เทคนิคการรังสรรค์ภาพถ่ายน่าตื่นตาของกลีบดอกไม้ที่ร่วงโปรยปราย
กลีบดอกไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นไม้เป็นหนึ่งในฉากที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีซึ่งอาจทำให้ได้ภาพถ่ายเหนือกาลเวลา ต่อไปนี้คือวิธีที่คุณสามารถถ่ายภาพเช่นนี้ให้ดูสวยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะถ่ายตัดกับแบ็คกราวด์มืดหรือในสภาพย้อนแสง (เรื่องโดย: Jiro Tateno, Takashi Karaki, Digital Camera Magazine)
ฉากที่ 1: โบเก้เทเลโฟโต้ตัดกับแบ็คกราวด์มืด
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 400 มม./ Manual exposure (f/9, 1/400 วินาที)/ ISO 160
ภาพโดย: Takashi Karaki
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้
ดอกไม้ดูสวยงามเมื่อเบ่งบานเต็มที่ แต่จะยิ่งน่าประทับใจขึ้นไปอีกยามพลิ้วไหวไปตามสายลมขณะที่ร่วงหล่นจากต้น ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ภาพหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์แห่งฤดูใบไม้ผลิอย่างชัดเจนคือภาพ “ฮานะฟูบุกิ” หมายถึงกลีบซากุระที่ร่วงหล่นราวหิมะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการถ่ายทอดออกมาในภาพ
เทคนิคที่ 1: มองหาแบ็คกราวด์มืดๆ เพื่อขับเน้นให้กลีบดอกไม้ดูเด่น
เวลาถ่ายภาพ เรามักให้ความสนใจกับตัวแบบเท่านั้น ทว่าแบ็คกราวด์ก็สำคัญมากไม่แพ้กัน กลีบซากุระสีอ่อนจางที่ร่วงหล่นอาจมองไม่เห็นหากแบ็คกราวด์สว่างเกินไปดังเช่นในภาพถ่ายด้านล่าง
กลีบดอกไม้จะไม่โดดเด่นตัดกับแบ็คกราวด์สีอ่อน ควรเลือกสถานที่ที่มีแบ็คกราวด์มืดเพื่อสร้างความเปรียบต่างที่เพียงพอ
เทคนิคที่ 2: ใช้ทางยาวโฟกัสซูเปอร์เทเลโฟโต้เพื่อเปลี่ยนกลีบดอกไม้ที่ร่วงหล่นให้เป็นวงกลมโบเก้
ผมตัดสินใจเปลี่ยนกลีบซากุระให้เป็นวงกลมโบเก้เพื่อสร้างบรรยากาศชวนฝันและทำให้ซากุระที่ร่วงหล่นดูราวกับหิมะตก ซึ่งวิธีนี้ช่วยดึงความสนใจไปที่กลีบซากุระมากขึ้นด้วย ยิ่งทางยาวโฟกัสยาว ยิ่งเห็นโบเก้ได้ชัดขึ้น เมื่อพิจารณาความสมดุลกับองค์ประกอบอื่นๆ ในฉากแล้ว ผมรู้สึกว่าภาพที่ดีที่สุดถ่ายที่ระยะ 400 มม.
ถ่ายที่ระยะ 100 มม.
เมื่อใช้ทางยาวโฟกัสสั้น ภาพกลีบดอกที่ร่วงหล่นจะเล็กเกินไปและโบเก้ที่ได้จะดูไม่ชัดเจน
อย่าลืม: คุณกำลังเปลี่ยนดอกไม้ที่ร่วงหล่นให้เป็นโบเก้ในโฟร์กราวด์ที่เห็นได้ชัด อย่าลืมจับโฟกัสไปทางด้านหลังเพื่อทำให้บริเวณด้านหน้าอยู่นอกโฟกัส ในภาพนี้ ผมเลือกถ่ายถนนเส้นยาวที่มีต้นไม้สองข้างทาง และจับโฟกัสไปที่ต้นไม้ทางด้านหลัง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้โบเก้เทเลโฟโต้ได้ที่:
5 สิ่งที่ควรลองด้วยเลนส์เทเลโฟโต้
เรียนรู้วิธีสร้างเอฟเฟ็กต์ที่คล้ายกันด้วยการใช้แฟลชกับสายฝนที่โปรยปรายได้ที่
เทคนิคการใช้แฟลชติดกล้อง #6: วงกลมโบเก้ที่น่ามหัศจรรย์ในวันฝนตก
ขั้นตอนสุดท้าย: ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อตรึงกลีบดอกไม้ที่ร่วงหล่น
เมื่อคุณกำหนดจุดถ่ายภาพและจัดเฟรมแล้ว เพียงแค่ต้องรอให้ดอกไม้เริ่มร่วงลงมา ในการตรึงกลีบดอกไม้ขนาดเล็กอย่างซากุระให้อยู่กับที่ คุณต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์อย่างน้อย 1/400 วินาที (Jiro Tateno ลองใช้ความเร็วชัตเตอร์ในฉากที่ 2 ด้านล่าง)
หากคุณถ่ายภาพต้นซากุระในจังหวะเหมาะและโบเก้ดูสวยพอดี คุณจะได้ภาพกลีบดอกโปรยปรายราวหิมะในฤดูใบไม้ผลิที่ดูเหนือกาลเวลาและโรแมนติกไม่แพ้กัน
