ภาพทิวทัศน์ตระการตา: ซ้อนทับฟิลเตอร์ GND ด้วยฟิลเตอร์อีกชั้นหนึ่ง
ฟิลเตอร์เลนส์เป็นวิธีที่รวดเร็วในการแก้ไขความสว่าง เพิ่มเอฟเฟ็กต์ และทำให้ได้ภาพที่สวยงามในทันที เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคที่อยู่เบื้องหลังภาพทั้งสามด้านล่าง ซึ่งถ่ายโดยใช้ฟิลเตอร์ Graduated Neutral Density (GND) ร่วมกับฟิลเตอร์อีกชนิดหนึ่ง (เรื่องโดย: Munetaka Hiroshima, Yoshiki Fujiwara, Digital Camera Magazine)
1. ฟิลเตอร์ GND ขอบฟุ้งกับฟิลเตอร์ ND400
EOS-1D X/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/8, 32 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย: Munetaka Hiroshima
ฟิลเตอร์ที่ใช้
ฟิลเตอร์ ND8 GND ขอบฟุ้ง
ฟิลเตอร์ ND400
ฟิลเตอร์ทำหน้าที่อะไร
A: วางฟิลเตอร์ GND ให้ขอบที่เปลี่ยนสีคลุมส่วนที่เป็นเมฆ
B: ฟิลเตอร์ GND จะเกลี่ยระดับแสงให้สม่ำเสมอและคงสีน้ำเงินของท้องฟ้าเอาไว้
C: ฟิลเตอร์ ND400 ช่วยให้คุณสามารถเปิดรับแสงนาน 30 วินาทีซึ่งทำให้จับภาพการเคลื่อนไหวของเมฆได้
ทำให้ลำแสงจากพระอาทิตย์ที่กำลังขึ้นเหนือทะเลหมอกดูนุ่มนวลขึ้น
ผมรู้สึกราวต้องมนต์สะกดเมื่อได้เห็นทะเลหมอกกว้างใหญ่ในยามเช้าที่แผ่ขยายไปจนสุดขอบฟ้าที่แสนไกล จึงอยากจะหาวิธีถ่ายภาพให้เห็นว่าทะเลหมอกดูราวกับซัดเข้าหายอดเขาเช่นเดียวกับคลื่นในทะเลอย่างไร
ฟิลเตอร์ ND400 เพื่อการเปิดรับแสงนานและฟิลเตอร์ GND เพื่อเกลี่ยความสว่างให้สม่ำเสมอ
เนื่องจากทะเลหมอกเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ฟิลเตอร์ ND400 และการเปิดรับแสงนาน 30 วินาทีจึงเพียงพอสำหรับการจับภาพการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ฟิลเตอร์ ND400 เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้พระอาทิตย์ที่สว่างจ้าและท้องฟ้ารอบๆ ได้รับแสงมากเกินไป
เพื่อแก้ปัญหานี้ ผมจึงถือฟิลเตอร์ GND ไว้ด้านหน้าเลนส์เพื่อลดปริมาณแสงในส่วนที่มีแสงสว่างโพลน ซึ่งทำให้ผมสามารถถ่ายภาพที่มีความสว่างโดยรวมสม่ำเสมอได้ในทันที
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างภาพถ่ายแบบเปิดรับแสงนานด้วยฟิลเตอร์ ND ได้ที่:
การใช้ฟิลเตอร์เลนส์: 2 เทคนิคจากช่างภาพมืออาชีพ
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: เปิดรับแสง 300 วินาทีเพื่อถ่ายภาพท้องทะเลในมุมมองใหม่
เทคนิคการใช้ฟิลเตอร์: ปรับฟิลเตอร์ GND ด้วยมือของคุณเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
ในบางฉาก อาจมองเห็นขอบที่เปลี่ยนสีของฟิลเตอร์ GND ได้ชัดเจนมาก ถือฟิลเตอร์ด้วยมือของคุณและขยับขึ้นลงระหว่างการเปิดรับแสงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ การถือฟิลเตอร์ GND ด้วยมือยังช่วยให้คุณไม่ต้องซื้อกรอบยึดฟิลเตอร์ จึงประหยัดทั้งในด้านการลงทุนและอุปกรณ์ที่คุณต้องถือด้วย
