เมื่อคุณมีหมอกในฉากทิวทัศน์ของคุณ คุณสามารถดึงความสนใจไปที่หมอกเพื่อทำให้ภาพดูลึกลับและเหนือจริงได้ ช่างภาพมืออาชีพจะเล่าให้เราฟังถึงเทคนิคการจัดองค์ประกอบที่ใช้ในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายนี้ (เรื่องโดย: Yoshio Shinkai)
EOS 5DS R/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 117 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/45 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
สถานที่ถ่ายภาพ: ทะเลสาบฟุกุชิมะ จังหวัดนีงะตะ ญี่ปุ่น
ทุ่งดอกเรพซีดที่ปกคลุมไปด้วยหมอก ภาพนี้ถ่ายตอนรุ่งสางหลังจากฝนตกในตอนกลางคืน
เคล็ดลับที่ 1: ใช้เลนส์เทเลโฟโต้เพื่อดึงเอาองค์ประกอบภาพที่น่าสนใจเข้ามา
เรามักเชื่อมโยงทิวทัศน์ธรรมชาติกับเลนส์มุมกว้างบ่อยครั้ง อันที่จริงเลนส์นี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเพิ่มระยะห่างให้ดูเกินจริงและทำให้ฉากดูกว้างใหญ่ แต่เมื่อผมลองถ่ายภาพด้านบนด้วยเลนส์มุมกว้าง บริเวณที่ปกคลุมด้วยหมอกกลับไม่สามารถดึงดูดความสนใจได้มากนัก
ภาพด้านบนนี้ถ่ายด้วยเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM หมอก "สวยเตะตา" มากขึ้น เนื่องจากเลนส์เทเลโฟโต้ มีเอฟเฟ็กต์การบีบภาพระยะไกลโดยธรรมชาติ จึงทำให้องค์ประกอบที่อยู่ไกลดูใกล้ผู้ชมมากขึ้น
EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM
เคล็ดลับขั้นสูง: จัดองค์ประกอบภาพอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ภาพดูแบน
เอฟเฟ็กต์การบีบภาพจะสร้างมิติความลึกในบางสถานการณ์เท่านั้น หากสภาวะการถ่ายไม่เหมาะสม เอฟเฟ็กต์นี้อาจทำให้ภาพทั้งภาพดูแบนยิ่งขึ้น ในภาพนี้ ผมต้องแน่ใจว่าองค์ประกอบที่ถ่ายทอดมุมมองแบบบรรยากาศ (Aerial perspective) เช่น ภูเขาและหมอกในระยะไกลกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในเฟรมภาพ เอฟเฟ็กต์การบีบภาพจะช่วยเพิ่มมุมมองนี้มากขึ้นโดยการทำให้ผู้ชมมองเห็นรายละเอียดของแบ็คกราวด์
*มุมมองแบบบรรยากาศ: เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Atmospheric perspective หมายถึงการที่สิ่งต่างๆ มีความอิ่มตัวของสีและความเปรียบต่างน้อยลง โดยที่แบ็คกราวด์ดูเหมือนอยู่ห่างจากเรามากขึ้น มุมมองเช่นนี้สามารถใช้เพื่อสร้างมิติความตื้นลึกได้
เคล็ดลับที่ 2: อย่าใช้เทเลโฟโต้มากเกินไป เลือกมุมรับภาพที่มีความสมดุลมากที่สุด
ในภาพนี้สิ่งสำคัญคือคุณต้องเลือกมุมรับภาพที่แน่ใจว่าองค์ประกอบต่อไปนี้มีความสมดุล ได้แก่
- พื้นที่ของเฟรมที่มีดอกเรพซีด
- ความรู้สึกกว้างไกลของดอกไม้ในส่วนโฟร์กราวด์
- น้ำหนักทางสายตาของชั้นหมอก
ทางยาวโฟกัสที่ยาวเกินไปจะทำให้ต้นไม้กินพื้นที่ในเฟรมภาพมากเกินไป และเมื่อทางยาวโฟกัสสั้นเกินไปจะทำให้ชั้นของหมอกดึงดูดความสนใจได้น้อยลง
ถ่ายที่ 182 มม. ทางยาวโฟกัสยาวเกินไป
เมื่อทางยาวโฟกัสยาวเกินไป แถวของต้นไม้จะดูใหญ่ขึ้นและกินน้ำหนักทางสายตามากขึ้น อีกทั้งยังดึงเราเข้าไปใกล้จนเห็นรายละเอียดที่ไม่น่ามอง เช่น วัชพืชและหญ้าแห้งได้ชัดเจนขึ้น
ถ่ายที่ 55 มม. ทางยาวโฟกัสสั้นเกินไป
แม้ว่าการใช้มุมกว้างจะสามารถถ่ายทอดความกว้างใหญ่ของทิวทัศน์ได้ แต่ภาพที่ได้ยังดูค่อนข้างธรรมดาและไม่สื่อถึงความรู้สึกเหนือจริงแบบเดิม ผมยังอยากให้ภาพของผมมีองค์ประกอบจากฝีมือมนุษย์ด้วย เช่น กระท่อมเล็กๆ ท่ามกลางต้นไม้
จุดสำคัญในรายละเอียด: ทำให้น้ำหนักทางสายตามีความเหมาะสม
1. ทำให้หมอกดูน่าสนใจมากขึ้น: เนื่องจากหมอกมีความเปรียบต่างน้อย ผมจึงวางหมอกไว้ตรงกลางเฟรมภาพเพื่อเพิ่มน้ำหนักทางสายตา
2. เก็บรายละเอียดในส่วนโฟร์กราวด์: เพื่อสร้างความน่าสนใจมากขึ้น ผมใช้รูรับแสงแคบ (f/16) เพื่อเก็บภาพดอกเรพซีดสีสันสดใสในทุ่งที่ส่วนโฟร์กราวด์ โดยให้เห็นรายละเอียดของน้ำค้างบนดอกไม้
โปรดดูบทความต่อไปนี้สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพทิวทัศน์:
การถ่ายภาพทิวทัศน์ในยามเช้าตรู่: ถ่ายภาพก่อนหรือหลังพระอาทิตย์ตกดินดี?
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ถ่ายยามเช้าหรือยามเย็นดีกว่ากัน
การตั้งค่ากล้องสำหรับการถ่ายภาพแม่น้ำและลำธารในม่านหมอก
อ่านบทเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์เทเลโฟโต้ได้ในบทความต่อไปนี้:
เทคนิคของเลนส์เทเลโฟโต้: การสร้างโบเก้ซ้อนกันหลายชั้น
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ - ภาพซิลูเอตต์ของสัตว์ป่าภายใต้แสงอาทิตย์
การถ่ายภาพต้นซากุระ: ควรถ่ายที่ระยะมุมกว้างหรือเทเลโฟโต้ดี
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Shinkai เกิดในจังหวัดนากาโน่ เมื่อปี 1953 เขาเริ่มต้นเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับกล้องขนาดใหญ่เพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ในปี 1979 ปัจจุบัน เขาถ่ายภาพให้กับสื่อหลากหลายประเภท ตั้งแต่โปสเตอร์และปฏิทินไปจนถึงแผ่นพับด้านการท่องเที่ยวและนิตยสารถ่ายภาพ