ฉากที่ 2: มุมกว้างในสภาพย้อนแสงและมีภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวเล็กน้อย
EOS 5D Mark IV/ EF24-70mm f/2.8L II USM/ FL: 27 มม./ Manual exposure (f/11, 1/160 วินาที)/ ISO 320/ WB: 4,900K
ภาพโดย: Jiro Tateno
ในฉากที่ 1 เราได้เรียนรู้ว่าปกติแล้วกลีบดอกไม้สีอ่อนจะดูไม่โดดเด่นเมื่อถ่ายตัดกับแบ็คกราวด์สีอ่อน อย่างไรก็ตาม หากสภาพแสงเหมาะสม คุณอาจมีความเปรียบต่างมากพอที่จะถ่ายภาพให้ออกมาดูสวยแม้จะตัดกับฉากหลังสีอ่อนก็ตาม
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้
กลีบซากุระที่ร่วงหล่นจากก้านด้วยแรงลมส่องประกายระยิบระยับท่ามกลางแสงย้อนจากพระอาทิตย์ในยามเย็น ซึ่งเปลี่ยนทิวทัศน์ธรรมดาๆ ให้เป็นฉากน่าตื่นตาตื่นใจ และเพื่อรักษาบรรยากาศที่น่าประทับใจนี้ไว้ ผมทดลองใช้ความเร็วชัตเตอร์ระดับต่างๆ เพื่อดูว่าระดับใดทำให้ดอกไม้ดูเด่นที่สุด
เทคนิค: การค้นหาความเร็วชัตเตอร์ที่ดีที่สุด
ความเร็วในการร่วงหล่นของกลีบดอกไม้ขึ้นอยู่กับแรงลม คุณจึงต้องคำนึงถึงข้อนี้และปรับค่าให้เหมาะสม
หากเร็วไป กลีบดอกไม้จะเล็กเกิน
ถ่ายที่ 1/125 วินาที
หากความเร็วชัตเตอร์สูงเกินไป กลีบดอกเล็กจิ๋วจะกลายเป็นจุด ซึ่งเล็กเกินกว่าที่จะดูโดดเด่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพถ่ายมุมกว้าง
หากความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป ก็จะดูไม่เหมือนกลีบดอกไม้
ถ่ายที่ 1/30 วินาที
หากความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป กลีบดอกจะดูเป็นเส้น ซึ่งไม่ใช่ภาพที่เราหวังไว้
ความเร็วพอเหมาะ: กลีบดอกไม้ดูใหญ่ขึ้นเล็กน้อย
ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมจะสร้างภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวที่พอเหมาะเพื่อทำให้กลีบดอกดูใหญ่ขึ้นเล็กน้อยและเห็นชัดขึ้น
สำหรับภาพถ่ายนี้ ผมได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่ 1/160 วินาที เนื่องจากผมลดค่ารูรับแสงเป็น f/11 เพื่อถ่ายแฉกแสงด้วย ผมจึงเปลี่ยนความไวแสง ISO เพื่อปรับการเปิดรับแสง
เคล็ดลับ: การขยับเข้าใกล้ต้นไม้ไม่เพียงแต่ช่วยให้กลีบดอกดูใหญ่ขึ้น แต่ยังช่วยเสริมเปอร์สเป็คทีฟมุมกว้างอัลตร้าไวด์ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ของภาพอีกด้วย
อ่านเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อทำให้ภาพทิวทัศน์ของคุณดูน่าประทับใจยิ่งขึ้นได้ที่
ภาพทิวทัศน์ดวงดาวอันน่าทึ่ง: การถ่ายภาพดอกซากุระและทางช้างเผือกยามค่ำคืนให้สวยสดงดงาม
ภาพทิวทัศน์ที่มีท้องฟ้าสไตล์มินิมัลลิสต์
ภาพทิวทัศน์ตระการตา: ซ้อนทับฟิลเตอร์ GND ด้วยฟิลเตอร์อีกชั้นหนึ่ง
2 เคล็ดลับการถ่ายภาพทิวทัศน์เพื่อพลิกโฉมภาพของคุณได้ทันที
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1975 ตั้งแต่ราวปี 1990 เขาสัมผัสธรรมชาติผ่านทางการตกปลา และเริ่มถ่ายภาพ เขาเดินทางถ่ายภาพไปทั่วประเทศในหัวข้อ "ความงดงามของธรรมชาติ” ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เขาเป็นผู้จัดส่งภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่ในนิตยสาร หนังสือ โปสเตอร์ ปฏิทิน และอื่นๆ อีกมากมาย เขาจัดงานนิทรรศการภาพถ่าย "Okinawa" ขึ้นในปี 2010 และจัดนิทรรศการภาพถ่าย "Northern Lights - Journey of Light/ Iceland" ในปี 2017
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918