เคล็ดลับ: หากคุณกังวลว่าจะมีรอยขีดข่วนบนเลนส์จากการเลื่อนฟิลเตอร์ GND ไปรอบๆ คุณสามารถใช้ผ้ากำมะหยี่ติดลงไปที่ขอบเลนส์แบบที่ผมทำก็ได้
2. ฟิลเตอร์ GND ขอบฟุ้ง + ฟิลเตอร์ลายทาง
EOS 6D/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/8, 2.5 วินาที)/ ISO 100/ WB: เมฆครึ้ม
ภาพโดย: Yoshiki Fujiwara
ฟิลเตอร์ที่ใช้
ฟิลเตอร์ ND8 GND ขอบฟุ้ง
ฟิลเตอร์ลายทางสำหรับสร้างหมอก
ฟิลเตอร์ทำหน้าที่อะไร
A: ฟิลเตอร์ลายทางสำหรับสร้างหมอกช่วย “เพิ่มหมอก” เข้าไปตรงกึ่งกลางภาพ
B: ฟิลเตอร์ GND ช่วยคงสีสันของท้องฟ้าเอาไว้
C: ฟิลเตอร์ GND ยังทำให้ดอกป๊อปปี้ที่อยู่ด้านหน้าดูสว่างขึ้นด้วย
ทุ่งดอกป๊อปปี้ที่ดูเหมือนภาพฝันด้านหน้าท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยหมอก
การใช้ฟิลเตอร์ลายทางสำหรับสร้างหมอกช่วยเพิ่มเอฟเฟ็กต์ที่ดูเหมือนความฝันให้ภาพทิวทัศน์ซึ่งถ่ายขณะพระอาทิตย์ขึ้นนี้
ในขั้นตอนแรก ผมวางฟิลเตอร์ GND ขอบฟุ้งไว้เหนือส่วนที่สว่างของท้องฟ้าเพื่อให้ความสว่างที่แตกต่างกันของท้องฟ้าและดอกป๊อปปี้ดูสม่ำเสมอมากขึ้น
จากนั้น ในขณะที่มองผ่านช่องมองภาพ ผมค่อยๆ วางฟิลเตอร์ลายทางสำหรับสร้างหมอกไว้เหนือส่วนของภาพที่ผมต้องการให้ดูเหมือนมีหมอกปกคลุม ตำแหน่งการวางเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากมีหมอกปกคลุมตัวแบบในโฟร์กราวด์ เปอร์สเปคทีฟจะดูไม่เป็นธรรมชาติ
ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นจะทำให้ส่วนที่เป็นสีขาวในฟิลเตอร์ดูหนาแน่นขึ้น กว้างขึ้น และชัดเจนขึ้น ผมจึงถ่ายภาพที่ระยะ 16 มม. โดยใช้เปอร์สเปคทีฟมุมกว้างเพื่อเพิ่มมิติความลึกในฉาก
เทคนิคการใช้ฟิลเตอร์: ฟิลเตอร์ลายทางสำหรับสร้างหมอกทำงานอย่างไร
ถ่ายโดยไม่ใช้ฟิลเตอร์ลายทาง
ฟิลเตอร์ลายทางสำหรับสร้างหมอกจะมีลายทางสีขาวโปร่งแสงตรงกลาง ซึ่งจะบดบังรายละเอียดตรงกึ่งกลางภาพเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่ดูคล้ายหมอก ฟิลเตอร์จะทำงานได้ดีที่สุดในสภาวะต่อไปนี้
- มีฉากค่อนข้างแบนราบ
- ไม่มีตัวแบบด้านหน้า
- เหมาะสำหรับการถ่ายด้วยมุมกว้าง
หากสภาวะการถ่ายภาพเป็นเช่นนี้ คุณจะได้ภาพราวกับความฝันที่สวยงามไม่เหมือนใคร
แต่สำหรับฉากที่มีหมอกจริงๆ ลองเรียนรู้เคล็ดลับและเทคนิคการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีหมอกได้ที่นี่:
การตั้งค่ากล้องสำหรับการถ่ายภาพแม่น้ำและลำธารในม่านหมอก
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพที่ทำให้หมอกสวยงามเตะตา
3. ฟิลเตอร์ ND ขอบฟุ้ง + ฟิลเตอร์สี
EOS 6D/ EF24-70mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/16, 4 วินาที)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
ภาพโดย: Yoshiki Fujiwara
ฟิลเตอร์ที่ใช้
ฟิลเตอร์ ND8 GND ขอบฟุ้ง
ฟิลเตอร์ GND สีน้ำเงิน
ฟิลเตอร์ทำหน้าที่อะไร
A: ฟิลเตอร์ GND สีน้ำเงินช่วยลดแสงสว่างโพลนในดวงอาทิตย์
