และหมั่นตรวจสอบว่าเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ต้องการหรือไม่
ก่อนการปรับแต่ง
สีเขียวในภาพนี้ดูมัวเล็กน้อย
เมื่อปรับแต่งอย่างเหมาะสม
การเพิ่มโทนสีน้ำเงินให้สีเขียวเล็กน้อยทำให้ภาพดูคมชัดขึ้น รอยต่อบางส่วนเปลี่ยนเป็นสีเทาเล็กน้อย แต่เห็นได้ไม่ชัดเจนนักและเราจะแก้ไขในขั้นตอนที่ 3
ปรับมากเกินไป (สีเปลี่ยนกะทันหัน)
การเพิ่มระดับของเฉดสีน้ำเงินจนเกินจุดหนึ่งจะทำให้เกิดเส้นขอบสีเทาที่ชัดเจนมากในรอยต่อบางส่วน
พอดี
มากเกินไป
โบเก้ในแบ็คกราวด์ของทั้งสองภาพดูเหมือนออกมาจากภาพสีน้ำ แต่ภาพทางขวามือดูมีความกลมกลืนน้อยกว่าเนื่องจากมีการเปลี่ยนสีอย่างกะทันหัน
ii) การปรับค่าความอิ่มตัว
ก่อนการปรับค่าความอิ่มตัว
หลังปรับให้ทุกสีในภาพมีโทนสีน้ำเงินแล้ว ภาพโดยรวมจึงดูดีขึ้นมาก แต่ตัวแบบหลักของฉันยังคงมัวอยู่เล็กน้อย ปัญหานี้สามารถแก้ได้โดยการเพิ่มระดับความอิ่มตัวของสีน้ำเงินซึ่งช่วยขับเน้นสีสันของดอกเกรปไฮยาซินธ์สีน้ำเงิน
ก่อน
หลัง
เคล็ดลับ: อย่าเพิ่มระดับความอิ่มตัวให้สูงเกินไปจนสูญเสียโทนต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในเฉดสีน้ำเงิน
iii) การปรับค่าความสว่าง
การปรับโทนสีให้สมดุลและทำให้กลมกลืนกันมากขึ้นจะส่งผลต่อความสว่างด้วย ซึ่งทำให้ตัวแบบหลักดูมืดลงได้เช่นเดียวกับค่าความอิ่มตัว ดังนั้น ฉันจึงเพิ่มระดับความสว่างให้สีน้ำเงินด้วย ซึ่งทำให้ภาพโดยรวมดูมีมิติมากขึ้นและทำให้แสงดูคมชัดขึ้น
ก่อน
การเพิ่มความอิ่มตัวทำให้สีน้ำเงินเข้มขึ้น
หลัง
หลังเพิ่มระดับความสว่างให้สีน้ำเงิน สีน้ำเงินจึงดูสว่างและคมชัดขึ้น
เคล็ดลับ: การเพิ่มความสว่างที่มากเกินไปอาจทำให้ภาพบางส่วนมีแสงสว่างโพลน ดังนั้นจึงควรปรับอย่างระมัดระวัง
ขั้นตอนที่ 3: การเกลี่ยสีโดยเปลี่ยนสีเขียวในเงาให้กลายเป็นสีน้ำเงิน
หลังการปรับ HSL แล้ว ยังคงมีบางส่วนในภาพที่สีเขียวไม่กลมกลืนไปกับสีน้ำเงินเท่าใดนัก ดังนั้น ในหน้าจอการเกลี่ยสี ฉันจึงเพิ่มสีน้ำเงินลงไปในเงาและเพิ่มระดับความอิ่มตัว
ฉันสามารถเพิ่มสีน้ำเงินในส่วนที่เป็นไฮไลต์ด้วยก็ได้ แต่จะเป็นการทำลายความคมชัดที่ได้จากการปรับระดับความสว่างในขั้นตอนที่ 2 ดังนั้น ฉันจึงปล่อยทิ้งไว้และปรับเฉพาะในส่วนที่เป็นเงา
ก่อน
คุณจะมองเห็น “ขอบ” อยู่บ้างในส่วนที่สีเขียวผสมกับสีน้ำเงิน
หลัง
หลังจากเพิ่มสีน้ำเงินเข้าไปในส่วนเงาแล้ว รอยต่อจึงดูกลมกลืนมากขึ้น
สรุป
การเกลี่ยสีทำให้ภาพของคุณดูมีเสน่ห์ขึ้น และเมื่อคุณทราบวิธีการเกลี่ยสีแล้ว เครื่องมือต่างๆ ในซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพของคุณจะทำให้คุณสามารถควบคุมผลลัพธ์ที่ต้องการได้เป็นอย่างดี ภาพดอกไม้เป็นการถ่ายภาพที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเกลี่ยสี คุณน่าจะลองถ่ายภาพและปรับแต่งดู
หากต้องการไอเดียเกี่ยวกับวิธีการถ่ายภาพดอกไม้ให้ไม่เหมือนใคร หรือต้องการเคล็ดลับเกี่ยวกับฟังก์ชันกล้องที่เป็นประโยชน์ อ่านได้ที่:
การถ่ายภาพดอกไม้: เทคนิคและคุณสมบัติของกล้องที่เป็นประโยชน์
เทคนิคการถ่ายภาพมาโคร: ดอกไม้ในหยดน้ำ
เทคนิคการรังสรรค์ภาพถ่ายน่าตื่นตาของกลีบดอกไม้ที่ร่วงโปรยปราย
[เทคนิคการใช้แฟลช] วิธีการถ่ายภาพให้ได้สีสันน่าประทับใจในสภาพย้อนแสง
หากต้องการดูบทเรียนจาก Yukie Wago เพิ่มเติมเกี่ยวกับสไตล์การถ่ายภาพธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ อ่านบทความได้ที่
ศิลปะเบื้องหลังภาพ: ภาพดอกไม้แบบมาโครที่ดูราวกับความฝัน
ฉันถ่ายภาพอย่างไรให้เฉียบ: นกสีเขียวตัวน้อยท่ามกลางโบเก้สีชมพูสวยงาม
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Yukie Wago อาศัยอยู่ที่เมืองฟุกุโอกะ จังหวัดฟุกุโอกะ เธอเริ่มถ่ายภาพโดยใช้กล้องฟิล์มและกล้องของเล่น เส้นทางการถ่ายภาพดอกไม้และสิ่งมีชีวิตของเธอเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอมีกล้อง DSLR ตัวแรก นับแต่นั้น เธอก็กลายเป็นที่รู้จักว่ามีสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นการถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้พร้อมทั้งผสมผสานการใช้แสงและวงโบเก้อย่างตั้งใจ จึงเกิดเป็นภาพถ่ายที่ดูราวกับฉากจากเทพนิยายหรือภาพยนตร์แฟนตาซี
Instagram: @yukie_wago