B: ฟิลเตอร์ GND สีน้ำเงินทำให้ท้องฟ้าดูมีสีน้ำเงินเข้มขึ้น
C: ฟิลเตอร์ GND สีเทาช่วยลดความสว่างของชายหาด เพื่อให้แน่ใจว่ารายละเอียดจะไม่หายไปเนื่องจากได้รับแสงมากเกิน
ท้องฟ้าสีน้ำเงินที่ช่วยเพิ่มความน่าตื่นตาให้แก่แสงอาทิตย์ที่ส่องมาจากระหว่างหมู่เมฆ
ข้อดีข้อหนึ่งของฟิลเตอร์สี่เหลี่ยมจัตุรัสคือ คุณสามารถนำมาซ้อนกันเพื่อให้เอฟเฟ็กต์ซ้อนทับกันได้ ซึ่งจะทำให้ภาพของคุณมีความพิเศษมากยิ่งขึ้น ผมชอบฟิลเตอร์สีเพราะสามารถเพิ่มความสวยงามให้สีสันได้อย่างมีเอกลักษณ์
นี่คือวิธีที่ผมใช้ในการถ่ายภาพนี้
ขั้นตอนที่ 1: ให้ส่วนที่มืดของฟิลเตอร์ GND อยู่ด้านล่าง ซึ่งจะช่วยให้คุณใช้การเปิดรับแสงนานได้เพื่อให้คลื่นดูมีความนุ่มนวลและจับภาพการเคลื่อนไหวของคลื่น
ขั้นตอนที่ 2: วางฟิลเตอร์สีน้ำเงินซ้อนลงไปด้านบน จะทำให้เมฆดูหนาขึ้นและท้องฟ้าดูมีสีน้ำเงินเข้มขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกให้แสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาจากระหว่างหมู่เมฆ
เทคนิคการใช้ฟิลเตอร์: ควรทำอย่างไรหากในฉากไม่มีเส้นขอบฟ้าที่ได้ระดับพอดี
ภาพที่มีโทนสีซีเปีย
การใช้ฟิลเตอร์ที่มีสีแตกต่างออกไปจะเปลี่ยนบรรยากาศของภาพได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสีด้วย เพราะอาจจะเห็นส่วนที่มีการเปลี่ยนสีได้ชัดเจนหากขอบฟ้าในฉากไม่เป็นเส้นที่ได้ระดับพอดี ผมมักจะทำให้เส้นนั้นเบลอโดยการขยับฟิลเตอร์ขึ้นลงระหว่างเปิดรับแสงเพื่อให้เส้นในส่วนที่มีการเปลี่ยนสีเคลื่อนตัวขึ้นและลงด้านหน้าขอบฟ้าในฉาก (ดู เทคนิคการใช้ฟิลเตอร์ 1)
---
คุณสามารถสร้างสรรค์อะไรได้อีกบ้างเมื่อนำฟิลเตอร์มาซ้อนทับกัน แบ่งปันภาพถ่ายของคุณกับชุมชนของเราได้ที่ My Canon Story วันนี้!
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
แต่เดิม Fujiwara เคยเป็นนักสโนว์บอร์ดมืออาชีพ ต่อมาได้ผันตัวเข้าสู่อาชีพที่สองในฐานะช่างภาพหลังจากเลิกเล่นสโนว์บอร์ดเพราะอาการบาดเจ็บ เขามุ่งหาวิธีใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติเพื่อสร้างความรู้สึกโปร่งแสง และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาด้วยตนเองทำให้ภาพถ่ายของเขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน “10 ภาพที่แชร์กันอย่างแพร่หลายของ Tokyo Camera Club”
Munetaka เกิดที่ฮอกไกโด เขาได้รู้จักกับการถ่ายภาพเมื่อเริ่มถ่ายภาพยอดเขาหลังจากเข้าร่วมชมรมปีนเขาในช่วงมัธยมศึกษา นับจากนั้น เขาก็ทุ่มเทถ่ายภาพธรรมชาติที่สร้างแรงบันดาลใจ โดยส่วนมากเป็นภาพทิวทัศน์และท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว แต่เขาก็ถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก และภูมิประเทศด้วยเช่นกัน ภาพถ่ายใบหนึ่งของเขาได้รับรางวัลในสาขาภาพทิวทัศน์จากการประกวดภาพถ่าย Nature’s Best Photography Asia ปี 2016